logo isranews

logo small 2

3 ค่ายมือถือ แถลงค้านกสทช. กำหนดเพดานอัตราค่าโทร

เขียนวันที่
วันจันทร์ ที่ 04 กรกฎาคม 2559 เวลา 22:50 น.
เขียนโดย
isranews
หมวดหมู่

ดีแทค ,เอไอเอส, ทรูมูฟ เอส ออกแถลงการณ์ในทิศทางเดียวกัน ค้าน กรณี กสทช.กำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ , 1800 MHz และ900 MHz หลังเปิดให้มีการประชุมหารือกลุ่มย่อยหรือ Focus  Group รับฟังความคิดเห็น พร้อมเสนอให้ กสทช.ทบทวนมติใหม่อีกครั้ง

dat04

จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดให้มีการประชุมหารือกลุ่มย่อยหรือ Focus  Group รับฟังความคิดเห็นเรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ โดยกำหนดอัตราค่าบริการประเภทเสียงต้องไม่เกิน 0.82 บาท/ต่อนาที อัตราค่าบริการประเภทข้อมูล(Data) ต้องไม่เกิน 0.28 บาท/MB SMS ต้องไม่เกิน 1.33 บาท/ข้อความ MMS ต้องไม่เกิน 3.32 บาท/ข้อความ และคลื่นความถี่ 1800 MHz และ900 MHz กำหนดอัตราค่าบริการประเภทเสียงต้องตำกว่า 0.69 บาท/ต่อนาที อัตราค่าบริการประเภทข้อมูล(Data) ต้องต่ำกว่า 0.26 บาท/MB SMS ต้องต่ำกว่า 1.15 บาท/ข้อความ MMS ต้องต่ำกว่า 3.11บาท/ข้อความ โดยอัตราค่าบริการนี้จะบังคับใช้ทั้งในโปรโมชั่นหลัก ค่าบริการส่วนเกินโปรโมชั่น รวมไปถึงโปรโมชั่นเสริม เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริง ในวันที่ 4 มิ.ย. 2559 ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรรายงานว่า 3 บริษัทผู้ประกอบการ ได้แก่ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค  บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิว-นิเคชั่น จำกัด ทรูมูฟ เอช ได้ออกแถลงการณ์ในช่วงที่มีการประชุมกลุ่มย่อย ของ กสทช. ในเรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่น 

โดย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เห็นว่าควรให้กลไกการแข่งขันเป็นตัวกำหนดความหลากหลายแพ็กเกจและอัตราที่เหมาะสม

“ การควบคุมอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามกฎเกณฑ์นี้จะเป็นการลดทอนการแข่งขันในการพัฒนาแพ็กเกจต่างๆ ออกสู่ตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่หลากหลาย จะส่งผลให้ความหลากหลายของแพ็กเกจหายไป และจะส่งผลกระทบต่อไปยังผู้ใช้บริการที่จะไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด เนื่องจากไม่มีแพ็กเกจที่เหมาะสมต่อความต้องการของตนเอง ดังนั้น ควรมีการกำหนดแพ็กเกจตามราคา กสทช. เป็นแพ็กเกจทางเลือก โดยยังคงให้กลไกการแข่งขันเป็นตัวกำหนดความหลากหลายแพ็กเกจและอัตราที่เหมาะสม”

ทางด้าน บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เห็นว่า  ธุรกิจโทรคมนาคมแข่งกันที่คุณภาพและบริการ และผู้บริโภคคือผู้กำหนดและตัดสินใจเรื่องราคาค่าบริการทุกอย่างสอดรับสมเหตุสมผล การแข่งขันที่แท้จริงเน้นคุณภาพและบริการ ดังนั้น จึงเสนอให้ กสทช. พิจารณาการกำกับดูแลอัตราค่าบริการในแนวทางเพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภค

“  ผู้บริโภคคือผู้พิจารณาและตัดสินใจที่จะเลือกใช้บริการในอัตราค่าบริการแบบใด เพราะขณะนี้ในการแข่งขันทางการตลาดของธุรกิจโทรคมนาคม  เน้นให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพและการบริการที่ดีที่สุด เน้นให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการอย่างต่อเนื่อง นั้นหมายความว่า บริษัทฯได้พัฒนาและออกแบบเครือข่ายที่รองรับการพฤติกรรมการใช้บริการของผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตลอดเวลา บริษัทฯ จึงต้องนำคลื่นความถี่ทุกคลื่นที่ได้รับอนุญาตมาผสมผสานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้บริการของผู้ใช้บริการ “

ส่วน บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิว-นิเคชั่น จำกัด ทรูมูฟ เอช เห็นว่า กสทช.ควรพิจารณาทบทวนมติเรื่องการควบคุมค่าบริการบนคลื่นความถี่ย่าน 900/1800/2100 MHz เพื่อปกป้องผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภค  

“ในปัจจุบันเนื่องจากลูกค้ามีพฤติกรรมการใช้งานที่หลากหลาย ผู้ประกอบการแต่ละรายจึงได้ออกแบบและนำเสนอแพ็กเกจที่มีหลายรูปแบบ รองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน โดยมุ่งเน้นให้ลูกค้าได้ประโยชน์สูงสุด ผู้บริโภคจึงมีสิทธิ์เลือกใช้แพ็กเกจ และโปรโมชั่นได้ตามการใช้งานของตนเองอย่างแท้จริง ทั้งยังมีทางเลือกที่ขยายไปใช้บริการของผู้ให้บริการรายอื่นตามที่ตนประสงค์ได้ นอกจากนี้ หากพิจารณาตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900/1800/2100 MHz ที่มีการกำหนดให้มีการลดอัตราค่าบริการลงจากเดิมนั้น ผู้ให้บริการทุกรายก็ได้ปรับลดราคาแพ็กเกจให้เป็นไปตามเงื่อนไขของใบอนุญาตอย่างเคร่งครัดแล้ว”

90004

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 4 ก.ค. 2559 กสทช. จัดให้มีการประชุม  Focus  Group รับฟังความคิดเห็นเรื่องแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ 1800 MHz และ900 MHz เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่แท้จริง โดยนายฐากร ตัณฑสิทธ์ เลขาธิการ กสทช. นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและจัดการโทรคมนาคม และตัวแทนจากผู้ประกอบการ 3 ค่ายใหญ่ AIS,DTAC ,TureMove H รวมถึงตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้าร่วมการประชุม 

นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและจัดการทรัพยากรโทรคมนาคม กล่าวถึงแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ 1800 MHz และ900 MHz ว่า แนวทางในการตรวจสอบอัตราค่าบริการเฉลี่ยเทียบกับอัตราอ้างอิงมีสามส่วนที่มีปัญหา คือในรายการส่งเสริมการขายที่อยู่ในโปรโมชั่น กับรายการส่งเสริมการขายนอกโปรโมชั่น และรายการส่งเสริมการขายประเภท on-top ซึ่งสามส่วนนี้จะกระทบกับอัตราค่าเฉลี่ยอ้างอิง ยกตัวอย่าง แนวทางการตรวจสอบระบบ Postpaid (การคิดค่าบริการเหมาจ่าย) รายการส่งเสริมการขายที่1 เป็นโปรโมชั่น 499 บาท/นาที รับสิทธิ์ 200 บาท/นาที และอินเทอร์เน็ต 2 GB ซึ่งผู้ใช้บริการรับทราบก่อนซื้อโปรโมชั่น แต่เงื่อนไขในการใช้งานจริงจะเกิดปัญหาที่ผ่านมา ผู้ใช้บริการไม่รู้เลยว่า Voice หรืออินเทอร์เน็ตที่ใช้ได้นั้นสามารถใช้ได้กี่บาท เมื่อเทียบกับนาที เลยเกิดปัญหาใช้งานไม่ตรงตามค่าบริการจริง จึงเป็นแนวทางที่จะต้องมาหารือร่วมกัน

ส่วนแนวทางการตรวจสอบ Prepaid (การคิดค่าบริการเป็นนาที) จะต้องมีการปรับลดโดยทันที ตามประกาศที่ต้องไม่เกิน 0.69 ดังนั้น จะเกิดการปรับโดยอัตโนมัติ และจะเกินไม่ได้ 

ขณะที่นายภัคพงศ์ พัฒนมาศ ตัวแทนจาก  True Move H กล่าวว่า ในทุกวันนี้ผู้ประกอบการมีการควบคุมอัตราค่าเฉลี่ยที่เป็นขั้นสูงขั้นต่ำอยู่แล้ว เพราะทุกเดือนผู้ประกอบการมีหน้าที่ที่ต้องส่งค่าบริการให้ กสทช. ซึ่งเป็นอัตราต่ำกว่าที่กำหนด ซึ่งทางผู้ประกอบการเอง มีคำถามโดยตลอดว่า อัตราค่าบริการแท้จริงแล้วคำนวณมาจากอะไร ถึงจะต้องมีการกำกับกัน ในขณะต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีการบังคับอัตราค่าบริการ เพราะมีความเชื่อว่ากฎเกณฑ์หรือกลไกในการแข่งขันจะนำมาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคถึงแม้ว่าโดยหลักการบริษัทอาจจะเห็นต่างในการบังคับใช้ แต่เราก็ยังดูแลเรื่องการควบคุมอัตราค่าเฉลี่ยทุกครั้งที่แจ้ง จึงอยากให้ กสทช. พิจารณาอีกครั้ง

ด้านนางสาวภัครส อินทร์เสาร์  ตัวแทนจาก AIS กล่าวว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคตามการใช้งานมีหลากหลาย แต่เมื่อ กสทช. มีการกำกับต่อหน่วยแต่ละอัตราค่าบริการ ซึ่งหมายถึงว่าแต่ละโปรโมชั่นต้องมี voice ไม่เกิน 0.69 ด้วยเหตุนี้ทำให้การเล่นราคาของผู้ประกอบการมีน้อยลง และส่งผลให้จำนวนโปรโมชั่นที่ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ลดน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้น เมื่อการเล่นราคาน้อยลง ทำให้ผู้ประกอบการในแต่ละรายออกโปรโมชั่นที่ไม่หลากหลายหรือแตกต่างได้มาก และบริษัทได้มีการออกโปรโมชั่นที่หลากหลายตรงตามพฤติกรรมการใช้ของลูกค้าแต่ละราย ดังนั้น ถ้ามีการกำกับแบบเดิมโดยให้มีทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่มีโปรโมชั่นหลากหลายจะเหมาะสมกว่า และลูกค้าสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นตามความต้องการของตัวเองได้ ไม่มีข้อจำกัด รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาดด้วย

ขณะที่นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ตัวแทนจาก DTAC กล่าวถึงการกำกับอัตราค่าบริการเป็นนาทีหรือวินาที เชื่อว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากที่ยังชอบการกำกับอัตราค่าบริการในปัจจุบันที่ผู้บริโภคมองว่ามีความเหมาะสม และเชื่อว่ามีผู้บริโภคอีกส่วนหนึ่ง ไม่น่าจะมากกว่าจำนวนแรกที่อยากได้เป็นวินาที โดยมีเหตุผลที่ว่า โทรไม่นานถ้าคิดเป็นวินาทีจะถูกกว่า แต่การคิดเป็นวินาทีต้องไปปรับอัตราใหม่ซึ่งสะท้อนต้นทุนเพราะคนส่วนใหญ่จะเสียประโยชน์ จึงอยากเสนอว่าควรให้มีทั้งสองแบบ ให้ผู้บริโภคเลือก และให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันเอง

สุดท้าย นายโสภณ หนูรัตน์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การที่ผู้ริโภคเลือกผู้ประกอบการหรือเลือกผู้ให้บริการมีความสัมพันธ์ในเรื่องของคลื่นความถี่ด้วย เพราะคลื่นที่ผู้บริการให้อยู่จะไปสัมพันธ์กับเรื่องอัตราอ้างอิงของ กสทช. ที่กำหนดขึ้นมา ดังนั้น กสทช. ต้องสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภค ทั้งเรื่องของผู้ให้บริการที่สัมพันธ์กับคลื่นความถี่และการคิดค่าบริการที่จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคสูงสุด ซึ่งในอนาคตอาจมีคลื่นความถี่อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ส่วนการตรวจสอบแพ็กเกจที่เป็นแอพพลิเคชั่น ผู้บริโภคในต่างจังหวัดหลายคนที่โทรศัพท์ไม่ได้รองรับระบบแบบนี้ ดังนั้น การตรวจสอบ อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ถ้า กสทช. และผู้ประกอบการช่วยให้ข้อมูลกับผู้บริโภคในเรื่องนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก

ส่วนเรื่องการสลับคลื่นความถี่ นายโสภณ กล่าวว่า เป็นเรื่องของผู้ประกอบการ ที่ผู้บริโภคไม่อาจเข้าใจได้ และในเรื่องการคิดค่าบริการแบบปัดเศษก็ควรมีการกำหนดว่าจะใช้ได้ถึงช่วงไหน 3 เดือนหรือ 6 เดือนก่อนที่จะเข้าสู่การคิดค่าบริการแบบตามจริง และผู้ประกอบการควรแจ้งให้ผู้บริโภคทราบทาง SMS ไปยังระบบเลขหมายของผู้บริโภคให้เห็นว่ามีการควบคุมกำกับหรือมีการแจ้งอัตราอ้างอิงอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับในการเปลี่ยนแปลงสิทธิประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากที่สุด ซึ่งถ้าผู้บริโภคเห็นว่า แพ็กเกจของตนเองเหมาะสมแล้ว ก็ใช้แบบเดิมได้ แต่คนที่ไม่รู้ควรจะมีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้