ในปี 2551 เจอร์ซีย์ได้ยกเลิกการเก็บภาษีทั้งหมดสําหรับบริษัทที่ทําธุรกิจบนเกาะ ยกเว้นบริษัทที่ให้บริการทางการเงิน ซึ่งต้องเสียภาษี 10% และบริษัทด้านสาธารณูปโภค การเช่า และโครงการพัฒนา ซึ่งทั้งหมดต้องเสียภาษี 20% ในปี 2567 มีธนาคาร 20 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตให้ทำกิจการบนเกาะเจอร์ซีย์ มีเงินฝากมากกว่า 1.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สืบเนื่องจากที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเสนอข่าวอัยการสหรัฐอเมริกายึดเงินเป็นจำนวน 236,173.81 ปอนด์ (10,461,066.21 บาท) จากธนาคารในเกาะเจอร์ซีย์ ซึ่งเป็นดินแดนปกครองตนเองภายใต้อธิปไตยของสหราชอาณาจักร ซึ่งเงินดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของคดีทุจริตการจัดเทศกาลภาพยนตร์ปี 2545-2550 ที่ดำเนินการโดยนางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และน.ส.จิตติโสภา ศิริวรรณ ผู้เป็นบุตรสาว และเงินจำนวนนี้จะถูกส่งคืนให้กับประเทศไทย
จากการสำรวจข้อมูลย้อนหลังบนหน้าข่าวสำนักข่าวอิศรา พบว่า แม่ลูกศิริวรรณนั้นไม่ใช่คนไทยกลุ่มแรกแน่นอนที่ไปมีผลประโยชน์บนเกาะเจอร์ซีย์ เพราะก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2564 เอกสารแพนโดร่าเปเปอร์สเคยเปิดโปงข้อมูลว่านายเฉลิม อยู่วิทยา บุคคลผู้ร่ำรวยอันดับ 2 ของประเทศไทย ใน พ.ศ. 2564 และนางดารณี ภรรยา รวมทั้งบุตรธิดาทั้งสามคน ปรากฏชื่อเป็นผู้รับผลประโยชน์ของทรัสต์และบริษัทนอกอาณาเขตทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 4 แห่ง คือ เดอะ โซลวีน ทรัสต์ (The Solvine Trust) บริษัท เจอร์ราด คอมปานี จำกัด (Jerrard Company Limited) บริษัท คาร์นฝอร์ด อินเวสต์เม้นท์ จำกัด (Karnforth Investment Company Limited) บริษัท เจเค ฟลาย จำกัด (JK Fly Limited) โดยบริษัทเดอะ โซลวีน ทรัสต์ ที่ว่านี้ก็พบว่าตั้งอยู่บนเกาะเจอร์ซีย์เช่นกัน
คำถามที่สำคัญก็คือว่าเกาะเจอร์ซีย์มีความพิเศษอะไร ทำไมถึงได้มีคนไทยบางคนไปมีผลประโยชน์บนเกาะแห่งนี้ ขณะที่คนไทยส่วนมากไม่คุ้นชื่อเกาะแห่งนี้เลย
สำนักข่าวอิศราจึงได้นำเสนอเรื่องราวของเกาะเจอร์ซีย์ โดยอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์การลงทุน Investopedia ที่ระบุว่าเกาะแห่งนี้เป็นดินแดนเลี่ยงภาษีของอังกฤษ มีรายละเอียดดังนี้
เกาะเจอร์ซีย์เป็นเกาะที่มีขนาด 45 ตารางไมล์ (116.5 ตารางกิโลเมตร) ตั้งอยู่ในหมู่เกาะแชนนอล โดยอยู่นอกชายฝั่งฝรั่งเศส เกาะแห่งนี้อยู่ภายใต้ราชสำนักของอังกฤษ ซึ่งหมายความว่าแม้ว่าเกาะนี้จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักร แต่ก็อยู่ใต้สัญลักษณ์มงกุฎอังกฤษ อย่างไรก็ตาม เกาะนี้ยังคงรักษาความเป็นอิสระทางการเงินและการเมืองอย่างสมบูรณ์
ที่ตั้งเกาะเจอร์ซีย์
เนื่องจากเกาะแห่งนี้มีอัตราภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ต่ำ จึงทําให้เป็นสถานที่ที่น่าสนใจสําหรับบุคคลและบริษัทที่ต้องการรักษาผลกําไรให้มากขึ้น
@ข้อที่น่าสนใจ
-เจอร์ซีย์ถือเป็นดินแดนที่มีการลักลับนําเข้าสินค้าระหว่างประเทศในศตวรรษที่ 17
-โครงสร้างภาษีที่น่าสนใจของเกาะมีอายุตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20
-ชาวอังกฤษที่ร่ำรวยมักจะย้ายหรือโอนความมั่งคั่งไปยังเกาะแห่งนี้เนื่องจากไม่มีภาษี
-ผู้อยู่อาศัยบนเกาะเจอร์ซีย์จ่ายอัตราภาษีเงินได้สูงสุด 20%
-ยกเว้น บริษัทที่ให้บริการทางการเงิน สาธารณูปโภค ดำเนินกิจการการเช่าและทำโครงการพัฒนาต่างๆ บริษัทเหล่านี้มีอัตราภาษีนิติบุคคลบนเกาะเจอร์ซีย์เป็นศูนย์
@เบื้องหลังกรณีภาษีบนเกาะเจอร์ซีย์
เจอร์ซีย์ได้รับชื่อเสียงเป็นครั้งแรกในฐานะดินแดนเพื่อเลี่ยงภาษีในช่วง ค.ศ. 1920 เมื่อพลเมืองอังกฤษที่ร่ำรวยเริ่มย้ายมาที่เกาะแห่งนี้ หรือในหลายกรณี เพียงแค่โอนความมั่งคั่งไปที่เกาะ เพื่อรับประโยชน์จากการไม่มีภาษีความมั่งคั่งและมรดก
เมื่อเงินฝากจากบุคคลที่ร่ำรวยเต็มคลังของเกาะแห่งนี้ ก็มีการเปิดเผยว่าที่แห่งนี้สามารถเป็นตัวช่วยในการหลีกเลี่ยงภาษีได้เกือบทั้งหมด โดยบนเกาะเจอร์ซีย์ได้มีการเปิดให้บริการธุรกิจธนาคาร นั่นทําให้เกิดจุดหมายปลายทาง สําหรับผู้ที่ต้องการจะฝากทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐ เงินรูเบิล เงินเยนและสกุลเงินอื่น ๆ ทั่วโลก ซึ่งไม่ต้องการเสียภาษี
@กฎระเบียบทางการเงิน
บริษัทที่ดูแลบัญชีการเงินส่วนบุคคลบนเกาะไม่จําเป็นต้องลงทะเบียนบัญชีทรัสต์นอกชายฝั่ง ในขณะที่คณะกรรมการบริการทางการเงินของเจอร์ซีย์ (JFSC) ยืนยันว่าทรัสต์ต้องดำเนินการตามกฎระเบียบที่เข้มงวดเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินทุน ความเป็นเจ้าของ ผู้รับผลประโยชน์ และบทบัญญัติต่อต้านการฟอกเงิน แต่ก็ยังมีการยึดหลักการเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวในระดับสูงของบัญชีนั้นๆ
เจ้าหน้าที่ JFSC ที่ทําข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลกับสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรโต้แย้ง และยืนยันในหลักการของตัวเองว่าการรักษาความลับที่เกี่ยวข้องกับทรัสต์นั้นเทียบเท่ากับมาตรฐานการดำเนินการกับบัญชีทางการเงินอื่น ๆเพื่อต่อสู้กับการฉ้อโกงภาษีหรือการฟอกเงิน ธนาคารบนเกาะต้องตรวจสอบเอกสารสําคัญเกี่ยวกับแหล่งที่มาและลักษณะของเงินฝาก เช่น สัญญาซื้อขายจากอสังหาริมทรัพย์หรือธุรกรรมทางธุรกิจ และหลักฐานรายได้จากนายจ้าง
@ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
อัตราภาษีเงินได้สูงสุด 20% นั้นบังคับใช้กับผู้ที่มีถิ่นที่อยู่บนเกาะเจอร์ซีย์ ผู้อยู่อาศัยบนเกาะจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 1,250,000 ปอนด์ (55,084,975 บาท) ตามข้อมูลในเดือนมกราคม 2567 โดยรายได้ที่เกินขั้นต่ำตามที่กำหนดจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติม 1%
@โครงสร้างภาษีนิติบุคคล
ในปี 2551 เจอร์ซีย์ได้ยกเลิกการเก็บภาษีทั้งหมดสําหรับบริษัทที่ทําธุรกิจบนเกาะ ยกเว้นบริษัทที่ให้บริการทางการเงิน ซึ่งต้องเสียภาษี 10% และบริษัทด้านสาธารณูปโภค การเช่า และโครงการพัฒนา ซึ่งทั้งหมดต้องเสียภาษี 20% ในปี 2567 มีธนาคาร 20 แห่ง ที่ได้รับอนุญาตให้ทำกิจการบนเกาะเจอร์ซีย์ มีเงินฝากมากกว่า 1.48 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหนึ่งในธนาคารที่ดําเนินธุรกิจบนเกาะเจอร์ซีย์ ได้แก่ธนาคาร Citibank ของสหรัฐอเมริกาและธาคาร UBS AG จากสวิตเซอร์แลนด์
ข้อครหาเกี่ยวกับเกาะเจอร์ซีย์ว่าเป็นดินแดนเลี่ยงภาษี (อ้างอิงวิดีโอจาก BestNewsMail)
@ภาษีอื่นๆ
แม้ว่าจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีจากกําไร จากการลงทุนหรือการโอนเงิน แต่มีการนําภาษี 5% สําหรับสินค้าและบริการมาใช้ในเดือนมิถุนายน 2554นอกจากนี้ อัตราอากรแสตมป์สูงถึง 0.75% ยังถูกนำมาใช้กับการโอนอสังหาริมทรัพย์บนเกาะ
@อัตราภาษีเงินได้ของเจอร์ซีย์เพิ่มขึ้นเป็น 20% เมื่อใด
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เกาะเจอร์ซีย์ได้มีการกำหนดอัตราภาษีเงินได้อยู่ที่ 2.5 % แต่เมื่อเยอรมนีได้เข้าไปยึดครองหมู่เกาะแชนนอล อัตราภาษีเงินได้ก็ถูกปรับขึ้นเป็น 20% และอัตรานี้ที่ก็ยังคงบังคับใช้มาจนถึงทุกวันนี้
เรียบเรียงจาก:https://www.investopedia.com/ask/answers/061716/why-jersey-considered-tax-haven-c-cs.asp