พลิกปูม“จอน-นคร-ต่อพงศ์” ทำไม“สุภิญญา”ตั้งเป็นที่ปรึกษาประจำตัว?
พลิกปูมประวัติ 3 ที่ปรึกษา “สุภิญญา” กรรมการ กสทช. “จอน” อดีตบอร์ดไทยพีบีเอส-ส.ว.กรุงเทพฯ “นคร” ทนายความคดีโดนชินคอร์ปฟ้อง 400 ล้าน “ต่อพงศ์” นักเคลื่อนไหวเพื่อผู้พิการทางสายตา
“คุณสุภิญญา มีที่ปรึกษา 3 คน ผมเองในฐานะเคยทำงานเป็นเอ็นจีโอมาด้วยกัน และผมก็เคยเป็นบอร์ดของไทยพีบีเอส มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องของบอร์ดแคสคิ้งอยู่ และผมเคยทำงานเรื่องสื่อพอสมควร ส่วนคุณนคร ชมพูชาติ เป็นนักกฎหมาย จะให้คำปรึกษาในประเด็นกฎหมาย ส่วนคุณต่อพงศ์ เสลานนท์ เป็นนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิคนพิการ และการเข้าถึงสื่อของผู้พิการ”
เป็นคำตอบของนายจอน อึ้งภากรณ์ ต่อข้อสงสัยที่ว่าเหตุใด น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เลือกเข้ามาเป็น 1 ใน 3 ที่ปรึกษา
(อ่านประกอบ : "ใจ"หยาม "จอน" นั่งที่ปรึกษา "กสทช." รับค่าตอบแทน 1.2 แสน/ด.)
ท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชนต่อการให้ค่าตอบแทนแก่ที่ปรึกษา กสทช. ด้วยจำนวนเงินที่สูงถึงระดับ 100,000 – 120,000 บาท/คน/เดือน
(อ่านประกอบ : รายชื่อ 31“ที่ปรึกษา”กสทช.รับค่าตอบแทน 100,000-120,000 บาท/เดือน)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลการทำงานของที่ปรึกษาน.ส.สุภิญญาทั้ง 3 คน พบรายละเอียดเบื้องต้น ดังนี้
1.นายจอน อึ้งภากรณ์
นายจอน บุตรชายของศ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ และพี่ชายของนายใจ อึ้งภากรณ์ ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เคยเป็นอดีตกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กรุงเทพมหานคร
โดยนายจอนเติบโตมาจากการทำงานเพื่อสังคมภายใต้โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม (มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม) แห่งเดียวกับน.ส.สุภิญญา หลังจากนั้นได้ก่อตั้งมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เพื่อต่อสู้เรื่องปัญหารังเกียจและเข้าใจผู้ป่วยเหล่านี้ผิด ต่อมาในปี 2543 ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ว.กรุงเทพฯ และได้เป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา และในปี 2547 ได้รวมกลุ่มกับเพื่อก่อตั้งหนังสือพิมพ์ออนไลน์อิสระ “ประชาไท”
2.นายนคร ชมพูชาติ
นายนคร ทนายความ และนักกฎหมายอิสระ อดีตรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความ อดีตบอร์ดไทยพีบีเอส เริ่มต้นงานจากการได้รับการชักชวนจากนายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เข้ามาช่วยทำคดีนายเทพชัย หย่อง ผู้บริหารงานข่าวไอทีวี (ขณะนั้น) กรณีกลุ่มชินคอร์ปเข้ามาครอบงำกิจการของไอทีวีและสั่งให้ถอดถอนนายเทพชัย
ส่วนความสัมพันธ์กับน.ส.สุภิญญานั้น นายนคร เคยเป็นผู้รับทำคดีน.ส.สุภิญญา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) (ขณะนั้น) กรณีถูกชินคอร์ปฟ้องหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 400 ล้านบาท กรณีให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลประโยชน์ทับซ้อนของพ.ต.ท.ทักษิณ และคดีนี้สิ้นสุดลงที่น.ส.สุภิญญา ชนะคดี
3.นายต่อพงศ์ เสลานนท์
นายต่อพงศ์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส
ทั้งนี้นายต่อพงศ์ เป็นผู้พิการทางสายตาตั้งแต่อายุ 16 ปี หลังจากนั้นได้เข้าเป็นนักกิจกรรมคอยขับเคลื่อนสังคมในประเด็นสิทธิมนุษยชน และสิทธิของผู้พิการ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเทียบเท่าคนปกติ
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเบื้องต้นที่ปรึกษาทั้ง 3 รายของน.ส.สุภิญญา ที่ถูกเรียกเข้ามาแก้ไขปัญหาในประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อ ที่น.ส.สุภิญญาเป็นผู้รับผิดชอบ
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมเรื่องเงินค่าตอบแทน ที่สูงถึงหลักแสนบาท/เดือนอยู่ในขณะนี้