เผยมติ ป.ป.ช.ชี้มูลเจ้าหน้าที่รัฐคดีใช้รถยนต์-ทุจริตน้ำมันหลวง 3 รายรวด 'ปกป้อง อุ่มอยู่' อดีตผอ.ศูนย์วิจัยพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง ใช้จนท.ขนของช่วยตกแต่งบ้านพักส่วนตัวในเวลาราชการ - 'กิจชัย กุลสัมฤทธิ์' อดีตท้องถิ่นอุทัยธานี นำบัตรราชการไปเติมส่วนตัว 'จักราวุธ ยังสันเทียะ หรือไชยยันต์ เพทายไพรวัลย์' ปลัดอบต.นาแขม ทุจริตเบิกจ่าย ส่งเรื่องอสส.ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนกม.-ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย -มีชดใช้ค่าเสียหายด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ข่าวมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดการกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่รัฐ 3 ราย กรณีใช้รถยนต์หลวง เบิกจ่ายน้ำมัน เพื่อประโยชน์ส่วนตัว คือ 1. กรณีกล่าวหา นายปกป้อง อุ่มอยู่ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง นำรถยนต์และเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยองไปใช้ขนของและช่วยตกแต่งบ้านพักส่วนตัวในเวลาราชการ และนำทรัพย์สินของทางราชการไปไว้ที่บ้านพักส่วนตัวโดยทุจริต 2. กรณีกล่าวหา นายกิจชัย กุลสัมฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนแผนพัฒนาท้องถิ่น กองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับพวก นำรถยนต์ส่วนกลางของราชการไปใช้ส่วนตัว และนำบัตรรับน้ำมันของทางราชการไปเติมรถยนต์ส่วนตัว และ 3. กรณีกล่าวหา นายจักราวุธ ยังสันเทียะ หรือนายไชยยันต์ เพทายไพรวัลย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาแขม ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแขม อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ทุจริตเบิกจ่ายน้ำมันรถยนต์ส่วนกลางขององค์การบริหารส่วนตำบลนาแขม
โดยนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยรายละเอียดดังนี้
กรณีกล่าวหา นายปกป้อง อุ่มอยู่ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง นำรถยนต์และเจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยองไปใช้ขนของและช่วยตกแต่งบ้านพักส่วนตัวในเวลาราชการ และนำทรัพย์สินของทางราชการไปไว้ที่บ้านพักส่วนตัวโดยทุจริต
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ในปี พ.ศ. 2562 ขณะที่นายปกป้อง อุ่มอยู่ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งระยอง ได้ใช้รถยนต์ของศูนย์วิจัยฯ ยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน บฉ 209 ระยอง และยี่ห้อโตโยต้า วีโก้ หมายเลขทะเบียน กต 5977 ระยอง ขนของไปที่บ้านพักส่วนตัวของตนที่กำลังก่อสร้าง และใช้ให้เจ้าหน้าที่และเด็กฝึกงานของศูนย์วิจัยฯ รวมประมาณ 10 – 11 คน ช่วยในการขนของ ขุดย้ายต้นไม้ของศูนย์วิจัยฯ จำนวน 2 ต้น รวมราคาประมาณ 4,000 บาท ไปปลูกที่บ้านพักส่วนตัว ตกแต่งหินประดับ ปลูกต้นไม้ตกแต่งสวน และเดินสายไฟฟ้าจากเสาไฟฟ้าสาธารณะเข้าสู่บ้านพักส่วนตัวในเวลาราชการ และใช้รถยนต์ของศูนย์วิจัยฯ ยี่ห้อโตโยต้า รีโว่ หมายเลขทะเบียน ขค 2474 ระยอง ไปตรวจดูงานบ้านพักส่วนตัวเป็นประจำตั้งแต่เริ่มขึ้นโครงสร้างบ้านจนกระทั่งก่อสร้างตกแต่งเสร็จ โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 5 - 6 เดือน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของนายปกป้อง อุ่มอยู่ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 ทั้งนี้ ให้แจ้งกรมประมง ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสอง
กรณีกล่าวหา นายกิจชัย กุลสัมฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนแผนพัฒนาท้องถิ่น กองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กับพวก นำรถยนต์ส่วนกลางของราชการไปใช้ส่วนตัว และนำบัตรรับน้ำมันของทางราชการไปเติมรถยนต์ส่วนตัว
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ในช่วงเดือนธันวาคม 2561 ถึงเดือนพฤษภาคม 2562 ขณะที่นายกิจชัย กุลสัมฤทธิ์ ดำรงตำแหน่งท้องถิ่นจังหวัดอุทัยธานี ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนแผนพัฒนาท้องถิ่น กองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้นำรถยนต์ส่วนกลาง หมายเลขทะเบียน ชร 9670 กรุงเทพมหานคร ไปใช้เสมือนเป็นรถยนต์ประจำตำแหน่ง สำหรับเดินทางไป - กลับ ระหว่างบ้านและที่ทำงาน รวมทั้งมีการนำไปใช้หลังเวลาราชการและวันหยุด และนำไปจอดไว้ที่บ้านพัก โดยไม่มีสิทธิและไม่ได้รับอนุญาตตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรถราชการ พ.ศ. 2523 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2545 และนำบัตรรับน้ำมันของทางราชการไปเติมรถยนต์ส่วนตัว หมายเลขทะเบียน 4ธ 8388 กรุงเทพมหานคร
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติดังนี้
1. การกระทำของนายกิจชัย กุลสัมฤทธิ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
2. กรณีกล่าวหานายจิรเมธ บัวงาม นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ว่าใช้บัตรรับน้ำมันของทางราชการเติมรถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางไปปฏิบัติราชการ จากการไต่สวนไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีมูลความผิดทางอาญา ข้อกล่าวหาในทางอาญาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีคำสั่งลงโทษภาคทัณฑ์นายจิรเมธ บัวงาม แล้ว
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวนเอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 ต่อไป
กรณีกล่าวหา นายจักราวุธ ยังสันเทียะ หรือนายไชยยันต์ เพทายไพรวัลย์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาแขม ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแขม อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ทุจริตเบิกจ่ายน้ำมันรถยนต์ส่วนกลางขององค์การบริหารส่วนตำบลนาแขม
ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนปรากฏว่า ในปี พ.ศ. 2562 ขณะที่นายจักราวุธ ยังสันเทียะ หรือนายไชยยันต์ เพทายไพรวัลย์ ดำรงตำแหน่งปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาแขม ปฏิบัติหน้าที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแขม ได้นําใบแจ้งเติมน้ำมันที่องค์การบริหารส่วนตำบลนาแขมทำความตกลงเครดิต (เงินเชื่อ) ไว้กับห้างหุ้นส่วนจำกัด บริบูรณ์บริการ เพื่อใช้กับรถยนต์ส่วนกลาง จํานวน 26 ฉบับ ฉบับละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 13,000 บาท ไปใช้เติมรถยนต์ส่วนตัวของตนเอง ยี่ห้อมิตซูบิชิ หมายเลขทะเบียน ขม 4364 นครราชสีมา และอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่าน้ำมันและลงนามสั่งจ่ายเช็ค ทั้งที่รู้ว่าใบแจ้งเติมน้ำมันดังกล่าวนำไปเติมรถยนต์ส่วนตัวของตนเอง เป็นการฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 67 และข้อ 72
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของนายจักราวุธ ยังสันเทียะ หรือนายไชยยันต์ เพทายไพรวัลย์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 ทั้งนี้ให้แจ้งองค์การบริหารส่วนตำบลนาแขม ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 82 วรรคสอง ต่อไป
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก