logo isranews

logo small 2

แง้มห้องประชุมไทยพีบีเอส! ล้วงเหตุผลเปลี่ยนตัวพิธีกรปกป้อง"ณาตยา"

เขียนวันที่
วันเสาร์ ที่ 15 พฤศจิกายน 2557 เวลา 12:40 น.
เขียนโดย
isranews

 ".. เหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนตัว น.ส.ณาตยา ออกจากการทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ "เสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนการปฏิรูป" เป็นเพราะเราต้องการจะเซฟความปลอดภัยให้กับน.ส.ณาตยา ก่อนเป็นอันดับแรก เพราะการข่มขู่ของทหารพุ่งเป้าไปที่ตัวน.ส.ณาตยา และคนในครอบครัวโดยตรง.."

wddddddvvv

และแล้วสังคมไทย ก็ได้รับทราบท่าทีที่ชัดเจน ของ "ไทยพีบีเอส" สื่อสาธารณะ ของประเทศไทย ต่อกรณีนายทหารกลุ่มหนึ่ง นำโดยนายทหารยดศ พันเอก ตัวย่อ "ส." ตบเท้าเดินทางเข้าพบฝ่ายบริหารของไทยพีบีเอส เพื่อเรียกร้องขอให้เปลี่ยนตัวพิธีกร ผู้ดำเนินรายการ "เสียงประชาชนต้องฟังก่อนปฎิรูป"จาก น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ เป็นคนอื่น

เนื่องจากไม่พอใจกับวิธีการตั้งคำถามของ น.ส.ณาตยา ซึ่งมีเนื้อหาพาดพิงการรัฐประหารร่วมอยู่ด้วย ในการอัดรายการ "ฟังเสียงคนใต้ก่อนการปฏิรูป" ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และมีการเผยแพร่ออกอากาศไปเมื่อวันที่ 8 พ.ย.57 ที่ผ่านมา ว่าเป็นอย่างไร?

ภายหลังจากที่บอร์ดนโยบายไทยพีบีเอส ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันจุดยืนต่อกรณีนี้ ออกมาในช่วงค่ำวันที่ 14 พ.ย.2557 ที่ผ่านมา ในหลายประเด็นไม่ว่าจะเป็นการยืนยันรักษาความเป็นอิสระในการทำหน้าที่สื่อมวลชน , การสนับสนุนคณะกรรมการบริหาร ส.ส.ท.ในการสื่อสารกับคณะนายทหารที่เข้าพบเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันถึงบทบาทของสื่อสาธารณะและจุดมุ่งหมายของรายการ

พร้อมยืนยันว่า การทำหน้าที่ของ น.ส.ณาตยา เป็นไปตามหลักวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล จึงสนับสนุน น.ส.ณาตยา ในบทบาทผู้ดำเนินรายการของโครงการดังกล่าวตลอดมา

(อ่านประกอบ : บอร์ดไทยพีบีเอส อ้างหนุน"ณาตยา"ทำหน้าที่สื่อ แต่ยอมเปลี่ยนตัว "พิธีกร")

แต่สิ่งที่สวนทางกันในเนื้อหาคำแถลงการณ์ดังกล่าว คือ คณะกรรมการนโยบายฯ ยินยอมให้มีการปรับเปลี่ยนผู้ดำเนินรายการเป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้กระทบต่อโครงการเวที 4 ภาค"เสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนการปฏิรูป"

แปลความง่ายๆ ก็คือ ยอมที่จะเปลี่ยนตัว น.ส.ณาตยา ออกจากการทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการนี้ไป 

ด้วยท่าทีของบอร์ดนโยบายไทยพีบีเอสที่ออกมา ซึ่งมีลักษณะชวนให้คิดได้ว่ามี "จุดยืนไม่เต็มเท้า" แบบนี้  

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่คนในสังคม จะยิ่งตั้งคำถามต่อจุดยืนนโยบายสื่อสาธารณะของไทยพีบีเอสมากขึ้น ต่อกรณีนี้ 

อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวกับเนื้อหาและบทสรุปมติในห้องประชุมของคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ต่อกรณี น.ส.ณาตยา ในช่วงสายวันที่ 14 พ.ย.2557 ก่อนที่จะมีการออกแถลงการณ์ในช่วงเย็นวันเดียวกัน

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำมาเสนอให้เห็นภาพแบบชัดเจนกันอีกครั้ง ไล่เลียงข้อเท็จจริงจากประโยคคำพูด ของผู้เข้าร่วมการประชุมรายหนึ่ง ดังต่อไปนี้

เหตุผลที่ยอมให้เปลี่ยนตัว น.ส.ณาตยา 

"เหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนตัว น.ส.ณาตยา ออกจากการทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ "เสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนการปฏิรูป" เป็นเพราะคณะกรรมการนโยบายฯ ต้องการจะเซฟความปลอดภัยให้กับน.ส.ณาตยา ก่อนเป็นอันดับแรก

"เพราะการข่มขู่ของทหารพุ่งเป้าไปที่ตัวน.ส.ณาตยา และคนในครอบครัวโดยตรง "

"เราจำเป็นต้องให้น.ส.ณาตยา เว้นชื่อจากการทำหน้าที่ไปสักระยะ เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้ ฝ่ายเขาจะคิดหรือทำอะไรบ้าง"

(อ่านประกอบ : "พันเอก"อ้างคำสั่ง"นาย"ตบเท้าบีบThaiPBSถอด "ณาตยา-รายการเสียงปชช." )

ไทยพีบีเอส ยังสนับสนุนการทำหน้าที่สื่อของ น.ส.ณาตยา 

"ไทยพีบีเอส ยังสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่สื่อของ น.ส.ณาตยา อยู่เหมือนเดิม"

"เพียงแต่อยากให้เธอ สบายใจ ไม่กังวลใจอะไรมากขึ้น เพราะคำพูดของทหารที่ส่งไปถึงเธอ ซึ่งมีลักษณะเข้าข่ายการข่มขู่ พาดพิงไปถึงญาติพี่น้องด้วย"

"เราต้องการให้เธอปลอดภัยจากเรื่องนี้มากที่สุด เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม สถานการณ์คลี่คลายลงไป เธอก็กลับมาทำงานได้ตามปกติ"

(อ่านประกอบ : เบื้องหลัง!บทสนทนา "ทหาร"บีบผู้บริหารไทยพีบีเอสสะดุ้ง-"ณาตยา"ถอนตัว!)

นโยบายของไทยพีบีเอสต่อกรณีนี้ 

"การทำงานของคณะกรรมการนโยบาย เราดูภาพรวมเป็นหลัก"

"สถานการณ์ขณะนี้มันสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของรายการ"เสียงประชาชนที่ต้องฟังก่อนการปฏิรูป" ที่ควรจะต้องมีอยู่ต่อไป เพราะมันเป็นประโยชน์ต่องานปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญของประชาชนคนไทย"

"ถ้ารายการนี้ถูกปิดไป คนที่เสียหายก็ไม่ใช่ใครแต่เป็นประชาชนเอง"

การสื่อสารกับฝ่ายทหาร 

"การสนับสนุนให้ฝ่ายบริหาร ไปพูดคุยกับฝ่ายทหาร เพื่อสื่อสารให้เข้าใจถึงการทำหน้าที่สื่อสาธารณะนั้น เนื่องจากเราได้รับรายงานข้อมูลว่า มีทหารจำนวน 3-4 คน เดินทางเข้ามาพบผู้บริหารถึงสถานี และก็มีอ้างคำสั่ง "นาย" เราจึงคิดว่า ฝ่ายทหารอาจจะไม่เข้าใจการทำหน้าที่สื่อสาธารณะดีพอ จึงคิดว่าฝ่ายบริหารน่าจะไปพูดคุยทำความเข้าใจสื่อสารให้เข้าใจข้อมูลตรงกันได้"

"ส่วนนายทหารยศ.พันเอก ที่เป็นผู้นำกลุ่มทหารที่เข้ามาพูดคุยเป็นใครนั้น คณะกรรมการนโยบายยังไม่ได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจน รวมถึง "นาย" ที่นายทหารกลุ่มนี้ อ้างว่าได้รับคำสั่งมาด้วย เนื่องจากผอ.ไทยพีบีเอส อยู่ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ ต้องรอฟังข้อมูลจากผอ.ไทยพีบีเอสอีกครั้ง"

ความกังวลเรื่องการถูกตัดงบประมาณ  

"เรื่องคำขู่ในการตัดงบประมาณของไทยพีบีเอส คณะกรรมการฯ ไม่ได้รับรายงานข้อมูลชัดเจนว่า ในช่วงที่นายทหารกลุ่มนี้ เดินทางมาพบมีการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดหรือไม่ แต่เรื่องตัดงบประมาณเป็นสิ่งที่เราก็ยินข่าวกันมานานแล้ว ว่า จะมีการปรับลดงบเพื่อไปทำอย่างอื่น เราก็กำลังสืบข้อมูลกันอยู่เหมือนกัน แต่ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนออกมา"

"แต่สิ่งที่อยากให้สังคมเข้าใจการทำหน้าที่ของบอร์ดนโยบายไทยพีบีเอสคือ เราทำงานโดยมองภาพจากที่สูงลงมา เพื่อให้เห็นภาพกว้างมาก เหมือนมุมมองของนกที่มองลงมา"

"สิ่งที่เราบอกไปในแถลงการณ์คือการตัดสินใจที่เหมาะสมและดีต่อสถานการณ์ที่สุดแล้ว แต่สิ่งที่มันควรจะเกิดขึ้นในขณะนี้ คือ องค์กรสื่อต่างๆ ควรจะออกมาแสดงท่าทีที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ด้วย หากเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร โดยเฉพาะการใช้อำนาจของทหารในการเข้ามาข่มขู่และคุกคามเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน"

ทั้งหมดนี่ คือ เนื้อหาและบทสรุปมติในห้องประชุมของคณะกรรมการนโยบายไทยพีบีเอส ต่อกรณี น.ส.ณาตยา ในช่วงสายวันที่ 14 พ.ย.2557 ก่อนที่จะมีการออกแถลงการณ์ในช่วงเย็นวันเดียวกัน

และเป็นที่มาของการประกาศจุดยืนให้สังคมไทยรู้ว่า "ไทยพีบีเอส" สื่อสาธารณะของไทย มีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่สื่อมวลชนมากน้อยเพียงใด

แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุด คือ ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็น ของสื่อมวลชน ที่คอยทำหน้าที่เป็นกระจกเงา สะท้อนภาพการทำงานด้านการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล อย่างตรงไปตรงมา

แต่กลับถูกนายทหารกลุ่มหนึ่ง ซึ่งไม่ทราบว่าเป็น "ใคร" อ้างคำสั่งของ "นาย" คนไหนก็ไม่ทราบ เที่ยวเข้าไปไล่ข่มขู่คุกคาม ทั้งตัวสื่อเอง และลามปามไปถึงคนในครอบครัว ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรด้วยเลย 

พฤติกรรมและการกระทำของทหารลักษณะนี้ สมควรที่จะเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ 

โดยเฉพาะภายใต้การบริหารยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่อ้างว่ากำลังปฏิบัติภารกิจสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย ให้หลุดพ้นจากวิกฤตความขัดแย้ง สร้างความเป็นธรรม คืนแผ่นดินอันงดงาม ให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศตามที่ให้สัญญาไว้

และเคยออกคำสั่งคสช.ชัดเจนว่า การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ หากมีปัญหาไม่ถูกต้องไม่ตรงไปตรงมา จะให้องค์กรสื่อตรวจสอบและจัดการกันเอง? 

คำถามที่น่าสนใจ ที่มองเห็นชัดเจนต่อกรณีนี้ คือ ภายใต้กระบวนการคิดและวิธีการทำงานของ"ทหาร" แบบที่ "นายทหารกลุ่มนี้" แสดงออกมา

วิพากษ์วิจารณ์ แตะต้องอะไรไม่ได้ ต้องก้มหน้ารับฟังและปฏิบัติตามอย่างเดียว ไม่ทำตามเจอลงโทษ ทั้งตัวเอง คนในครอบครัว ก็โดนด้วย  

เราจะปฏิรูปประเทศไทยให้ดีขึ้นกันได้ใหม่จริงๆ หรือ? 

(อ่านประกอบ : โฆษกทบ.เพิ่งรู้!ทหารบีบ TPBS ถอด "ณาตยา"-ยันคสช.ไม่ได้สั่งปล่อยทำกันเอง)

หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก mediainsideout.net