logo isranews

logo small 2

เปิดชื่อซี 9-18 ขรก.สรรพากรเสี่ยงถูกเชือดปมคืนภาษีฉาว 4.3 พันล้าน?

เขียนวันที่
วันอาทิตย์ ที่ 25 สิงหาคม 2556 เวลา 20:00 น.
เขียนโดย
isranews

แกะรอยผลสอบสวนคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคืนภาษีมูลค่าเพิ่มฉาว 4.3 พันล้าน เปิดชื่อ ข้าราชการอยู่ในข่ายกลุ่มเสี่ยงถูกเชือดวินัย พื้นที่บางรักอื้อ“ศุภกิจ-ลัดดา-มานิตย์”ติดโผ 18 คน?

001gfkldo

ในการแถลงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกกว่า 4 พันล้านบาทมีนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการฯเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2556 สรุปผลในเบื้องต้นว่ามีเจ้าหน้าที่อาจจะเกี่ยวข้อง จำนวน 18 ราย แบ่งเป็นข้าราชการอำนวยการระดับสูง ซี 9 จำนวน 4 ราย และข้าราชการระดับปฏิบัติงานอีกจำนวน 14 ราย (ผลสอบเบี้องต้น เสียหาย 4.3 พันล้าน)
 

ขณะที่ผลสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่กรมสรรพากรแต่งตั้งขึ้นซึ่งชิงแถลงข่าวก่อนประมาณ 2 ชั่วโมงในวันเดียวกัน สรุปผลสอบสวนเบื้องต้นว่ามีเจ้าหน้าที่สรรพากรเกี่ยวข้องจำนวน 10 ราย แต่ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าทั้ง 10 รายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วยหรือไม่ เพราะต้องรอข้อมูลการสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) อีกครั้ง
 

เท่ากับคณะกรรมการฯทั้งสองชุดมิได้เปิดเผยรายชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีคืนภาษี 4.3 พันล้านว่ามีใครบ้าง?
 

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากพื้นที่ที่เครือข่ายนายวีรยุทธ แซ่หลก กับพวกจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทประกอบไปด้วย 4 พื้นที่คือ
 

1.พื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตบางรัก
 

2.พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ
 

3.พื้นที่จังหวัดนนทบุรี
 

4.พื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร
 

พื้นที่บางรักเป็นพื้นที่หลักเกิดความเสียหายมากที่สุด ขณะเกิดเหตุมีนายศุภกิจ ริยะการ ผู้บริหารระดับ 9 รับผิดชอบ หลักฐานสำคัญที่เกี่ยวโยงคือบันทึกคำสั่งของนายศุภกิจเวียนถึงทุกส่วนและทีมกำกับภาษีที่อ้างถึงคำสั่งอธิบดีระบุว่า
 

“ให้ทุกทีมกำกับตรวจความเรียบร้อยของแต่ละสำนวนการตรวจของตนเอง ให้เรียบร้อยตามแนวปฏิบัติของ มก. แต่สำหรับผลการตรวจเยี่ยม ข้อ 3 วรรคท้ายที่ให้ชะลอการคืนภาษี 6 เดือนแรกนั้น เป็นเพียงความเห็นของผู้ตรวจซึ่งเรื่องนี้ท่านอธิบดีได้แจ้งให้ที่ประชุมคราวตรวจเยี่ยม สท.22 ให้คืนได้ทันทีเมื่อผลการตรวจไม่พบประเด็นความผิด โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 6 เดือน”
 

บันทึกความเห็นฉบับนี้เกิดขึ้นภายหลังจาก นางชนาทิพย์ วีรสืบพงศ์ และคณะผู้ตรวจราชการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 เพื่อสุ่มตรวจสำนวนการตรวจสอบภาษี รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะและให้คำแนะนำทางการแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงาน นางชนาทิพย์มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชะลอการคืนภาษีช่วง 6 เดือนภาษีแรกไว้ก่อน แม้ว่าผลการตรวจจะกลับมาก่อนครบ 6 เดือนก็ตาม
 

รองลงมา ลำดับ 2 คือ นางลัดดา บวรสมบัติ ผู้ช่วย สท.22 อยู่ในข่ายร่วมรับผิดชอบในฐานะผู้บริหาร ล่าสุดมีข่าวระบุว่าเจ้าตัวทำใจ
 

ลำดับ 3 นายมานิตย์ พลรัตน์ นักตรวจสอบภาษีชำนาญการพิเศษ (หัวหน้าทีมกำกับดูแล ก06) ซึ่งปรากฎชื่อเป็นผู้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักบริการข้อมูลธุรกิจ 4 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้ระงับการรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีบริษัท 30 บริษัทเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2556 ซึ่งทีมกำกับดูแลทีม ก06 มีเจ้าหน้าที่ ทั้งหมด 6 คน มีหัวหน้าทีมย่อย 2 คน คือ นางสาวกรพินธุ์ ปิ่นมี หัวหน้าทีมย่อย และนางสาวจารุณี ฉิมคล้าย หัวหน้าทีมย่อย และมีเจ้าหน้าที่ในทีมย่อยอีก 4 คน
 

จากการตรวจสอบพบว่า ทีมกำกับดูแล ก06 คือ นางสาวกรพินธุ์ ปิ่นมี และนางสาวจารุณี ฉิมคล้าย ปรากฏชื่อในท้ายหนังสือของนายศุภกิจที่ส่งถึงผู้อำนวยการสำนักบริการข้อมูลธุรกิจ 4 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้ระงับการรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีบริษัทที่ถูกตรวจภาษีอากรไว้ก่อน เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2556 ด้วย โดยนางสาวกรพินธุ์ ปิ่นมี ปรากฏชื่อในหนังสืออย่างน้อย 3 ฉบับ นางสาวจารุณี ปรากฏชื่อในท้ายหนังสืออย่างน้อย 2 ฉบับ (อ่านประกอบ:เปิดหนังสือ“ซี 9”บางรัก ให้ระงับจดทะเบียนบริษัทคืนภาษี หลังเสียหาย 3.6 พันล.)
 

พื้นที่จังหวัดสมุทรปราการมีความเสียหายรองลงมา 1,135 ล้านบาท ขณะเกิดเหตุมีนายพายุ สุขสุดเขียว สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 ผู้บริหารระดับ 9 เป็นผู้รับผิดชอบ

จากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่นี้ได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้บริษัทกลุ่มนายวีระยุทธ แซ่หลก อย่างน้อย 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ฟรีไทม์ ค้าโลหะ จำกัด 2.บริษัท เอ็นอีเอ โลหะการค้า จำกัด 3.บริษัท บีบีรีไซเคิล จำกัด 4.บริษัท บีบีกรุ๊ป วัน จำกัด 5.บริษัท บีบีบิ๊ก จำกัด รวม 5 บริษัท 650.8 ล้าน บาท
 

และพบอีกว่านายพายุเป็นผู้ทำหนังสือถึงหัวหน้าสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดสมุทรปราการขอให้ระงับการจดทะเบียนเลิกบริษัทดังกล่าวในเวลาต่อมาอีกด้วย
 

ขณะที่พื้นที่จังหวัดนนทบุรีและสมุทรสาคร บริษัทกลุ่มนายวีรยุทธได้จดทะเบียนในพื้นที่นี้หลายบริษัท อาทิ บริษัท โฮกิตติคุณ จำกัด บริษัท สินทรัพย์อนันต์สุข จำกัด บริษัท บาลานซ์ สตีล จำกัด เป็นต้น ในจำนวนนี้ 1 แห่งย้ายมาจากสมุทรสาคร คือ บริษัท ทองสุขพี เอ การค้า จำกัด
 

แต่ทว่าในเวลาต่อมาสำนักงานสรรพากรพื้นที่นนทบุรีได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักข้อมูลธุรกิจให้ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีนิติบุคคลของบริษัทที่จดทะเบียนในพื้นที่นนทบุรี ผู้ลงนามคือ นายปัญญา พรหมจรรย์ นักตรวจสอบภาษีชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติราชการแทนสรรพากรพื้นที่นนทบุรี
 

ส่วนสำนักงานสรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 2 คนที่ทำหนังสือถึงหัวหน้าสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดสมุทรสาครคือนายสุวัฒน์ หิรัญวัฒน์วนิช นักวิชาการสรรพากรชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติราชการแทนสรรพากรพื้นที่สมุทรสาคร 2

กระนั้นไม่มีข้อมูลว่า ทั้งสองคนเกี่ยวข้องกับการคืนภาษีให้แก่บริษัทกลุ่มนี้หรือไม่
 

ถ้ามองในภาพรวมผู้บริหารระดับ 9 จำนวน 4 คนที่ถูกตั้งคณะกรรมการสอบวินัยตามผลสอบสวนของกระทรวงการคลังนั้น โอกาสที่พื้นที่ 22 หลุดรอดสังเวย มีน้อยที่สุด?
 

ที่น่าสนใจ มีสูงกว่าระดับ 9 ด้วยหรือไม่?
……..
อ่านประกอบ:

ซี 8 สรรพากรเอาบ้าง!ร่อนหนังสือ“แช่แข็ง”30 บริษัทคืนภาษี ไล่หลังซี 9 เกือบ 2 สัปดาห์

“แช่แข็ง”บริษัทคืนภาษีฉาว“นนทบุรี-สมุทรสาคร” พบ“รายเดียว”โผล่ 2 จว.

ยอด“สรรพากร”คืนภาษีฉาวทะลุ 4.2 พันล้าน-โผล่สมุทรปราการ 5 แห่งรวด