เจาะพฤติกรรม“บิ๊ก ปตท.สผ.”ปมถูกฟ้องเรียก 2 หมื่นล.คดีปลูกปาล์มอินโดฯ(จบ)
“…การกระทำดังกล่าวข้างต้นของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดทางอาญาและเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTTGE ทำให้ได้รับความเสียหายจากเงินลงทุนที่สูญเสียไป ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการที่เกิดขึ้นทั้งหมด และค่าเสียโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน รวมเป็นค่าเสียหายที่ได้รับจากการลงทุนทั้ง 5 โครงการดังกล่าว อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของนายนิพิฐ ทั้งสิ้น 624,850,887 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 20,307,653,844 บาท…”
หลายคนคงทราบกันพฤติกรรมบางส่วนของ “นิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา” รองผู้จัดการบริษัท ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กันไปแล้ว
ภายหลังถูกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ พีทีอี ลิมิเต็ด (PTTGE) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในช่วงเป็นผู้อำนวยการโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์ม ดำเนินโครงการปลูกปาล์มน้ำมัน 5 โครงการ ที่อินโดนีเซีย
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำสำนวนคำฟ้องมาเผยแพร่พฤติกรรมของ “นิพิฐ” ไปแล้ว 3 โครงการ พบว่าถูกกล่าวหาหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การซื้อที่ดินทับซ้อนพื้นที่ป่าสงวน บางพื้นที่เป็นดินพรุซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงการเรียกค่านายหน้าซื้อที่ดินที่สูงผิดปกติกว่า 40% เป็นต้น
(อ่านประกอบ : เจาะพฤติกรรม“บิ๊ก ปตท.สผ.”ปมถูกฟ้องเรียก 2 หมื่นล.คดีปลูกปาล์มอินโดฯ(1))
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำพฤติกรรมอีก 2 โครงการที่เหลือ มานำเสนอให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
4.โครงการ พีที เฟิร์ส บอร์เนียว แพลนเตชั่น หรือ PT.First Borneo Plantations (“PT.FBP”)
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2551 คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เข้าลงทุนใน PT.FBP ซึ่งถือครองหุ้นบริษัทลูกอยู่ 6 บริษัท มีพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในเขตกะลิมันตันตะวันตก 108,000 เฮกตาร์ ซึ่งพื้นที่ทั้งหมดได้รับใบอนุญาตระบุตำแหน่งที่จะประกอบกิจการน้ำมันปาล์ม และใบอนุญาตประกอบธุรกิจน้ำมัน และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว
สำหรับการเข้าลงทุนทำสัญญานั้น มีเงื่อนไขคือ PTTGE จะต้องเข้าร่วมทุนในอัตราส่วน 70/30 ในกลุ่มบริษัท PT.FBP และมี PTTGE ถือหุ้นใหญ่ร้อยละ 70 โดยจะชำระเงินงวดแรกเท่ากับร้อยละ 70 ของมูลค่าหุ้นตามสัญญา และชำระอีกร้อยละ 30 เมื่อได้รับเอกสารสิทธิในการทำเกษตรกรรม (HGU) โดยมีเงินลงทุนรวม 86.94 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติมหลายประการ เช่น ควรลงทุนโดยใช้ความรอบคอบระมัดระวัง ต้องตรวจสอบปัจจัยทั้งพื้นที่ดิน ชาวบ้าน และเอกสารทางกฎหมายให้ชัดเจน ซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการมาก และต้องศึกษาเรื่องการขนส่ง เพราะพื้นที่ของโครงการขนาดใหญ่ประมาณ 1 แสนเฮกตาร์ อาจก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการขนส่งจำนวนมาก และพื้นที่ตั้งอยู่กลางเกาะทุรกันดาร เข้าถึงลำบาก ต้องจัดทำรายงานผลการศึกษาข้อมูลเชิงลึกต่อไป และต้องส่งผลความก้าวหน้าให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นระยะ ๆ ด้วย
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2552 ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท PTTGE ประธานคณะกรรมการฯ (นายพิชัย ชุณหวิชร) ได้รับทราบรายงานผลการศึกษาข้อมูลเชิงลึก โครงการ PT.FBP จากคณะกรรมการการได้มาซึ่งสิทธิที่ดิน พบว่า เป็นโครงการที่ไม่เหมาะสมที่จะลงทุน เนื่องจากพื้นที่ตั้งโครงการเสียเปรียบด้านการขนส่ง ทั้งยังมีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับการใช้ประโยชน์อื่น โดยเฉพาะพื้นที่ทำเหมืองถ่านหิน การปลูกสวนยาง และการนิคมสร้างตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นคุณสมบัติของดินในพื้นที่บางส่วนมีลักษณะเป็นดินพรุซึ่งมีความลึกมาก ต้องใช้ต้นทุนเพาะปลูกสูงและการดำเนินการอาจขัดต่อระเบียบของประเทศอินโดนีเซียได้ คณะกรรมการการได้มาซึ่งสิทธิที่ดินเห็นว่า ควรมีมติยกเลิกการลงทุนในโครงการ PT.FBP นี้
ต่อมานายพิชัย ได้แสดงความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท PTTGE ว่า ไม่เหมาะสมที่ PTTGE จะลงทุน ซึ่งต่อมานายพิชัย ได้ลาออกจากการเป็นกรรมการของ PTTGE เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2552
หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 2552 ในการประชุมคณะกรรมการบริษัท PTTGE นายนิพิฐได้เสนอผลการศึกษาเพิ่มเติมเชิงลึกในพื้นที่ดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการบริษัท PTTGE พิจารณาผลการศึกษาทั้งฉบับของนายนิพิฐและคณะกรรมการการได้มาซึ่งสิทธิที่ดิน พบว่า ไม่ตรงกันในสาระสำคัญหลายประการ คณะกรรมการบริษัท PTTGE พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการ PT.FBP มีความคุ้มค่าลงทุนต่อไป ขอให้กลับไปศึกษาเพิ่มด้านการขนส่ง และให้เจรจาเรื่องโครงสร้างการจ่ายเงินใหม่ รวมทั้งให้เริ่มพัฒนาพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดก่อน
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2552 นายนิพิฐได้นำเสนอข้อมูลศึกษาเพิ่มเติม โดยมีรายละเอียดต่างไปในครั้งแรก เช่น การขนส่งทางน้ำซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการตัดสินใจในการลงทุนในโครงการนี้ ซึ่งหลังการศึกษาครั้งนี้ นายนิพิฐ เสนอว่าโครงการนี้คุ้มค่ากับการลงทุน แม้ว่าจะตั้งในพื้นที่ห่างไกล แต่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเล็กน้อย คณะกรรมการบริษัท PTTGE จึงมีติให้ดำเนินโครงการต่อไป
จากข้อเท็จจริงข้างต้น เห็นได้ว่า นายนิพิฐ ควรดำเนินการจัดทำการศึกษาเพิ่มเติมโดยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางอีกครั้ง เพื่อตรวจสอบเหตุผลว่าเหตุใดผลการศึกษาทั้งสองครั้งจึงมีผลการศึกษาที่ต่างกันในสาระสำคัญ แต่ก็หาได้ศึกษาไม่ ทั้งการละเว้นการกระทำดังกล่าว ยังเป็นการดำเนินการที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งหรือมติคณะกรรมการบริษัท PTTGE ที่ให้ศึกษาหาแนวทางให้รอบคอบที่สุด และปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่า ในการขยายโครงการ PT.FBP ในปี 2558 เมื่อมีผู้สนใจที่จะเข้าซื้อโครงการดังกล่าว กลับพบข้อเท็จจริงจากผลการศึกษาหลายประการที่สอดคล้องกับการศึกษาของคณะกรรมการการได้มาซึ่งสิทธิที่ดิน
นอกจากนี้ เมื่อดำเนินโครงการต่อมา การเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นของนายนิพิฐ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของการลงทุน ตลอดจนเงื่อนไขการชำระเงินตามสัญญาที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพราะไม่ได้นำเสนอเพื่อขออนุมัติหรือขอความเห็นชอบก่อน เช่น มีการตกลงชำระเงินค่าหุ้นให้แก่ผู้ขาย โดยแบ่งเป็น 3 งวด งวดแรกร้อยละ 15 งวดสองร้อยละ 21 และงวดสามร้อยละ 35 ซึ่งผิดจากเงื่อนไขที่ตกลงว่าจะจ่ายเงินงวดแรกร้อยละ 70 และงวดสองร้อยละ 30 แต่กลับเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระเงิน
ทั้งนี้พื้นที่เหมาะสมในการปลูกของโครงการ PT.FBP มีจำนวนเพียง 77,000 เฮกตาร์ และพื้นที่ทับซ้อนสวนยางจำนวน 13,329 เฮกตาร์ ซึ่งการจ่ายเงินบนพื้นที่ทีทับซ้อนสวนยางดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาทำให้ PTTGE เสียเปรียบ รวมถึงไม่ใช้สิทธิแต่งตั้งบุคคลของ PTTGE เข้าไปดำรงตำแหน่งบริหารใน PT.FBP ให้ครบ 3 ตำแหน่ง จากทั้งหมด 5 ตำแหน่ง ทำให้ขาดอำนาจในการบริหาร และทำให้โครงการได้รับความเสียหาย
การกระทำของนายนิพิฐทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTTGE เสียหายในโครงการที่ 4 รวม 162,783,273 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 5,290,456,378 บาท
5.โครงการ คัลปาตาลู อินเวสต์ตามา หรือ Kalpataru Investama (“KPI”)
เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2553 นายนิพิฐได้นำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการบริษัท PTTGE เพื่อขออนุมัติให้ PTTGE ลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท พีที. คัลปาตาลู อินเวสท์ตามา หรือ PT.KPI เพื่อศึกษาการเข้ามาลงทุนในโครงการแห่งใหม่ มีพื้นที่ประมาณ 80,000 เฮกตาร์ ตั้งอยู่บริเวณเกาะกาลิมันตันตะวันออก
โดยผู้ขายเสนอขายหุ้นตามมูลค่าสิทธิในที่ดิน ตามเอกสารแสดงสิทธิในการทำเกษตรกรรม (HGU) ที่อัตรา 1,325 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ แบ่งเป็นราคาที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ HGU ที่อัตรา 900 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ และมูลค่าที่ดินที่มีโอกาสพัฒนาทำเป็นเหมืองถ่านหินอีก 425 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ และยังไม่รวมกับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ซื้อขายหุ้น
อย่างไรก็ดีการนำเสนอดังกล่าว ไม่ตรงกับความจริง แต่เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้คณะกรรมการบริษัท PTTGE เชื่อว่ามูลค่าสิทธิตามเอกสารแสดงสิทธิ HGU ที่อัตรา 900 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์นั้น ไม่เกินไปกว่ากรอบการลงทุนเดิมที่คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เคยมีมติอนุมัติเอาไว้ในการลงทุนในโครงการ PT.Az Zhara ความจริงแล้วผู้ขายเสนอขายมูลค่าสิทธิตามเอกสารแสดงสิทธิ HGU ที่อัตรา 1,325 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์ ซึ่งเป็นราคาที่เกินกว่ากรอบการลงทุนที่คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เคยอนุมัติไว้
การบิดเบือนดังกล่าวทำให้คณะกรรมการบริษัท PTTGE มีมติอนุมัติให้เข้าลงนามทำบันทึกความเข้าใจกับบริษัท PT.KPI ได้ตามที่ฝ่ายจัดการเสนอ และมีมติอนุมัติหลักการในการชำระเงินจำนวน 3 งวด งวดแรกร้อยละ 5 งวดที่สองร้อยละ 10 งวดที่สามร้อยละ 85 ของค่าที่ดินทั้งหมด และให้ศึกษากรณีพื้นที่ทับซ้อนก่อนจะชำระเงินงวดที่ 2
ต่อมาได้มีการเข้าลงนามบันทึกข้อตกลงบันทึกความเข้าใจกับฝ่ายผู้ขาย เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2553 โดยกำหนดว่า การชำระเงินค่าหุ้นงวดที่ 2 จะต้องขึ้นอยู่กับการอนุมัติของคณะกรรมการบริษัท PTTGE เสียก่อน แต่ปรากฏว่า นายนิพิฐ ได้เข้าลงนามทำสัญญาซื้อขายหุ้นในการลงทุนโครงการ KPI เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2553 โยแก้ไขข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายหุ้น ที่แตกต่างไปจากข้อกำหนดและเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการ จากเดิมที่ให้ PTTGE มีดุลยพินิจสมบูรณ์ในการพิจารณาชำระค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการดังกล่าว กลับตัดข้อความที่มีข้อกำหนดและเงื่อนไขให้อำนาจดุลยพินิจของ PTTGE ออกไป ทำให้ PTTGE ต้องถูกผูกพันภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้นที่จะต้องชำระค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการให้แก่ผู้ขายโดยไม่สามารถใช้ดุลยพินิจตามที่เห็นสมควรอีกต่อไป ทำให้ PTTGE เสียเปรียบ
นอกจากนายนิพิฐยังมีพฤติการณ์ที่ส่อไปให้ในทางที่พยายามปกปิดมิให้คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้รับรู้ถึงการเข้ลงทุนในโครงการนี้ นอกจากนี้ยังมีเจตนาปกปิดการลงทุนในโครงการ KPIที่ผิดจากกรอบและเงื่อนไขในการลงทุนที่คณะกรรมการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เคยได้อนุมัติ ยังพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการลงทุนในโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพราะแม้นายนิพิฐจะได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นในโครงการ KPI ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2553 และได้จ่ายเงินค่าหุ้นไปจนเกือบครบทั้งหมดตามสัญญาแล้ว (จ่ายไปแล้วประมาณ 47.39 ล้านเหรียญสหรัฐ คงเหลือยังไม่ได้จ่ายประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ)
แต่ต่อมาในการนำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุม นายนิพิฐกลับบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า โครงการที่มาเสนอขออนุมัติ ไม่ใช่โครงการใหม่ กลับไปตกลงทำสัญญาที่ให้ PTTGE ต้องผูกพันจ่ายค่าพัฒนาโครงการทั้ง ๆ ที่ไม่ทราบขอบเขตจำนวนเงินที่แน่นอน อีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การชำระเงินค่าใช้จ่ายในการพัฒนาโครงการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงินสูงเกือบ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ และเกือบจะมากกว่ามูลค่าของสิทธิในที่ดินตามเอกสารแสดงสิทธิ HGU
การกระทำของนายนิพิฐทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTTGE เสียหายในโครงการที่ 5 รวม 224,538735.99 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 7,297,508919.64 บาท
ดังนั้น การกระทำดังกล่าวข้างต้นของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดทางอาญาและเป็นการกระทำละเมิดต่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTTGE ทำให้ได้รับความเสียหายจากเงินลงทุนที่สูญเสียไป ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการที่เกิดขึ้นทั้งหมด และค่าเสียโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน
รวมเป็นค่าเสียหายที่ได้รับจากการลงทุนทั้ง 5 โครงการดังกล่าว อันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของนายนิพิฐ ทั้งสิ้น 624,850,887 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 20,307,653,844 บาท
ทั้งหมดคือพฤติกรรมของ “นิพิฐ” ที่ถูกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTTGE ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท
ขณะที่บอร์ด ปตท. จำกัด (มหาชน) มีมติลงโทษทางวินันยแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้วหลายสิบราย ส่วน "นิพิฐ" นั้นถูกลงโทษไล่ออกไปแล้วตั้งแต่ช่วง มิ.ย. 2557
แต่เมื่อเรื่องไปถึง ปตท.สผ. ซึ่งเป็นต้นสังกัด กลับสั่งรื้อการตรวจสอบข้อเท็จจริงใหม่ ทำให้ปัจจุบันเรื่องราวยังไม่ไปถึงไหน
ล่าสุด บอร์ด ปตท. จำกัด (มหาชน) มีมติเมื่อกลางเดือน ก.ค. 2558 เร่งรัดไปยังบอร์ด ปตท.สผ. แล้ว
ดังนั้นต้องจับตาดูว่า บอร์ด ปตท.สผ. จะดำเนินการอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง ?
อ่านประกอบ :
เจาะพฤติกรรม“บิ๊ก ปตท.สผ.”ปมถูกฟ้องเรียก 2 หมื่นล.คดีปลูกปาล์มอินโดฯ(1)
ฟ้องบิ๊ก ปตท.สผ.เรียก 2 หมื่นล.กล่าวหาทุจริตคดีปลูกปาล์ม อินโดฯ
บอร์ด ปตท.มีมติไล่ออก"บิ๊ก"ปมปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง2หมื่นล.-สผ.ดองข้ามปี
ปตท.ระทึก!อนุฯ ป.ป.ช.พบปมซื้อที่ดินปลูกปาล์ม ปท.อินโดฯ เล็งชี้มูล 2 โครงการ
ป.ป.ช.พบตัวละครคดีข้าวจีทูจีโยงซื้อขายมันเส้น!-สอบปตท.ปมปลูกปาล์มในอินโดฯ