เบื้องหลัง ขายหนี้ ร.ร.นานาชาติกลุ่มอดีต รมต. NPL 360ล. พันอดีตบิ๊ก ธพว. - ธปท.
เปิดเบื้องหลัง ธพว.ขายเดี่ยว รร.นานาชาติสยามของกลุ่มอดีตรัฐมนตรีลูกหนี้ NPL 360 ล. ส่อกลบข้อมูลปมแบงก์ชาติตั้งข้อสังเกตให้เงื่อนไขอนุมัติสินเชื่อพิสดารเมื่อปี 2554 หรือไม่? สาวลึก 2 ตัวละคร พัวพันอดีตบิ๊ก ธพว.- ปัจจุบันนั่ง ธปท.
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเสนอข้อมูลไปแล้ว กรณีการขายลูกหนี้ NPL กองหนี้ภาคตะวันออก จำนวน 30 ราย มูลหนี้ 694 ล้านบาท ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ให้แก่ บริษัท บริหารสินทรัพย์ ศรีสวัสดิ์ จำกัด ( บบส.ศรีสวัสดิ์) ในราคา 210.75 ล้านบาท และ 1 ใน 30 ราย คือ บริษัท ชินวัตรไทย จำกัด ของนายพายัพ ชินวัตร โดยขายไปเพียง 10 ล้านบาท ขณะที่ ยอดหนี้ทั้งสิ้นเกือบ 100 ล้านบาท มีความผิดปกติทั้งในขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อ การบริหารสินเชื่อ และการขายหนี้หลังจากเป็น NPL ที่มีการรื้อถอนหลักประกัน ส่อเอื้อประโยชน์ในแก่ลูกหนี้ ถ้าเทียบกับลูกหนี้รายอื่น อาทิ บริษัท โรงพิมพ์ประสานมิตร จำกัด บริษัท อาร์.ซี.ซี.อะไหล่ยนต์ จำกัด และ บริษัท พศวัต อินเตอร์ จำกัด เป็นต้น
(อ่านประกอบ:เปิด 15 คดีรื้อถอนหลักประกัน ธพว. ไม่มี ‘บ.ชินวัตรไทย’ มัด '2 มาตรฐาน' ของแท้ ?)
ทั้งนี้ ตามแผนประมูลขายหนี้ NPL ซึ่งอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟู ธพว. ระยะสั้น กำหนดให้มีการขายหนี้ NPL โดยแบ่งเป็น 7 กอง ตาม ‘ที่ตั้ง’ หลักประกัน โดยมีกองภาคตะวันออกนำออกประมูลขายเป็นกองแรก จำนวน 30 ราย เมื่อเดือนมกราคม 2558 (ตามข้อมูลข้างต้น)
ล่าสุดพบว่า จากที่กำหนดไว้ในแผนว่าจะขายเป็นกอง ทว่ามีการประกาศประมูลขายเดี่ยวอยู่ 1 ราย โดยมีประกาศของประธานคณะกรรมการขายหนี้ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 แจ้งว่า ธพว. ประสงค์ประมูลขายหนี้ NPL ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1 ราย มูลค่าทรัพย์ประมาณ 480 ล้านบาท เพื่อให้ผู้สนใจซื้อเอกสารและข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์ที่ประมูล ภายในวันที่ 3 มีนาคม ถึงวันที่ 13 มีนาคม 2558
ลูกหนี้รายดังกล่าวคือ บริษัท รวมสินทรัพย์ไทย หรือโรงเรียนนานาชาติสยาม ตั้งอยู่บริเวณคลองสาม ถนนรังสิต-นครนายก อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี (ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนคือ ศ.ดร.ธีระ สูตบุตร ซึ่งเคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช่วงปี 2539-2545 และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์)
จากการตรวจสอบการอนุมัติสินเชื่อเมื่อปี 2554 ในรายงานการขออนุมัติสินเชื่อระบุ ขอเงินกู้ จำนวน 400 ล้านบาท เพื่อสมทบกับเงินทุนส่วนตัวซื้อกิจการโรงเรียนจากเจ้าของเดิมราคา 600 ล้านบาท โดยเงินกู้ 400 ล้านบาทที่ขอ จะนำไปชำระหนี้แทนเจ้าของเดิมที่ธนาคารกรุงไทย 190 ล้านบาท และส่วนที่เหลืออีก 210 ล้านบาท ชำระให้เจ้าของเดิม
คณะกรรมการบริหารของ ธพว. ซึ่งเป็นผู้อนุมัติสินเชื่อรายนี้ กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ อนุมัติเงินกู้ให้กับลูกหนี้จำนวน 360 ล้านบาท แต่กำหนดให้ลูกหนี้นำเงินมาฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ จำนวน 60 ล้านบาท เพื่อทยอยตัดชำระดอกเบี้ยในช่วงของการปลอดชำระเงินต้น จึงทำให้ ธปท. ได้ตั้งข้อสังเกตประเด็นนี้ไว้อย่างละเอียด ทำให้ลูกหนี้ได้รับเงินกู้จริงจากธนาคารเพียง 300 ล้านบาท เพื่อนำไปซื้อโรงเรียนราคา 600 ล้านบาท (ถ้าหากเป็นราคาซื้อที่แท้จริง แล้วเงินอีก 300 ล้านบาท จะมาจากแหล่งใด ไม่มีการแสดงให้เห็น จึงทำให้ ธพว. มีความเสี่ยงสูงจากการที่ลูกหนี้อาจไม่มีส่วนร่วมทุน)
มีข้อมูลระบุว่า เมื่อมาถึงช่วงเวลาที่ ธพว.มีการประมูลขายหนี้ NPL จากที่ได้กำหนดไว้ว่าจะขายเป็นกอง โดยคละลูกหนี้ในแต่ละกอง ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ธพว.ระยะสั้น แต่ก็ได้เกิดกรณีพิเศษแตกต่างจากแผนโดยไม่นำลูกหนี้รายนี้เข้าไปรวมอยู่ในกองขาย ให้การขายลูกหนี้รายนี้มีความรวดเร็วขึ้น ซึ่งได้มีการประสานงานจากอดีตบิ๊ก ธพว. ปัจจุบันอยู่ที่แบงก์ชาติ กับอดีตบิ๊กแบงก์ชาติที่ปัจจุบันอยู่ที่ ธพว. เพื่อนำลูกหนี้รายนี้ออกประมูลขายเดี่ยวเพียงรายเดียว แตกต่างจากที่กำหนดไว้ในแผน เมื่อเดือนมีนาคม 2558 แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีผู้ประมูลซื้อลูกหนี้รายนี้
น่าสังเกตว่า
1.การกำหนดให้ลูกหนี้นำเงินมาฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ จำนวน 60 ล้านบาท คณะกรรมการบริหารที่เป็นผู้อนุมัติไม่มีความมั่นใจเลยว่า กิจการโรงเรียนนานาชาติของลูกหนี้จะมีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้กับธนาคาร แม้เพียงเฉพาะดอกเบี้ยในช่วงปลอดชำระเงินต้นก็จะไม่สามารถชำระได้ ใช่หรือไม่? ซึ่งเงินที่ลูกหนี้นำมาฝากตามเงื่อนไขที่กำหนด สุดท้ายแล้วก็ผ่อนถ่ายมาจากเงินกู้ 360 ล้านบาท ที่ ธพว.อนุมัติให้ไป ทำให้ลูกหนี้ได้รับเงินกู้จริงจากธนาคารเพียง 300 ล้านบาท
2. การนำลูกหนี้รายนี้ออกขายเดี่ยวเพียงรายเดียวนั้น เพื่อปกปิดการอนุมัติสินเชื่อที่ผิดหลักเกณฑ์จากปกติหรือไม่?
สำหรับ อดีตบิ๊กแบงก์ชาติรายนี้ เป็นบุคคลหนึ่งที่เดินทางไปดูไบ พบกับอดีตผู้นำเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา
ส่วนบิ๊ก ธพว. ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกหนี้รายนี้ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านบัญชี และเคยเป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทน้ำมันยักษ์ เข้าไปทำหน้าที่ใน ธพว. เมื่อปี 2554 ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และเคยเดินทางไปพบ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ดูไบ ต่อมา หลังจากพ้นหน้าที่ ที่ ธพว. แล้ว ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในแบงก์ชาติ
อ่านประกอบ:
แฟ้มลับ ธปท.กรณี ธพว.ปล่อยกู้ ร.ร. นานาชาติ ก่อนติด NPL อันดับหนึ่ง359 ล.