ป.ป.ช. เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา 'มาณี หรือ นางสาวนัชชา ดาวกระจ่าง' พวก อดีตหัวหน้ากองคลังเทศบาลตำบล กม.5 อำเภอเมือง ประจวบคีรีขันธ์ เบียดบังเงินรายได้ปลอมเอกสารราชการ ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 7 พิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี 18 เดือน แต่ให้รอลงอาญา เนื่องจากมูลเหตุจูงใจกระทำทุจริตมาจากต้องการนำเงินไปช่วยเหลือครอบครัว สำนึกผิดชดใช้คืนเงินครบถ้วนแล้ว แถมโดนลงโทษวินัยไล่ออกราชการด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ความคืบหน้าผลคดีกล่าวหา นางจุรีรัตน์ ศรีวสิุทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองคลังเทศบาลตำบล กม.5 อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับพวก เบียดบังรายได้ของเทศบาลและปลอมเอกสารราชการ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 , 157 , 158 และ 161 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2564
โดยคดีนี้ ปรากฏชื่อ นางมาณี หรือ นางสาวนัชชา ดาวกระจ่าง เป็นจำเลยเพียงรายเดียว
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 7 มีคำพิพากษาว่า นาง มาณี หรือ นางสาวนัชชา ดาวกระจ่าง จำเลยมีความผิดตามกฎหมาย ลงโทษ จำคุกกระทงละ 5 ปี และปรับกระทงละ 30,000 บาท รวม 3 กระทง
จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ. ม. 78 ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งคงจำคุกกระทงละ 2 ปี 6 เดือน และปรับกระทงละ 15,000 บาท รวม 3 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี 18 เดือน และปรับ 45,000 บาท
จำเลยกระทำ ความผิดโดยมีมูลเหตุจูงใจมาจากต้องการนำเงินไปช่วยเหลือครอบครัว ประกอบกับจำนวนเงินค่าเสียหายไม่มากนัก จำเลยสำนึกผิดและบรรเทาผลร้ายนำเงินชดใช้คืนแก่ผู้เสียหายจนครบถ้วนแล้ว
จำเลยถูกลงโทษทางวินัยไล่ออกจากราชการ ปัจจุบันจำเลยประกอบอาชีพสุจริตเป็นกิจจะลักษณะ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีภาระดูแลบิดา ซึ่งชราภาพกับน้องชายซึ่งมีปัญหาสุขภาพ และบุตรที่อยู่ระหว่างศึกษาเล่าเรียน
พนักงานคุมประพฤติรายงานว่านิสัยและความประพฤติของจำเลยไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง ผลการประเมินความเสี่ยงในการกระทำความผิดซ้ำอยู่ในระดับต่ำ จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ยังอยู่ในวิสัยที่พนักงานคุมประพฤติจะช่วยเหลือแก้ไขฟื้นฟูได้
การรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติจำเลยไว้เพื่อให้มีเจ้าพนักงานคอยแนะนำช่วยเหลือ ตักเตือน หรือสอดส่องดูแลน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่า
เห็นควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงเห็นสมควรให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ตามเงื่อนไขและระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ให้จำเลยเข้าร่วมกิจกรรมแก้ไขฟื้นฟูตามหลักเกณฑ์และโปรแกรมที่กรมคุมประพฤติกำหนด กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตาม ป.อ.มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 , 30
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2567 มีมติเห็นชอบในการอัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษา
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ