logo isranews

logo small 2

เจาะพฤติกรรม“บิ๊ก ปตท.สผ.”ปมถูกฟ้องเรียก 2 หมื่นล.คดีปลูกปาล์มอินโดฯ(1)

“…ทั้ง 5 โครงการ ล้มเหลวไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามเจตนารมณ์ของโจทก์ทั้งสอง โดยต้องสูญเสียเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนมาก ทั้งยังสูญเสียเงินในการบริหารจัดการ และสูญเสียโอกาสในการลงทุน จึงเป็นการกระทำความผิดทางอาญา และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง นายนิพิฐ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ทั้งสองตามกฎหมาย…”

PIC ptt 1 8 57 11

เรื่องราวความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อที่ดินปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซียของ “เครือ ปตท.” ตกเป็นที่สนใจของสาธารณชนอีกครั้ง !

ภายหลังบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ส่งบริษัทพีทีที.กรีน เอ็นเนอร์ยี่ พีทีอี ลิมิเต็ด (PTTGE) เข้าไปร่วมลงทุนในการปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ประเทศอินโดนีเซียถึง 5 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการ พีที อัซ ซารา แพลนเตชั่น หรือ PT.Az Zahara Plantation (“PT.Az Zhara”) 2.โครงการ พีที มาร์ (พอนเทียนัค) หรือ PT.MAR (Pontianak) 3.โครงการ พีที มาร์ (บันยัวซิน) หรือ PT.MAR (Banyuasin) 4.โครงการ พีที เฟิร์ส บอร์เนียว แพลนเตชั่น หรือ PT.First Borneo Plantations (“PT.FBP”) และ 5.โครงการ คัลปาตาลู อินเวสต์ตามา หรือ Kalpataru Investama (“KPI”)

แต่กลับถูกตรวจสอบพบว่า มีความ “ไม่โปร่งใส” หลายอย่าง ?

และทำให้เกิดความเสียหายขึ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท !

ก่อนที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTTGE ได้เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อนายนิพิฐ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองผู้จัดการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เรียกค่าเสียหายกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ถูกดึงตัวมาเป็นผู้อำนวยการโครงการพัฒนาธุรกิจน้ำมันปาล์ม ในนามของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

โดยในคำฟ้องระบุไว้ชัดเจนว่า มีการทุจริตเกิดขึ้น !

(อ่านประกอบ : ฟ้องบิ๊ก ปตท.สผ.เรียก 2 หมื่นล.กล่าวหาทุจริตคดีปลูกปาล์ม อินโดฯ)

เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สกัดสาระสำคัญของพฤติการณ์ความไม่โปร่งใสใน 3 โครงการแรกตามคำฟ้อง มานำเสนอให้เห็นกัน ดังนี้

สำหรับนายนิพิฐ ถูกฟ้องว่า กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายประการ เนื่องจากเป็นพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง (บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTTGE) หรือปฏิบัติหรือลเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความิผดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 และ/หรือในฐานะกรรมการและผู้บริหารของ PTTGE มิได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งจงใจหรือประมาทเลินเล่อกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือละเว้นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดของโจทก์ทั้งสอง

ทั้งนี้โครงการทั้ง 5 โครงการ ล้มเหลวไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ตามเจตนารมณ์ของโจทก์ทั้งสอง โดยต้องสูญเสียเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มเป็นจำนวนมาก ทั้งยังสูญเสียเงินในการบริหารจัดการ และสูญเสียโอกาสในการลงทุน จึงเป็นการกระทำความผิดทางอาญา และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง นายนิพิฐ จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์ทั้งสองตามกฎหมาย รายละเอียดดังนี้

1.โครงการ พีที อัซ ซารา แพลนเตชั่น หรือ PT.Az Zahara Plantation (“PT.Az Zhara”)

โครงการนี้คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีมติเห็นชอบให้เข้าลงทุนกับ PT.Az Zhara และบริษัท พีที มิตรา อาเนคา เรเซกิ หรือ PT.Mitra Aneka Rezeki (“PT.MAR”) เพื่อลงทุนปลูกปาล์มในพื้นที่ใหม่ จำนวนสิทธิในพื้นที่ทั้งหมด 1.7 แสนเฮกตาร์ แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรก 1.1 แสนเฮกตาร์ ราคาเฮกตาร์ละ 550 เหรีญสหรัฐ ร่วมลงทุนร้อยละ 55 ส่วนที่สอง 6 หมื่นเฮกตาร์ ราคาเฮกตาร์ละ 485 เหรียญสหรัฐร่วมลงทุนร้อยละ 95 โดยทั้งหมดแบ่งชำระเป็น 3 งวด

อย่างไรก็ดีนายนิพิฐ ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้น เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2551 ในนามของ PTTGE กับบริษัทซาบราน บราเทอร์ส แห่งสิงคโปร์ เพื่อซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทซึ่งถืออยู่ร้อยละ 95 ใน PT.Az Zhara โดยกำหนดราคาซื้อขายหุ้นในราคาเฮกตาร์ละ 550 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ PT.Az Zhara ได้ถือหุ้นย่อย 6 บริษัท ที่ได้รับเอกสารสิทธิปลูกปาล์มน้ำมัน รวมเนื้อที่ 40,500 เฮกตาร์ เท่ากับว่า PTTGE ต้องลงทุนตามสัญญาทั้งสิ้น 22,275,000 เหรียญสหรัฐ

แต่ในการลงนามซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2551 นายนิพิฐ ทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ มิได้ทำการตรวจสอบให้รัดกุมรอบคอบว่าที่ดินอันเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการซื้อหุ้นเพื่อลงทุนในโครงการของ PT.Az Zhara เป็นที่ดินที่มีพื้นที่ทับซ้อนพื้นที่ป่าสงวนหรือไม่ การกระทำดังกล่าวเป็นผลโดยตรงให้ที่ดินในโครงการของ PT.Az Zhara ไม่สามารถขอให้หน่วยงานในประเทศอินโดนีเซียออกเอกสารสิทธิในการทำเกษตรกรรม (HGU) ได้ ทั้งที่การตรวจสอบเช่นว่านั้นล้วนเป็นการตรวจสอบที่จำเป็นและมีความสำคัญ

นอกจากนี้เมื่อนายนิพิฐทำสัญญาซื้อขายหุ้นไปแล้ว ปรากฏว่ามีรายงานการตรวจสอบทางเทคนิค เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2551 ซึ่งส่งถึงนายนิพิฐ และได้ทราบแล้ว ระบุว่าอย่างชัดเจนว่า พื้นที่ในโครงการของ PT.Az Zhara มีพื้นที่จำนวนมากเป็นป่าสงวนที่ไม่สามารถครอบครองทำประโยชน์ได้ กรณีดังกล่าวจึงเป็นการขัดต่อกฎหมายและขัดแย้งกับนโยบายทางธุรกิจของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ไม่ประกอบธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือมีผลเป็นการบุกรุกป่า

รวมถึงการลงทุนดังกล่าว ไม่ได้ตรวจสอบความเหมาะสมของพื้นที่ดินและดินในการปลูก เพราะที่ดินในโครงการของ PT.Az Zhara จำนวน 40,500 เฮกตาร์นั้น มีที่ดินอยู่ร้อยละ 15 เป็นพื้นที่เนินเขาสูงชัน ถึงสูงชันมาก ไม่เหมาะสมกับการปลูกปาล์มน้ำมัน ถ้านายนิพิฐใช้ความระมัดระวังเช่นบุคคลผู้ประกอบธุรกิจ ก็ไม่ควรเข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นในบริษัทที่ถือครองที่ดินที่มีสภาพไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูกปาล์ม

และการลงทุนดังกล่าว ยังฝ่าฝืนกรอบและเงื่อนไขการลงทุน ที่กำหนดกรอบการลงทุนว่าในส่วนของสิทธิพื้นที่จำนวน 1.1 แสนเฮกตาร์ อนุมัติให้เข้าลงทุนได้เพียงร้อยละ 55 เท่านั้น แต่นายนิพิฐ กำลังเข้าทำสัญญาซื้อหุ้นในพื้นที่ส่วนนี้ถึงร้อยละ 95 ทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTTGE ต้องสูญเสียเงินลงทุนในโครงการนี้เกินกว่าที่ควรจะจ่าย โดยเกินวงเงินไปกว่า 10,023,750 เหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้นายนิพิฐ ยังมีการทำสัญญา Commission Service Agreement เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2550 และแก้ไขเพิ่มเติม 17 ม.ค. 2551 ระหว่างผู้ขายหุ้นในโครงการ PT.Az Zhara กับ “บริษัทอีกแห่ง” ซึ่งมีเนื้อหาที่ทำในลักษณะของการเป็นนายหน้าที่จะจัดการให้ผู้ขายได้เข้าทำสัญญากับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGE โดยคิดอัตราค่านายหน้าสูงถึงร้อยละ 40 ซึ่งเป็นอัตราค่านายหน้าที่สูงผิดปกติอีกด้วย

การกระทำของนายนิพิฐทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTTGE เสียหายในโครงการที่ 1 รวม 50,540,418.46 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 1,642,563,599 บาท

2.โครงการ พีที มาร์ (พอนเทียนัค) หรือ PT.MAR (Pontianak)

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2550 คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีมติอนุมัติโครงการลงทุนในโครงการ PT.MAR (Pontianak) โดยให้ PTTGE เข้าไปซื้อหุ้นร้อยละ 100 ของบริษัท กาลิมันตัน ไทยแลนด์ ปาล์ม พีทีอี ลิมิเต็ด หรือ (“KTP”) และให้ KTP ไปซื้อหุ้นของ PT.MAR อีกร้อยละ 95 เพื่อลงทุนต่อไป

อย่างไรก็ดี นายนิพิฐ ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2550 ในนามของ PTTGE เพื่อซื้อหุ้นของ KTP โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินบางส่วนขึ้นอยู่กับการที่ KTP จะเข้าซื้อหุ้นใน PT.MAR ต่อไป โดยในการทำสัญญานี้ นายนิพิฐ มิได้คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะลงทุน เพื่อรักษาประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTTGE เนื่องจาก ไม่ยอมพิจารณารายงานทางเทคนิค ที่ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นดินพรุ ความลึก 3-5 เมตร ถึงลึกมาก 5 เมตรขึ้นไป ซึ่งการปลูกปาล์มในพื้นที่ดังกล่าวอาจทำให้ต้นปาล์มล้ม และเติบโตช้ากว่าปกติ อีกทั้งการปลูกในดินพรุจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่ดีจากผู้เชี่ยวชาญซึ่งมีอยู่น้อยมาก รวมทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าปกติร้อยละ 30-40

นอกจากนี้การเข้าซื้อขายหุ้นในโครงการ PT.MAR (Pontianak) ยังฝ่าฝืนกรอบและเงื่อนไขการเข้าลงทุนที่กำหนดไว้ว่าจะต้องมีผลตอบแทนสำหรับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มากกว่าร้อยละ 15 และให้เอกสารสิทธิ HGU ดังกล่าว และหาก PTTGE ฝืนลงทุนต่อไปก็มีแต่ขาดทุน ซึ่งปัจจุบัน PTTGE ต้องตัดสินใจขายโครงการนี้ให้กับบุคคลอื่นในราคาที่ต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มต้นและใช้พัฒนาโครงการไปทั้งหมดอย่างมาก

3.โครงการ พีที มาร์ (บันยัวซิน) หรือ PT.MAR (Banyuasin)

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2550 คณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีมติเห็นชอบให้ลงทุนในธุรกิจปลูกปาล์มและน้ำมันปาล์มดิบ โดยการเข้าซื้อหุ้นบริษัท PT.Surya hutama Suwit (“PT.SHS”) ซึ่งประกอบธูรกิจปลูกปาล์มน้ำมันบริเวณที่เรียกว่า บันยัวซิน (Banyuasin) ในประเทศอินโดนีเซีย จำนวนเงินไม่เกิน 21.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และต้องดำเนินการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบกับบริษัทที่จะร่วมลงทุนด้วย

แต่นายนิพิฐได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้นดังกล่าวโดยขัดต่อมติคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เนื่องจากในรายงานผลการตรวจสอบ พบว่า ผลการตอบแทนลงทุนโครงการนี้ถูกประเมินไว้ที่อัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 14 และมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะลดลงไปอยู่แค่ร้อยละ 7 ซึ่งไม่ถึงร้อยละ 15 ตามเงื่อนไขของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงเป็นการปฏิบัติโดยขาดความรับผิดชอบ และไม่ปฏิบัติตตามมติของคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

หลังจากทำสัญญาซื้อขายหุ้นเพื่อลงทุนในโครงการนี้แล้ว นายนิพิฐยังจงหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้มีการปลูกปาล์มน้ำมันอยู่บนพื้นที่ที่ตั้งอยู่นอกเหนือจากส่วน PT.MAR ได้รับเอกสารแสดงสิทธิในการทำเกษตรกรรม (HGU) ในโครงการนี้ โดยไม่มีเอกสารแสดงสิทธิใด ๆ เลยเป็นจำนวนกว่า 3,600 เฮกตาร์ ทำให้มีปัญหาไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันนอกเหนือพื้นที่ที่ได้รับ ซึ่ง PT.SHS (PT.MAR (Banyuasin)) จะต้องโอนเอกสารสิทธิ HGU ใบอนุญาตเก็บเกี่ยว และใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทั้งหมด รวมถึงสินทรัพย์ทั้งหมดให้กับ PT.MAR อีกด้วย

รวมถึงยังจัดให้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายทรัพย์สิน เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2551 โดยไม่สนใจรายงานการตรวจสอบทางเทคนิคในพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันของบริษัท PT.Peninsular Management Services (เป็นบริษัทของ PTTGE) ได้จัดทำ โดยระบุว่า พื้นที่ของ PT.SHS มีจำนวน 22,500 เฮกตาร์ เพาะปลูกได้ 17,141 เฮกตาร์ 13,189 เฮกตาร์ มีข้อจำกัดในการปลูกแต่ยังสามารถพัฒนาได้ ส่วนพื้นที่อีก 5,300 เฮกตาร์ ไม่เหมาะแก่การปลูกปาล์มน้ำมัน

ขณะที่การดำเนินธุรกิจของ PT.SHS ไม่เป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่ดี ไม่มีประสบการณ์หรือความเชี่ยวชาญในดินพรุพื้นที่เพาะปลูกหลายบริเวณของโครงการเป็นที่ดินที่มีแร่ไพไรท์ซึ่งมีพิษอย่างรุนแรงทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกสูงกว่าปกติ รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง มีปัญหาดินเสื่อมสภาพ และการดำเนินโรงสกัดน้ำมันปาล์มไม่คุ้มค่าที่จะประกอบธุรกิจในระยะยาวหากไม่มีผลผลิตจากภายนอกโครงการป้อนเข้าสู่โรงสกัด เพราะปริมาณผลผลิตจากโครงการ PT.SHS ไม่เพียงพอที่จะใช้

การกระทำของนายนิพิฐทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTTGE เสียหายในโครงการที่ 2, 3 รวม 161,498,459 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทย 5,248,699,946 บาท

นี่คือพฤติการณ์และความเสียหายทั้งหมด 3 โครงการแรก ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTTGE ระบุไว้ในคำฟ้องต่อ “นิพิฐ”

ซึ่งมีการระบุไว้ชัดเจนหลายครั้งว่า เป็นเพราะ “จงใจหรือประมาทเลินเล่อ” รวมถึงมี “การกระทำอันเป็นการทุจริต” อีกด้วย !

ส่วนพฤติการณ์และความเสียหายอีก 2 โครงการที่เหลือจะเป็นอย่างไร ? โปรดติดตามตอนต่อไปเร็ว ๆ นี้

อ่านประกอบ :
บอร์ด ปตท.มีมติไล่ออก"บิ๊ก"ปมปลูกปาล์มอินโดฯเจ๊ง2หมื่นล.-สผ.ดองข้ามปี
ปตท.ระทึก!อนุฯ ป.ป.ช.พบปมซื้อที่ดินปลูกปาล์ม ปท.อินโดฯ เล็งชี้มูล 2 โครงการ
ป.ป.ช.พบตัวละครคดีข้าวจีทูจีโยงซื้อขายมันเส้น!-สอบปตท.ปมปลูกปาล์มในอินโดฯ