logo isranews

logo small 2

เบื้องหลัง! ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 ล้างบาง "ก.ศึกษาฯ -คุรุสภา-สกสค."

"...การบริหารงานของ คุรุสภา ซึ่งเกี่ยวกับข้องกับการออกใบอนุญาตควบคุมกำกับดูแลครู และ  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานด้านสิทธิประโยชน์ของครู ถูกมองว่าเป็นแดนสนธยา มาโดยตลอด เพราะมีอำนาจในการบริหารงานที่แยกเป็นเอกเทศ โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณ การแก้ไขโครงสร้างการบริหารงานใหม่ โดยให้รัฐมนตรี เข้าไปกำกับดูแล ก็เพื่อให้กระบวนการตรวจเรื่องการใช้จ่ายเม็ดเงินในช่วงที่ผ่านมา และช่วงต่อไป ทำงานได้ง่ายขึ้น..."  

puydfeewwww

ในช่วงหัวค่ำวันที่ 17 เม.ย.58 ที่ผ่านมา นอกเหนือจาก "คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2558 เรื่อง การกำหนดตำแหน่งเพิ่มและการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่ง ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การ โยกย้ายตำแหน่งข้าราชการระดับสูงในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 6 คนรวด (รวมถึงตำแหน่งปลัดกระทรวงด้วย ) 

โดยระบุเหตุผลชัดเจนว่า  เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปประเทศตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 

บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนว่า มาตรา 44 ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างเต็มที่แล้ว ในประเด็นเรื่องการสั่งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง โดยเริ่มต้นประเดิมที่กระทรวงศึกษาธิการ เป็นแห่งแรก 

(อ่านประกอบ : เด้งปลัดก.ศึกษา!"บิ๊กตู่"ประเดิมใช้ม.44 โยกย้ายขรก.ระดับสูง 6 คนรวด)

ยังมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อีกฉบับหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างอำนาจการบริหารงานขององค์กรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ 3 แห่ง ออกตามมาพร้อมๆ กัน

และดูเหมือนคำสั่งฉบับนี้ จะพุ่งเป้าไปที่เรื่องการตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ของกระทรวงศึกษา โดยเฉพาะ 

คำสั่งฉบับนี้ คือ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 7/2558 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา 

ระบุว่า เพื่อให้การปฏิรูปการศึกษาและการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการมีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปประเทศตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

"ข้อ ๑ ให้บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งต่อไปนี้อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง

(๑) กรรมการคุรุสภาตามมาตรา ๑๒ (๑) (๓) (๔) และ (๕) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖

(๒) กรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามมาตรา ๖๔ (๓)และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖

(๓) กรรมการในคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา

ทั้งนี้ มิให้มีการแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาแทนที่ผู้ดำรงตำแหน่งข้างต้นจนกว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ข้อ ๒ ให้คณะกรรมการคุรุสภาตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและหัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการคุรุสภาเป็นเลขานุการ

ข้อ ๓ ให้คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษาประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเลขาธิการคุรุสภา และเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาเป็นกรรมการและเลขานุการให้คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาปฏิบัติหน้าที่แทนคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย

ข้อ ๔ ในกรณีที่เห็นสมควร หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอาจมีคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการตามข้อ ๒ และข้อ ๓ ได้ตามความเหมาะสม

ข้อ ๕ ให้บุคคลซึ่งดำรงตำแหน่งต่อไปนี้อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับหยุดการปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนจนกว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

(๑) เลขาธิการคุรุสภา
(๒) เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา
(๓) ผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู
และบุคลากรทางการศึกษา

ข้อ ๖ ในระหว่างที่บุคคลตามข้อ ๕ หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณามอบหมายให้รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการในระดับเดียวกันขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตามข้อ ๕ ไปพลางก่อน

ข้อ ๗ ให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๔๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตรวจสอบความถูกต้องและโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารการเงินทรัพย์สิน และผลประโยชน์อื่นใด ของคุรุสภา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา และองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมทั้งตรวจสอบการดำเนินโครงการที่สำคัญภายใต้การดำเนินงานของบุคคลตามข้อ ๑ และข้อ ๕ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แล้วรายงานผลการตรวจสอบให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบโดยเร็ว

ข้อ ๘ เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้วให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการตามข้อ ๑ ตามกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา และเมื่อได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ให้คำสั่งนี้เป็นอันยกเลิก

ข้อ ๙ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑๖ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๘

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ" 

หากจะย้อนข้อมูลการทำงานของ คณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ในช่วงที่ผ่านมา

จะพบว่าองค์กรทั้ง 3 แห่ง ประสบปัญหาถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่โปร่งใสหลายเรื่อง อาทิ การเรียกรับเงินจากผู้เข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้แทนคุรุสภา , กรณีการจัดซื้อจัดจ้างเช่าเครื่องพิมพ์หนังสือเรียน ที่ล่าช้าและมีราคาสูงกว่าราคากลางมาก รวมถึงกรณีการรับฝากขายหนังสือจากบริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่ง

และล่าสุด กับกรณีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งถูกร้องเรียนว่ามีการอนุมัติเงินกองทุนกว่า 2 พันล้านบาท ไปร่วมลงทุน ทำโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กับ บริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด ของนายสัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา หรือ เดอะบิ๊ก  นักธุรกิจชื่อดัง โดยไม่ถูกต้อง

และปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ทั้งนี้ หากพิจารณารายละเอียดในคำสั่ง ซึ่งมีการระบุไว้ชัดเจนว่า ให้ เลขาธิการคุรุสภา , เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ,  ผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครู
และบุคลากรทางการศึกษา หยุดการปฏิบัติหน้าที่ไปก่อนจนกว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น 

พร้อมสั่งการให้ คตร. เข้ามาตรวจสอบถูกต้องและโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ การบริหารการเงินทรัพย์สิน และผลประโยชน์อื่นใด ของ องค์กรทั้ง 3 แห่ง รวมถึงตรวจสอบการดำเนินโครงการที่สำคัญภายใต้การดำเนินงานของบุคคลเหล่านี้ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ชี้ให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะต้องมีข้อมูล ความไม่ชอบมาพากล ขององค์กร ทั้ง 3 แห่ง อยู่ในระดับหนึ่ง และข้อมูลอาจจะมีความเชื่อมโยงไปถึงตัวของผู้บริหารของบางองค์กรด้วย จึงทำให้ต้องมีการออกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เพื่อไม่ให้มีอำนาจเข้ามียุ่งเกี่ยวกับกระบวนการตรวจสอบของ คตร.

ขณะที่ การบริหารงานของ คุรุสภา ซึ่งเกี่ยวกับข้องกับการออกใบอนุญาตควบคุมกำกับดูแลครู และ  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับงานด้านสิทธิประโยชน์ของครู ถูกมองว่าเป็นแดนสนธยา มาโดยตลอด เพราะมีอำนาจในการบริหารงานที่แยกเป็นเอกเทศ โดยเฉพาะการใช้จ่ายงบประมาณ การแก้ไขโครงสร้างการบริหารงานใหม่ โดยให้รัฐมนตรี เข้าไปกำกับดูแล

เพื่อให้กระบวนการตรวจเรื่องการใช้จ่ายเม็ดเงินของทั้ง 3 องค์กร ในช่วงที่ผ่านมา และช่วงต่อไป ทำงานได้ง่ายขึ้น     

ส่วนผลการปฏิบัติงานหลังการออกคำสั่ง คสช. ในส่วนของกระทรวงศึกษาฯ จะออกมาเป็นอย่างไร "ใคร" ที่จะต้องถูกเชือดไก่ ให้ลิงดู เป็นรายแรก กับปฏิบัติการใช้อำนาจมาตรา 44 ล้างขั้วอำนาจเก่า รวมถึงการสะสางปัญหาทุจริต ครั้งนี้ ยังไม่มีใครบอกได้ชัดเจน 

แต่เบื้องต้น มีกระแสข่าวยืนยันจากทำเนียบรัฐบาล ยืนยันออกมาว่า  ในช่วงก่อนที่จะมีการออกคำสั่งคสช. ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 2 ฉบับ ออกมา 

พล.อ.ประยุทธ์ ได้เชิญตัวแทน จากหน่วยงานด้านตรวจสอบ อาทิ สำนักงาน ปปท. และ สตง. เข้าไปหารือ เกี่ยวกับรายชื่อของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 100 คน ที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น   

โดยเบื้องต้น พล.อ.ประยุทธ์ มีนโยบายว่าบรรดารายชื่อ ที่ถูกเสนอมา จะมีการใช้มาตรการโยกย้ายให้ออกไปจากตำแหน่งก่อน และให้หน่วยงานเข้าไปตรวจสอบหาหลักฐานการกระทำความผิดที่ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อให้ปฏิบัติการครั้งนี้ ไม่ให้ถูกโจมตีว่าเป็นการใช้อำนาจมากเกินไป

และปล่อยให้กระบวนการตรวจสอบได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่

ผู้ถูกกล่าวหา จะไปร้องเรียน "กล่าวโทษ" ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ทำได้ยากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากจำนวนรายชื่อ ขรก. 100 คน ที่ถูกคัดกรองมาในระดับหนึ่ง ที่อยู่ในมือของพล.อ.ประยุทธ์ เวลานี้  ซึ่งมีทั้งจากหน่วยงานในส่วนกลาง -ต่างจังหวัด รวมถึงรูปแบบวิธีการจัดการปัญหาทั้งระบบ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่บรรดาข้าราชการระดับสูง ในกระทรวงใหญ่หลายแห่ง รวมถึงในระดับจังหวัด  ถึงกับออกอาการเก้าอี้ร้อนนั่งไม่ติด รีบเช็คข่าวกันเป็นมือระวิง

เพราะเริ่มพอจะเห็น "ชะตา" "รู้อนาคต" กันแล้วว่า "มหันตภัย" จาก "กรรมเก่า" ที่เคยทำไว้ในอดีต กำลังจะเดินทางมาถึงตัวในเร็วๆ นี้ 

-------------

รายชื่อคณะกรรมการคุรุสภา ,คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา  ที่ถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง จากคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 7/2558

@ คณะกรรมการคุรุสภา 

d

d1

d2

 

d3

d4

d5

d6

d7

d8

@ คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา 

นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  ประธานกรรมการ สกสค.

รศ.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา กรรมการ สกสค.

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กรรมการ สกสค.

รศ. กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา  กรรมการ สกสค.

นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรรมการ สกสค.

นายอำนาจ สุนทรธรรม เลขาธิการคุรุสภา  กรรมการ สกสค.

นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรรมการ สกสค.

นายบัวเรียน อโรคยนันท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านสวัสดิการสังคม)

นายถวิล น้อยเขียว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  (ด้านบริหารธุรกิจ)

ผศ.ชวลิต สันถวะโกมล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ  (ด้านกฎหมาย)

นายวาสนา ไชยศึก สังกัด สพฐ. กรรมการ สกสค.

นายสมศักดิ์ ทองแก้ว สังกัด สพฐ.  กรรมการ สกสค

นายไพโรจน์ เนตรแสง สังกัด สพฐ. กรรมการ สกสค.

นายนเรศ แสนมูล สังกัด สพฐ. กรรมการ สกสค.

นายนิวัต เชื้อนาค สังกัด สพฐ.  กรรมการ สกสค.

ว่าที่ร้อยตรี เทพสุจินต์ พงษ์สวัสดิ์ สังกัด สพฐ.  กรรมการ สกสค.

นายประวิทย์ บึงไสย์ สังกัด สพฐ.  กรรมการ สกสค.

นายจอมขวัญ สุนทรศารทูล สังกัด สพฐ. กรรมการ สกสค.

นายอุดม รูปดี สังกัด อชศ.  กรรมการ สกสค.

นายสำเริง รัชตเศรษฐ์ สังกัด สช. กรรมการ สกสค.

นางปิยธิดา พลน้ำเที่ยง สังกัด สช. กรรมการ สกสค.

นายประโยน วิไลลักษณ์ สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรรมการ สกสค.

นายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.