ปชช.ร้อง “แท่นบริการน้ำประปาฟรี” ดื่มไม่ได้!! กปน. แอ่นอกรับดูแลไม่ทั่วถึง
ในช่วงปี 2542 นับตั้งแต่ที่การประปานครหลวง (กปน.) ได้ริเริ่มโครงการ "น้ำประปาดื่มได้" ที่มุ่งหวังให้ประชาชนมีความมั่นใจในคุณภาพน้ำประปาว่า ได้มาตรฐานน้ำดื่มองค์การอนามัยโลก โดยติดตั้งจุดบริการน้ำดื่มสาธารณะในโรงเรียน สถานที่ราชการ โรงพยาบาลและศูนย์บริการสาธารณสุขให้ประชาชนรับบริการน้ำดื่มโดยไม่คิดมูลค่า
กระทั่งในปี 2553 กปน.ขยายผลโครงการทำข้อตกลงร่วมกับกรุงเทพมหานคร ติดตั้ง "แท่นน้ำประปาดื่มได้" ในแรกเริ่ม 123 จุด ทั่วกรุงเทพฯ ในงบประมาณกว่า 5 ล้านบาท โดยมีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รับหน้าที่ตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง ถึงปัจจุบันมีการติดตั้งแท่นน้ำประปาดื่มได้อย่างต่อเนื่องในทุกเขตทั่วกรุงเทพฯ รวมแล้วประมาณ 800 จุด
กว่า 3 ปี ของโครงการแท่นน้ำประปาดื่มได้ กับเสียงร้องเรียน และข้อกังขาจากผู้ใช้บริการที่ว่าด้วยเรื่อง 'คุณภาพ' ก๊อกน้ำ ท่อส่งน้ำ น้ำประปา ฯลฯ เป็นอย่างไร ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ กปน.และกทม.วาดฝันเอาไว้หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่สอบถามความเห็นประชาชนผู้ใช้บริการแท่นบริการดื่มน้ำฯ ในหลายเขตพื้นที่ ด้วยคำถามเดียวกันง่ายๆ ...
"คุณใช้บริการแท่นบริการน้ำหรือไม่?" และ "น้ำประปาจากแท่นบริการน้ำ ดื่มได้จริงหรือไม่?"
"ไม่เคยดื่มและไม่คิดที่จะดื่มน้ำจากแท่นบริการน้ำ เคยแต่เอาไว้ใช้ล้างรถ หรือมากที่สุดก็เอามาล้างหน้าแต่ไม่เคยใช้ดื่ม ขอเสียเงินซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดดีกว่าดื่มน้ำประปา เพราะรู้สึกปลอดภัยกว่า" เสียงสะท้อนแรกจาก "ป๊อบ" ชายหนุ่ม อายุ 33 ปี อาชีพขับวินมอเตอร์ไซด์ ริมถนนท่าข้าม บิ๊กซี พระราม 2 เขตบางขุนเทียน ใกล้จุดให้บริการ
เขาบอกต่อด้วยว่า ที่ไม่ดื่มเพราะเห็นว่า ไม่สะอาด เนื่องจากสภาพอากาศประเทศไทยไม่สามารถควบคุม มลพิษทางอากาศได้ดีเท่าไร สังเกตได้จาก 'ฝุ่น' ที่เกาะแท่นน้ำดื่มจำนวนมาก จากที่ได้ส่องดูกลไกของตัวเครื่องแท่นน้ำฯ พบว่า ท่อน้ำต่อตรงถึงก๊อกน้ำโดยไม่มีเครื่องกรองน้ำ จึงทำให้ไม่มั่นใจที่จะดื่มน้ำจากแท่นน้ำฯ
ทั้งนี้ เขายังเห็นว่า ขัดกับวิสัยคนไทย ซึ่งต่างกับต่างประเทศที่เขาดื่มกันเป็นเรื่องปกติ
"คนไทยส่วนใหญ่ขี้อาย ใครจะเดินมาก้มกดน้ำกินกลางสาธารณะอย่างนี้ล่ะ ไม่มีหรอกและไม่เคยเห็นด้วย"
"ป๊อบ" ยังบอกด้วยว่า ตัวแท่นบริการน้ำดื่มควรมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงรูปแบบเสียใหม่ เนื่องจากรูปแบบก๊อกน้ำพุ่งทำให้ดื่มลำบาก ควรเป็นเครื่องกดน้ำแบบปกติทั่วไป และเพิ่มแก้วกระดาษไว้ให้บริการ อาจจะมีคนมาดื่มมากกว่านี้
เมื่อตั้งคำถามเดียวกันกับ "ติ๊ก" อายุ 38 ปี แม่ค้าขายพวงมาลัยในละแวกนั้น บอกว่า เคยดื่ม แต่นานมาแล้ว หากเป็นตอนนี้ ไม่กล้าดื่ม เพราะรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย ได้กลิ่นคลอรีนแรงมาก ทำให้รู้สึกไม่น่าดื่ม อีกทั้ง ไม่นานมานี้ประเทศไทยประสบอุทกภัย อาจทำให้มีน้ำไม่สะอาดไหลปนเปื้อนไปผสมกับน้ำในอ่างเก็บน้ำของการประปานครหลวง
"ปัจจุบันใช้บริการน้ำจากแท่นบริการน้ำ แต่เป็นการนำขวดไปรองมาเก็บไว้ใช้พรมดอกไม้และพวงมาลัย ไม่เคยเห็นว่ามีใครกล้าดื่ม และไม่เคยเห็นว่ามีหน่วยงานเข้ามาดูแลเครื่อง ซึ่งต่างกับตู้น้ำในบริษัทหลายแห่งที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจเช็คเครื่องและคุณภาพน้ำทุกเดือน รวมทั้งยังมีใบบันทึกตารางวันเวลาการตรวจ จึงสร้างความมั่นใจในการบริโภคได้มากกว่า"
สอดคล้องกับความเห็นของนักศึกษารายหนึ่ง ที่บอกว่า ไม่กล้าดื่มน้ำจากแท่นน้ำสาธารณะ เพราะดูสกปรก เนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ในจุดที่คนพลุกพล่านเกินไป บางครั้งรู้สึกว่ากลิ่นคลอรีนแรงมาก กลัวท่อว่าลำเลียงน้ำจะไม่สะอาด ที่สำคัญกลัวว่าจะมีสาร "ไตรฮาโลมีเทน" (THMs) ที่เป็นสารที่มีอยู่ในน้ำ ซึ่งอาจก่อมะเร็งได้
อย่างไรก็ตาม มีประชาชนบางรายที่เลือกดื่มน้ำจากแท่นบริการน้ำ ด้วยเห็นตรงกันว่า ประหยัดค่าใช้จ่าย และไม่รู้สึกว่าการกินน้ำประปาโดยตรงจะทำร้ายร่างกาย ซึ่งหากกลัวสารปนเปื้อนในน้ำ ก็สามารถนำมาต้มน้ำให้เดือดก่อนดื่มได้
ข้อฉงนสงสัย และความวิตกกังวลในคุณภาพแท่นบริการน้ำและคุณภาพน้ำประปาที่ประชาชนยังคิดไม่ตกนี้
เพื่อหาคำตอบว่า น้ำประปาดื่มได้หรือไม่? จะสร้างความเชื่อมั่นและคลายความกังวลให้ผู้ใช้บริการอย่างไร...??
สำนักข่าวอิศรา สอบถามไปยัง เจ้าหน้าที่การประปานครหลวง ต้นเรื่องและในฐานะผู้ติดตามประเมินผล รวมถึงซ่อมบำรุง ได้ข้อมูลว่า แท่นน้ำดื่มสาธารณะ มีการติดตั้งอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีจุดบริการแล้ว 809 จุด ซึ่งทุกจุดได้ติดตั้ง "เครื่องกรองน้ำคาร์บอน" เพื่อกรองทั้งสีและกลิ่นออกทั้งหมด ส่วนหน้าที่การดูแลรักษาแท่นนน้ำดื่มสาธารณะนั้น เป็นของสำนักการประปาประจำสาขา
ด้านคุณภาพน้ำ... นายฉัตรชัย ชาติวัฒนานนท์ หัวหน้าส่วนน้ำประปา กองเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ กปน. ชี้แจงว่า ทุกๆ 6 เดือน ทางการประปานครหลวง จะมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยจะมีทีมงานคอยสุ่มตรวจคุณภาพน้ำในพื้นที่
สำหรับขั้นตอนในการเก็บผลตรวจนั้น จะใช้แอลกอฮอร์ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เช็ดหัวก๊อกเพื่อขจัดฝุ่น หลังจากนั้นจะเปิดน้ำทิ้งราว 1-3 นาที เพื่อไล่น้ำที่ค้างอยู่ในท่อลำเลียงออก จากนั้นจะนำน้ำใส่ขวดที่ได้มีการฆ่าเชื้อ ไปส่งต่อให้กับ นักวิทยศาสตร์ เพื่อตรวจสอบสารเคมีและสิ่งปนเปื้อนในน้ำ ซึ่งปัจจุบันก็ไม่พบปัญหาแต่อย่างใด
ส่วนผู้ที่ไม่บริโภคน้ำประปา เพราะไม่มั่นใจในความสะอาดของตัวแท่นน้ำหรือท่อลำเลียง รวมถึงกลัวว่าคุณภาพน้ำต่ำ ทางการประปานครหลวงก็ยอมรับว่า...
"ไม่สามารถดูแลรักษาแท่นน้ำ หรือท่อลำเลียงน้ำได้ตลอดเวลา เนื่องจากท่อน้ำจะฝังอยู่ไต้ดิน จึงซ่อมแซมและดูแลรักษาค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา เช่นเดียวกับก๊อกน้ำที่หากไม่ได้ทำความสะอาด จะมีฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกเกาะติดอยู่ที่ปากก๊อก ที่อาจเป็นสาเหตุของสารปนเปื้อนและทำให้ประชาชนไม่กล้าใช้บริการ"
อย่างไรก็ตาม คณะสาธารณสุข มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตั้งหน่วยงานเฉพาะมาสุ่มตรวจคุณภาพน้ำประปาในพื้นที่เป็นประจำ จากผลตรวจ นายฉัตรชัย รับประกันว่า คุณภาพน้ำไม่มีปัญหา เนื่องจากผลการตรวจทุกครั้งได้วิเคราะห์สารไตรฮาโลมีเทนในน้ำเป็นประจำทุกเดือน ยืนยันได้ว่า มีการควบคุมสารดังกล่าวให้มีปริมาณต่ำจนไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายแน่นอน
"รับรองว่า น้ำประปาของเราสะอาด มีคุณภาพผ่านมาตรฐานองค์การอนามัยโลก และดื่มได้แน่นอน"
เสียงยืนยัน รับรองอย่างเต็มที่ว่า น้ำประปาสะอาด ได้มาตรฐานและ "ดื่มได้"
ขณะที่ก็ยอมรับว่า การดูแลตัวเครื่อง และควบคุมคุณภาพน้ำยังไม่สามารถทำได้เต็มที่ ยังดูเป็นคำตอบที่ "แย้งกันเอง" อย่างเห็นได้ชัด อีกทั้ง ยังมองไม่เห็นว่าจะมีแนวทางแก้ไขและคลายความกังวลแก่ประชาชนได้อย่างไร
จึงไม่มีข้อสงสัยว่าเหตุใดประชาชนจึงเลือกที่จะไม่ใช้บริการ ไม่มั่นใจในความสะอาด และความปลอดภัยของคุณภาพน้ำ...
ทำให้การใช้บริการ "แท่นน้ำประปาดื่มได้" ของ กปน. และกทม.จึงเป็นไปอย่างไม่ตรงวัตถุประสงค์ ประชาชน "ไม่ดื่ม" แต่กลับใช้เพื่อล้างรถ ล้างจาน หรือแม้แต่นำไปรดน้ำต้นไม้แทน.