logo isranews

logo small 2

วัดความโปร่งใส? เปิดแฟ้ม‘อิศรา’ ขอข้อมูล ป.ป.ช.แต่ถูกปฏิเสธ ก่อนกรณี ‘ปรีชา’

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 20 กันยายน 2559 เวลา 08:00 น.
เขียนโดย
isranews

“…สิ่งที่น่าสนใจ และคาดว่าจะเป็นบรรทัดฐานในการเปิดเผยข้อมูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั่นคือ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ที่ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า ในรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ไม่ใช่การแสดงความเห็น ดังนั้นจึงสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ รวมถึงเป็นเรื่องที่พิจารณาถึงที่สุดแล้วด้วย ที่สำคัญคือ เพื่อความโปร่งใสในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เอง…”

PIC preechaaa 19 9 59 1

ในที่สุดคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้วินิจฉัยให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยข้อมูลรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง และบันทึกการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทุกครั้ง กรณีตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินเชิงลึกของ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org แล้ว

ภายหลังที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตีตกข้อกล่าวหาดังกล่าวไป โดยระบุว่าไม่มีมูล ?

ท่ามกลางข้อครหา และประเด็นสงสัยหลายประการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ได้แจ้งต่อสาธารณชน เช่น การนำเงินของกองทัพภาคที่ 3 มาใส่ไว้ในบัญชีตัวเอง โดยมีชื่อของนางผ่องพรรณ จันทร์โอชา คู่สมรส เป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจเบิกจ่าย หรือยอดเงินไหลเวียนในบัญชีของนางผ่องพรรณจำนวนหลายสิบล้านบาท ทั้งที่แจ้งว่า ไม่ได้ประกอบธุรกิจ หรือแม้แต่บรรดาทรัพย์สินต่าง ๆ ของ พล.อ.ปรีชา ที่มีเพิ่มขึ้นภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557

คล้อยหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติดังกล่าว เมื่อเดือน ก.พ. 2559 สำนักข่าวอิศราจึงใช้สิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 และเพื่อขอรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง และบันทึกการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทุกครั้งเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว แต่อีกประมาณ 2 เดือนถัดมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตอบกลับโดยมีมติปฏิเสธไม่ยอมเปิดเผย

กระทั่งสำนักข่าวอิศราได้ยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ โดยยกเหตุผลว่า เรื่องดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเสร็จสิ้นถึงที่สุดแล้ว แต่ยังมีอีกหลายประเด็นซึ่งยังไม่ได้ชี้แจงต่อสาธารณชน ดังนั้นเพื่อความโปร่งใส จึงต้องขอข้อมูลดังกล่าว ท้ายสุดคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ จึงวินิจฉัยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผย โดยเห็นว่า เป็นข้อมูลสาธารณะ และเพื่อความโปร่งในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย

(อ่านประกอบ : เพื่อความโปร่งใส! กก.ข้อมูลข่าวสารฯสั่ง ป.ป.ช.เปิดข้อมูลตีตกคดีทรัพย์สิน ‘ปรีชา’)

แต่ไม่ใช่มีแค่เรื่องนี้เรื่องเดียว ที่สร้างความคลุมเครือ-ข้อสงสัยแก่สาธารณชน ยังมีอีกหลายเรื่องที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตีตกไป โดยระบุว่า ไม่มีมูล หรือพยานหลักฐานไม่ชัดเจน

เพื่อให้สาธารณชนเห็นภาพ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เพื่อขอข้อมูลรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง และบันทึกการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไปเช่นเดียวกัน ดังนี้

หนึ่ง เมื่อเดือน พ.ค. 2558 ได้ยื่นเรื่องขอข้อมูล กรณีตีตกข้อกล่าวหาคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีพฤติการณ์ทุจริตเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3G ที่มี พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธาน กทค. นายสุทธิพล ทวีชัยการ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการ กทค. เป็นผู้ถูกกล่าวหา โดยกล่าวหาว่า ออกประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 3G เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ทำให้ไม่มีการเสนอราคากันอย่างแท้จริงในการประมูล

เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล สำนักข่าวอิศราได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา

(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ไม่เปิดสำนวนคดีจัดประมูล 3 จี ‘อิศรา’ทั้งที่ตีตกตั้งแต่ปี’57)

สอง เมื่อต้นปี 2559 ได้ยื่นเรื่องขอข้อมูล กรณีตีตกข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. กรณีสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 โดยมิชอบ

เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล สำนักข่าวอิศราได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา

(อ่านประกอบ : ยังไร้หลักเกณฑ์เปิดเผย! ป.ป.ช.ไม่ให้ข้อมูลปมตีตกคดีสลายแดงปี’53)

สาม เมื่อต้นปี 2559 ได้ยื่นเรื่องขอข้อมูล กรณีตีตกข้อกล่าวหานายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีสั่งซื้อเรือเหาะในราคาสูงกว่าความเป็นจริง

เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล โดยอ้างว่า เป็นความลับทางราชการ หากเปิดเผยอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้ สำนักข่าวอิศราได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา

(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ไม่ให้ข้อมูล‘อิศรา’ปมตีตกคดี‘สุเทพ’ปล่อย ทบ.จัดซื้อเรือเหาะแพง)

สี่ เมื่อต้นปี 2559 ได้ยื่นเรื่องขอข้อมูล กรณีตีตกข้อกล่าวหาของนางพรทิวา นาคาศัย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.พาณิชย์ สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อนุมัติจำหน่ายข่าวสารในสต็อกของรัฐบาล เมื่อปี 2552 ในราคาต่ำกว่าราคาตลาด และไม่อนุมัติขายข้าวสารให้กับเอกชน 2 ราย และกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการทุจริตในการระบายข้าวสารในสต็อกของรัฐบาล เมื่อปี 2553 เกี่ยวกับพฤติการณ์ของนายอภิสิทธิ์ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกฯ นางพรทิวา และนายมนัส สร้อยพลอย รวม 4 ข้อกล่าวหา (ปัจจุบันเหลือเหลือแค่การไต่สวนกรณีกล่าวหานางพรทิวา เรียกรับเงินจากบริษัทเอกชนเท่านั้น)

เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล เรื่องนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูล สำนักข่าวอิศราได้ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯแล้ว และได้เข้าชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นในการขอข้อมูลดังกล่าวแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา

ทั้งนี้กรณีที่สาม และสี่ ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2540 ประกอบระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าด้วยการจัดให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าตรวจดูเหตุผลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่มีมติวินิจฉัยว่า ข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป พ.ศ.2558 นั้น ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. อ้างว่า สำนักข่าวอิศรายื่นมาหลังระเบียบดังกล่าวบังคับใช้ ดังนั้นจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การเปิดเผย แต่ให้มาแค่เหตุผลตามเอกสารการแถลงข่าวที่ตีตกคดีต่าง ๆ เท่านั้น

(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ไม่ให้ข้อมูลไต่สวนคดีข้าวยุค ‘อภิสิทธิ์’-เปิดแค่มติตีตกข้อหา‘พรทิวา’)

ห้า ล่าสุด เมื่อเดือน ก.ย. 2559 ได้ยื่นเรื่องขอข้อมูล กรณีตีตกข้อกล่าวหานายจรัญ หัตถกรรม อดีตหัวหน้าคณะตุลาการศาลปกครองสูงสุด กรณีใช้อำนาจหน้าที่เปลี่ยนองค์คณะตุลาการศาลปกครองสูงสุดในการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร และส่งคืนสำนวนโดยมิชอบ

และกรณีตีตกข้อกล่าวหา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าจะมีมติออกมาในรูปแบบใด

แต่สิ่งที่น่าสนใจ และคาดว่าจะเป็นบรรทัดฐานในการเปิดเผยข้อมูลของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั่นคือ คำวินิจฉัยของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯ ที่ระบุไว้ค่อนข้างชัดเจนว่า ในรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงนั้น เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ไม่ใช่การแสดงความเห็น ดังนั้นจึงสามารถเปิดเผยข้อมูลได้ รวมถึงเป็นเรื่องที่พิจารณาถึงที่สุดแล้วด้วย

ที่สำคัญคือ เพื่อความโปร่งใสในการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เอง !

ฉากต่อไปที่ต้องรอดูคือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเปิดเผยรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีตีตกการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเชิงลึกของ พล.อ.ปรีชา เมื่อไหร่

เพราะเมื่อครั้งที่สำนักข่าวอิศรานำหนังสือจากคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารฯไปให้ ยังต้องมาทำใบปะหน้าฉบับใหม่ รอให้เจ้าหน้าที่รับเรื่อง และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกครั้ง ไม่สามารถนำข้อมูลออกมาได้เลยทันที

รวมไปถึงเรื่องอื่น ๆ จะเปิดเผยด้วยหรือไม่ ?

นับเป็นสิ่งที่วัดใจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ที่กำลังถูกจับตาจากสาธารณชน และถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานเป็นอย่างมากอยู่ในขณะนี้ !