- Home
- Community
- สกู๊ป-สารคดีข่าว
- ลุ่มน้ำแม่ตาวนาข้าวยังปนเปื้อนแคดเมียม
ลุ่มน้ำแม่ตาวนาข้าวยังปนเปื้อนแคดเมียม
หลังจากมีการเปิดเผยผลงานวิจัยในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวในจังหวัดตาก เมื่อปี 2547 ที่พบการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในระดับสูงเกินมาตรฐานหลายเท่าตัว ในแหล่งน้ำ ดินทำการเกษตร และพืชผลการเกษตรของชาวบ้านในท้องที่ 3 ตำบล คือ ต.พระธาตุผาแดง แม่ตาว และแม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก จนบัดนี้ 7 ปีให้หลังยังไม่มีทีท่าว่าการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนและผลกระทบที่มีต่อพืชไร่และชาวบ้านจะลุล่วงเป็นที่พอใจแก่ทุกฝ่ายได้
ยิ่งกับคนแม่ตาวที่เฝ้ามองการทำงานทั้งทางวิชาการและการติดตาม ควบคุม กำกับ ฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบมากว่า 10 ปี กับความหวังที่ต้องการให้ผู้ประกอบอาชีพเหมืองแร่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากการทำเหมืองแร่สังกะสีที่ลุ่มน้ำแม่ตาว ที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตและคุณภาพข้าว และพืชผลการเกษตรที่ลดต่ำลง รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนที่บริโภคข้าวและพืชผลการเกษตรอื่นที่ผลิตได้จากที่นั่น ก็ดูเหมือนจะเลือนรางขึ้นเรื่อยๆ
ตั้งแต่การเปิดเผยผลงานวิจัยแล้ว “รัฐบาลชดเชยให้ชาวนาที่ปลูกข้าวไร่ละ 1,300 บาท มาปี 2548-49 รัฐบาลไม่ให้ปลูกพืชอาหารโดยให้ค่าชดเชยไร่ละ 1,200 บาท มีการตรวจเลือดชาวบ้าน 8,000 คน 884 คนมีแคดเมียมในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ทุกวันนี้คนที่เจ็บป่วยที่ทยอยตายไป มีมีใครระบุเลยว่าตายจากแคดเมียม” ไพรัตน์ ยาเถิน แกนนำกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากสารแคดเมียม พูด
หลังจากสถาบันจัดการคุณภาพน้ำนานาชาติ (International Water Management Institute : IWMI) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตรได้ทำการเก็บข้อมูลวิจัยในลุ่มน้ำแม่ตาว ในระหว่างปี 2541-2546 โดยข้อมูลบางส่วนของงานวิจัยได้ถูกเผยแพร่ในสื่อมวลชนจนสร้างความตระหนกให้ประชาชนทั้งประเทศ
กระกรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนของสารแคดเมียมของพื้นที่ดังกล่าว โดยกรมควบคุมมลพิษและ กรมทรัพยากรธรณีได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างดิน น้ำ ข้าว พืชพรรณ อาหารของชาวบ้านมาตรวจสอบ
ต่อมา กรมควบคุมมลพิษตั้งข้อสันนิษฐานว่า การปนเปื้อนของสารแคดเมียมเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เนื่องจากพบว่าในบริเวณที่ไม่มีกิจกรรมการรบกวนจากมนุษย์มีปริมาณสารแคดเมียมน้อย
ส่วนกรมทรัพยากรธรณีระบุข้อสันนิษฐานว่า การปนเปื้อนของสารแคดเมียมเกิดจากการผุพังและชะล้างพลังทลายของดินและแหล่งแร่ที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยกระบวนการทางธรรมชาติ เช่น น้ำฝนชะล้างลงมา เป็นต้น
ด้าน บริษัท เหมืองผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ทำเหมืองสังกะสีในพื้นที่ ได้ว่าจ้าง ศูนย์วิจัยแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตรายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสรุปสาเหตุไว้ 2 แนวทาง คือสาเหตุปัญหาแคดเมียมปนเปื้อนและสะสมในดินส่วนใหญ่มาในรูปแบบตะกอนที่ถูกพัดพามาโดยน้ำฝน และจากกิจกรรมการเปิดหน้าดินในที่สูงของลุ่มน้ำ รวมทั้งกิจกรรมเหมืองแร่แต่ไม่ระบุว่าสาเหตุใหญ่ที่แท้จริงเกิดจากอะไร
จากการศึกษาเหล่านั้น สามารถสรุปสาเหตุและแหล่งที่มาของการปนเปื้อนแคดเมียมไว้ 3 ประการใหญ่ๆ คือ
1.กระบวนการตามธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากการผุพังสลายตัวตามธรรมชาติของดินและพัดพาเอาตะกอนดินและหินจากเทือกเขาแหล่งแร่สังกะสีที่มีแคดเมียมเกิดร่วมอยู่ด้วย ลงมาทับถมสะสมตัวในที่ลุ่มซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ตั้งแต่อดีตกาล 1.8 ล้านปี ล่วงมาจนถึงปัจจุบัน
2.การทำเหมืองแร่สังกะสี โดยเหมืองอาจปล่อยน้ำทิ้งและตะกอนที่มีปนเปื้อนสูงเกินมาตรฐานและการชะล้างพัดพาตะกอนจากการเปิดพื้นที่ทำเหมือง
3.การบุกรุกพื้นที่ต้นน้ำ การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำการเกษตรซึ่งก่อให้เกิดการชะล้างพัดพาตะกอนดิน การทดหรือสูบน้ำจากห้วยแม่ตาวและห้วยแม่กุเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ซึ่งทำให้ตะกอนธารน้ำที่ปนเปื้อนสารแคดเมียมไหลจากแปลงนาที่สูงกว่าสู่แปลงนาที่ต่ำกว่า และการใช้ยาฆ่าศัตรูพืชเพื่อเพิ่มผลผลิต
อย่างไรก็ตาม การศึกษาตามหลักวิชาการเหล่านั้นไม่สามารถยืนยันสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาได้ จึงไม่สามารถสืบเสาะหาผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบของปัญหาได้ จึงไม่สามารถสืบเสาะหาผู้รับผิดชอบต่อผลกระทบของการปนเปื้อนที่มีต่อพื้นที่ทำการเกษตรและผู้อาศัยในพื้นที่จำนวนมากล้มป่วยและเสียชีวิต
ในประเด็นที่การศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหิดลที่ชี้ว่าการทำการเกษตรในพื้นที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการแพร่กระจายของสารแคดเมียมนั้น กลุ่มชาวบ้านแย้งว่าแร่สังกะสีมีการสะสมตัวตั้งแต่ความลึก 30 เมตรจากผิวหน้าดินลงไป โดยมีความหนาของชั้นแร่สังกะสีประมาณ 220 เมตร ดังนั้น การขุด ไถ พรวน ยกร่อง ปรับระดับพื้นดินเพื่อทำการเกษตรนั้นไม่สามารถเปรียบเทียบได้กับการเปิดหน้าดินเพื่อทำเหมืองแร่ พวกเขายืนยันว่าการทำการเกษตรในระดับหน้าดินไม่น่าจะรบกวนสารแคดเมียมที่อยู่ร่วมกับแร่สังกะสีได้
และที่การศึกษานั้นชี้ว่าสาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนแคดเมียม เกิดจากการทำการเกษตรปนที่สูงมากกว่ากิจกรรมเหมืองแร่ที่ต้องเปิดหน้าดินเพื่อเข้าไปในชั้นแร่สังกะสีที่มีแคดเมียมร่วมอยู่ด้วย ก็ไม่มีการศึกษาวิจัยที่ชี้ได้ว่า แคดเมียมที่อยู่ร่วมกับสังกะสีในชั้นแร่ที่ลึกลงไปในดินนั้นมีปริมาณมากหรือน้อยกว่าแคดเมียมที่กระจายตัวเป็นอิสระบนผิวดินไม่เกาะเกี่ยวกับชั้นแร่สังกะสีในชั้นดินลึก เพื่อที่จะคาดการณ์ได้ว่าปริมาณแคดเมียมจากส่วนใดเป็นสาเหตุสำคัญทำให้เกิดการปนเปื้อนแคดเมียมในแหล่งน้ำ ดิน และพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน
ความเคลือบแคลงที่มีต่อการศึกษาตามหลักวิชาการในปัญหาแคดเมียมแม่ตาว กลายเป็นคำถามในใจของชาวบ้านที่เจ็บป่วยมานานหลายปี เพราะเป็นการศึกษาที่ไม่ได้ทำให้ประเด็นเหล่านี้กระจ่างขึ้น ซึ่งเหมือนกับเป็นการระบุให้ผู้ประกอบทำเหมืองแร่สังกะสีไม่ใช่สาเหตุสำคัญของการปนเปื้อนแคดเมียม หรือ เป็นการพยายามช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการพ้นผิดจากความรับผิดชอบต่อสังคม
นอกจากนั้น กลุ่มชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเหมืองแร่ ที่ศึกษาตรวจสอบขั้นตอนต่างๆ ทางกฎหมายในกระบวนการอนุญาตประทานบัตร ยังพบว่า การทำเหมืองสังกะสีในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวนั้นขาดการศึกษาและสำรวจพื้นที่อย่างละเอียดรอบด้านพอในการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ดีไอเอ) ที่การทำเหมืองแร่ทุกแห่งจำเป็นต้องจัดทำก่อนสร้างเหมือง
และยังพบอีกว่า กระบวนการพิจารณาใบอนุญาตให้ประทานบัตรกับผู้ประกอบการมีความบกพร่อง รวมไปถึงการติดตามตรวจสอบผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในไออีเอโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เป็นไปอย่างหละหลวม เริ่มตั้งแต่ที่รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีอนุญาตสัมปทานให้ผู้ประกอบการเข้าเปิดหน้าดินทำเหมืองในพื้นที่ต้นลำห้วยแม่ตาว ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ชนิดของป่าน้ำต้นน้ำชั้น 1B และ 1A (ซึ่งต่อมาทำให้ปัญหาการปนเปื้อนของแคดเมียมแพร่กระจายในวงกว้าง) และข้อเสนอโครงการได้รับการอนุมัติทั้งโดยหน่วยงานในระดับท้องที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักนโยบายแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มาเป็นทอดๆ
เพื่อให้หน่วยราชการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัดและเพื่อทวงถามสิทธิในการมีสภาพแวดล้อมที่ดีตามรัฐธรรมนูญ ชาวบ้านในสามตำบลขออำนาจศาลเป็นที่พึ่งโดยตัวแทนชาวบ้าน 32 คนทีได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้มีคำสั่งบังคับ 6 หน่วยงาน คือ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน คณะกรรมการควบคุมมลพิษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุม ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ฟื้นฟูเยียวยาสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่ป่วยจากการได้รับสารพิษแคดเมียมสะสมในร่างกาย และให้หยุดการประกอบกิจการเหมืองแร่สังกะสีของทั้ง 2 บริษัท
นอกจากนั้นชาวบ้าน 59 รายยังฟ้องต่อศาลแพ่ง ให้มีคำสั่งบังคับให้ 2 บริษัททำเหมืองแร่สังกะสีชดใช้เงินประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท จากการทำเหมืองแร่สังกะสีที่ทำให้ที่ดินทำกินเสียหายเสื่อมโทรมจากการปนเปื้อนแคดเมียม จนไม่สามารถกินข้าวและพืชผลการเกษตรอื่นที่ปลูกได้ และค่ารักษาพยาบาลจาดโรคภัยไข้เจ็บที่ได้รับจากสารแคดเมียมสะสมในร่างกาย
การฟ้องร้องดังกล่าวอาศัยความในมาตรา 131 วรรค 1 ในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ที่กำหนดไว้ว่า “ผู้ถืออาชญาบัตรประทานบัตร หรือใบอนุญาตอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตน ต่อความเสียหาย หรือความเดือดร้อนรำคาญใดอันเกิดจากการกระทำของผู้ถืออาชญาบัตรประทานบัตร หรือใบอนุญาตนั้น”
แม้ว่าตามความในมาตรานี้ ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงดูเหมือนจะตกอยู่กับผู้ประกอบการเหมืองแร่ แต่นักสิ่งแวดล้อมได้ชี้ให้เห็นว่า ในคดีสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา ภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงมักตกเป็นของผู้ฟ้องร้อง ซึ่งมักเป็นชาวบ้านที่ขาดทรัพยากรที่จำเป็นในการรวบรวมพยานหลักฐานมาประกอบการพิจารณาคดี แต่ชาวบ้านและนักสิ่งแวดล้อมที่สังเกตการณ์อยู่ต่างก็เห็นว่า ศาลยุติธรรมจะพิจารณาคดีตามตัวบทกฎหมายและพิจารณาหลักฐานต่างๆ อย่างเป็นธรรม
เกี่ยวกับสถานการณ์ความเจ็บป่วยของชาวบ้านนั้นโรงพยาบาลแม่สอดและสาธารณสุขอำเภอแม่สอดได้ตรวจปัสสาวะของประชาชานกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีขึ้นไปใน 13 หมู่บ้าน จำนวน 7,730 รายในปี 2547 ผลการตรวจพบว่าชาวบ้านที่มีสารแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ในเลือด กระดูก และปัสสาวะ ในระดับสูงกว่าปกติเป็นจำนวนมากถึง 844 ราย โดย 40 ราย มีอาการไตวายและไตเสื่อม อีก 219 ราย อยู่ในภาวะไตเริ่มเสื่อม นอกจากนี้ยังมีอาการนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและภาวะกระดูกพรุน
จนถึงปัจจุบันนี้ผู้ที่พบว่ามีระดับแคดเมียมสูงกว่าปกติกำลังทยอยเสียชีวิตไป ซึ่งในมุมมองของผู้ได้รับผลกระทบนี่คือความจริงที่ปรากฏว่าการทำเหมืองแร่ก่อให้เกิดผลกระทบโดยเฉพาะกับคนและเกิดผลถึงแก่ความตาย แม้ว่าแพทย์จะไม่สามารถยืนยันสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาการปนเปื้อนของแคดเมียมให้แน่ชัดก็ตาม
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ในขณะที่กฎหมายแร่ปัจจุบันมีบทลงโทษอ่อนเกินไป เพราะมีเพียงค่าปรับสำหรับการละเมิด ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะต้องแก้ไขกฎหมายแร่ เพื่อจัดการการทำเมืองแร่ที่ก่อผลกระทบต่อสุขภาพและชีวิต โดยให้มีบทลงโทษที่รุนแรงต่อผู้ประกอบการเหมือนแร่และผู้อยู่ในอาณัติที่เกี่ยวข้องที่ก่อผลกระทบรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้คนป่วยไข้และล้มตาย
ในเวทีซึ่งผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศรวมตัวกัน ทุกครั้งจะมีการเรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายเพื่อทำให้การก่อผลกระทบจากการทำเหมืองจนมีผู้คนเจ็บป่วยและล้มตายมีความผิดทางอาญา โดยกำหนดว่า “ผู้ก่อมลพิษเหมืองแร่ไม่ต่างจากอาชญากร” ไม่ว่าจะเป็นการกระทำโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ไม่เพียง ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน แต่วิศวกรหรือผู้มีหน้าที่ควบคุมการทำเหมืองแร่ก็ต้องร่วมรับผิดเช่นกัน
การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะสร้างความเกรงกลัวต่อกฎหมายต่อการประกอบการเหมืองแร่ที่ไม่รับผิดชอบและเพื่อทำให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อคน สังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้ผลักดันการแก้กฎหมายนี้ชี้ให้เห็นถึงการทำเหมืองแร่ในหลายๆพื้นที่ที่ก่อให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงความตายของชาวบ้าน เช่น เหมืองดีบุกที่อ.ร่อนพิบูลย์ นครศรีธรรมราช, เหมืองดีบุกที่ห้วยคลิตี้ กาญจบุรี, เหมืองถ่านหินแม่เมาะ ที่ลำปาง, เหมืองสังกะสี ที่แม่ตาว,และเหมืองทองคำที่พิจิตรและเลย สิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ใดอีกก็ได้ ถ้าสังคมไทยไม่สรุปบทเรียนจากการทำเหมืองที่ผ่านมา
ที่มาภาพ : รวงทอง จันดา