เปิดพฤติกรรม 4 ‘ขรก.-บิ๊ก’พันคดี 4.3 พันล. สังเวยคมดาบ“ประยุทธ์”-ไร้ชื่อ 13 คน
ไล่เรียงคน !ย้อนดูพฤติกรรม 4 ขรก.กรมสรรพากร พัวพันคดีคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 พันล. จาก “มานิตย์ -พายุ-ศุภกิจ-สาธิต” ก่อน สังเวยคมดาบ ม.44 นายกฯประยุทธ์ ชื่อหายปริศนา 13 คน
ในจำนวนข้าราชการ 24 ราย (จากทั้งสิ้น 45 ราย) ที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)มีคำสั่งที่ 16/2558
“ระงับการปฏิบัติราชการในตําแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราวและไปปฏิบัติราชการในตําแหน่งประจําสํานักงานปลัดกระทรวงในกระทรวงที่สังกัดโดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิมและให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดมอบหมาย ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งให้ผู้นั้นไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นการชั่วคราวก็ได้ นายกรัฐมนตรีอาจมีคําสั่งเปลี่ยนแปลงคําสั่งข้อนี้ได้ตามที่เห็นสมควร”
(อ่านประกอบ:นายกฯใช้ ม.44 เชือดยกลอต"บิ๊กขรก. ล้าง ก.ท่องเที่ยว-นักการเมืองท้องถิ่น 45 ราย )
มีข้าราชการ กระทรวงการคลัง 6 ราย คือ
(1) นายสาธิต รังคศิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง
(2) นายป้อมเพชร วิทยารักษ์ ผู้เชี่ยวชาญประจําภาค 7 (ตำแหน่งเดิม นักวิชาการสรรพากร สำนักงานสรรพากรภาค 4-7 พ.ย.56 )
(3) นายศุภกิจ ริยะการ หรือชื่อใหม่ (นายสิริพงษ์ รยะการธีโชติ) สรรพากรพื้นที่นราธิวาส จังหวัดนราธิวาส อดีต สรรพาพรพื้นที่ 22 บางรัก กรุงเทพฯ (ถูกไล่ออกจากราชการแล้ว)
(4) นายพายุ สุขสดเขียว สรรพากรพื้นที่ปัตตานีจังหวัดปัตตานี (อดีตสรรพากรพื้นที่ สมุทรปราการ)
(5 ) นายมานิตย์ พลรัตน์ สรรพากรอําเภอ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเมืองตาก จังหวัดตาก
(6) นายราฆพ ศรีศุภอรรถ ผู้ตรวจราชการกระทรวง (อดีตอธิบกรมศุลกากร)
จากการตรวจสอบพบ 4 รายใน 5 ราย เกี่ยวพันกับคดีทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่ม 4.3 ล้านของกรมสรรพากรซึ่งตกเป็นข่าวอื้อฉาวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
เรียบเรียงข้อมูลได้ดังนี้
1.นายสาธิต รังคศิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง เคยเป็นอธิบดีกรมสรรพากรในยุคที่เกิดคดีทุจริตคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม และเคยถูกนายศุภกิจ ริยะการ สรรพากรพื้นที่บางรักขณะนั้นอ้างในบันทึกความเห็นซึ่งเป็นหนังสือเวียนภายในว่า
“ท่านอธิบดีได้แจ้งให้ที่ประชุมคราวตรวจเยี่ยม สท.22 ให้คืนได้ทันทีเมื่อผลการตรวจไม่พบประเด็นความผิด โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 6 เดือน”
บันทึกความเห็นฉบับนี้เกิดขึ้นภายหลังจาก นางชนาทิพย์ วีรสืบพงศ์ และคณะผู้ตรวจราชการสำนักมาตรฐานการกำกับและตรวจสอบภาษี เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 เพื่อสุ่มตรวจสำนวนการตรวจสอบภาษี รับฟังปัญหา ข้อเสนอแนะและให้คำแนะนำทางการแก้ไขปัญหาในการปฏิบัติงาน นางชนาทิพย์มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ชะลอการคืนภาษีช่วง 6 เดือนภาษีแรกไว้ก่อน แม้ว่าผลการตรวจจะกลับมาก่อนครบ 6 เดือนก็ตาม
2.นายศุภกิจ ริยะการ หรือชื่อใหม่ (นายสิริพงษ์ รยะการธีโชติ) สรรพากรพื้นที่นราธิวาส จังหวัดนราธิวาส อดีต สรรพาพรพื้นที่ 22 บางรัก กรุงเทพฯ (ถูกไล่ออกจากราชการเมื่อ)ที่เกิดความเสียหาย 2.8 พันล้าน และถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนคดีมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ 40 ล้านบาท
3.นายพายุ สุขสดเขียว สรรพากรพื้นที่ปัตตานีจังหวัดปัตตานี อดีตสรรพากรพื้นที่สมุทรปราการพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการมีความเสียหายรองลงมา 1,135 ล้านบาท ขณะเกิดเหตุมีนายพายุ สุขสุดเขียว สรรพากรพื้นที่สมุทรปราการ 1 ผู้บริหารระดับ 9 เป็นผู้รับผิดชอบ
จากการตรวจสอบพบว่าพื้นที่นี้ได้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้บริษัทกลุ่มนายวีระยุทธ แซ่หลก อย่างน้อย 5 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัท ฟรีไทม์ ค้าโลหะ จำกัด 2.บริษัท เอ็นอีเอ โลหะการค้า จำกัด 3.บริษัท บีบีรีไซเคิล จำกัด 4.บริษัท บีบีกรุ๊ป วัน จำกัด 5.บริษัท บีบีบิ๊ก จำกัด รวม 5 บริษัท 650.8 ล้าน บาท
ต่อมาหลังจากถูกตรวจสอบพบว่ามีการทุจริต นายพายุเป็นผู้ทำหนังสือถึงหัวหน้าสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดสมุทรปราการขอให้ระงับการจดทะเบียนเลิกบริษัทดังกล่าวในเวลาต่อมาอีกด้วย
4.นายมานิตย์ พลรัตน์ สรรพากรอําเภอ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเมืองตาก จังหวัดตาก
ขณะนั้นเป็น นักตรวจสอบภาษีชำนาญการพิเศษ (หัวหน้าทีมกำกับดูแล ก06) ซึ่งปรากฎชื่อเป็นผู้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักบริการข้อมูลธุรกิจ 4 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ขอให้ระงับการรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีบริษัท 30 บริษัทเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2556 ซึ่งทีมกำกับดูแลทีม ก06 มีเจ้าหน้าที่ ทั้งหมด 6 คน มีหัวหน้าทีมย่อย 2 คน คือ นางสาวกรพินธุ์ ปิ่นมี หัวหน้าทีมย่อย และนางสาวจารุณี ฉิมคล้าย หัวหน้าทีมย่อย และมีเจ้าหน้าที่ในทีมย่อยอีก 4 คน
ส่วนราย นายป้อมเพชร วิทยารักษ์ เดิมเป็นนักวิชาการสรรพากร สำนักงานสรรพากรภาค 4 ต่อมาถูกคำสั่งปลัดกระทรวงการคลัง ย้ายเป็น ผู้เชี่ยวชาญประจําภาค 7 เมื่อ 7 พ.ย.56 (คำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1477/2556 จำนวน 76 ราย) ไม่มีข้อมูลว่าเกี่ยวพันกับคดีคืนภาษีหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งออกมีนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการฯเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2556 สรุปผลในเบื้องต้นว่ามีเจ้าหน้าที่อาจจะเกี่ยวข้อง จำนวน 18 ราย แบ่งเป็นข้าราชการอำนวยการระดับสูง ซี 9 จำนวน 4 ราย และ ข้าราชการระดับปฏิบัติงานอีกจำนวน 14 ราย
ถ้าใช้จำนวนดังกล่าวเป็นฐาน ข้อมูล เท่ากับยังมีข้าราชการกรมสรรพากรที่ไม่ปรากฏชื่อในคำสั่งตาม ม.44 ของหัวหน้า คสช.อีกประมาณ 13 ราย