"...นายวรวิทย์ บุรณศิริ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา กับพวก ได้ทุจริตในการจัดทำโครงการจัดซื้อต้นกล้ายางพาราเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 426,250 ต้น ต้นละ 40 บาท งบประมาณ 17,050,000 บาท ในราคาที่แพงเกินจริง โดยไม่มีการระบุถึงราคามาตรฐานหรือราคากลางของต้นกล้ายางพาราที่จะจัดซื้อ และอนุมัติให้จัดซื้อโดยวิธีพิเศษทั้งที่ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีดังกล่าวได้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดภูซางรับเบอร์ ได้เข้าเป็นคู่สัญญา..."
นายวรวิทย์ บุรณศิริ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พะเยา ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีจัดซื้อท่อระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณ ถนนสว่างอารมณ์ห้วยดอกเข็ม ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา โดยมิชอบ และมีการส่งสำนวนการไต่สวนเอกสารหลักฐาน ให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย
ความคืบหน้าผลคดีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืน ตามศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ที่พิพากษา ว่า นายวรวิทย์ บุรณศิริ จำเลย มีความผิดตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ป.ป.ช. (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 65 ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ป.ป.ช. (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 65 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 40,000 บาท
แต่จำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุก จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29,30
ยังปรากฏชื่อเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีทุจริต ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดอีก 1 คดี และมีการส่งสำนวนการไต่สวนเอกสารหลักฐาน ให้อัยการสูงสุด (อสส.) ฟ้องร้องดำเนินคดีตามขั้นตอนทางกฎหมายแล้ว
คดีทุจริตใหม่ดังกล่าว คือ การทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพาราเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร และเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาบางราย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นฐานข้อมูลคดีทุจริต ของ สำนักงาน ป.ป.ช. ในช่วงปี 2566 พบว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิด นายวรวิทย์ บุรณศิริ อดีตนายกอบจ.พะเยา และพวก ในคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพาราเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร และเอื้อประโยชน์ให้กับผู้เสนอราคาบางราย
พฤติการณ์ในคดี
สำนักงาน ป.ป.ช.ระบุ พฤติการณ์ในการกระทำความผิด ว่า นายวรวิทย์ บุรณศิริ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา กับพวก ได้ทุจริตในการจัดทำโครงการจัดซื้อต้นกล้ายางพาราเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกร ปีงบประมาณ 2555 จำนวน 426,250 ต้น ต้นละ 40 บาท งบประมาณ 17,050,000 บาท ในราคาที่แพงเกินจริง โดยไม่มีการระบุถึงราคามาตรฐานหรือราคากลางของต้นกล้ายางพาราที่จะจัดซื้อ และอนุมัติให้จัดซื้อโดยวิธีพิเศษทั้งที่ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีดังกล่าวได้เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดภูซางรับเบอร์ ได้เข้าเป็นคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา ตามสัญญาเลขที่ 13/2555 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2555 โดยมีร้าน ป.ตรังพันธุ์ยางภาคใต้เป็นคู่เทียบในการเสนอราคา ทำให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาได้รับความเสียหายจากการจัดซื้อในราคาแพงเกินจริง เป็นเงินจำนวน 9,377,500 บาท
มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติดังนี้
1. การกระทำของนายวรวิทย์ บุรณศิริ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 151 และมาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 79
2. การกระทำของนายสวัสดิ์ หอมนาน รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยา มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 12 และมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 79
3. การกระทำของนายสุรินทร์ นาคศุภมิตร หุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดภูซางรับเบอร์ และนายสมปอง เพ่งเจริญธรรม เจ้าของร้าน ป.ตรังพันธุ์ยางภาคใต้มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172)
ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
สำหรับนาง ก. และนางสาว ล. ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุ คณะกรรมการป.ป.ช. มีมติให้กันไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี ตามประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการกันบุคคลไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดี พ.ศ. 2561
การดำเนินการ
ในส่วนการดำเนินการทางอาญา คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นชอบให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจ ตามฐานความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1)
การดำเนินการทางวินัย ส่งสำนวนการไต่สวนและเอกสารหลักฐาน พร้อมความเห็นไปยังผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ ตามฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (2) และมาตรา 98
การดำเนินการอื่น ๆ แจ้งผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
กล่าวสำหรับ นายวรวิทย์ บุรณศิริ เป็นน้องชาย นายวิทยา บุรณศิริ อดีต รมว.สาธารณสุข ยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี การชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกชี้มูลความผิดยังมีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลได้อีก
ในท้ายที่สุด บทสรุปการต่อสู้คดีใหม่ ของนายวรวิทย์ บุรณศิริ และพวก ในชั้นศาลจะออกมาเป็นอย่างไร คอยติดตามดูกันต่อไป
หมายเหตุ ภาพประกอบจาก https://www.tnews.co.th/social/496150