2 บริษัทออกแบบตึก สตง.'ฟอ-รัม-ไมนฮาร์ท' แจง กมธ.ป.ป.ช. แค่ให้คำแนะนำแก้ความหนากำแพงลิฟต์-ปรับเหล็ก-คาน ตึก สตง. ยันไม่ใช่การแก้แบบ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2568 ที่รัฐสภา มีการประชุมกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบสภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) มีนายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกรรมาธิการ โดย กมธ.ป.ป.ช. เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2568 ได้แก่ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากรมา นายพิมล เจริญยิ่ง ผู้รับรองแบบก่อสร้างอาคาร สตง. อายุ 85 ปี และเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอาคาร 2 บริษัท คือ 1. บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และ 2. บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด มาชี้แจงข้อเท็จจริง
ทั้งนี้ในการสอบถามข้อเท็จจริง มีนายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม.พรรคประชาชน รองประธานกมธ.ป.ป.ช. คนที่หนึ่ง เป็นผู้สอบถามหลัก โดยผู้สื่อข่าวสรุปประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
นายธีรัจชัย ถามว่า 1.ในฐานะที่เอกชนทั้ง 2 บริษัทเป็นกิจการร่วมค้าแบบที่แยกบัญชีและการจ่ายเงินของแต่ละบริษัท แต่ทำงานร่วมกัน ในกรณีที่ไปร่วมการคัดเลือกการออกแบบตึงของสตง.ได้มีการทำสัญญาระหว่างบริษัทหรือไม่ สัญญาใดบ้าง
2.สตง.เคยแจ้งในกมธ.ป.ป.ช.ว่าที่ไม่ใช้วิธีการประกวดราคานั้นเพราะเรื่องการออกแบบเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญจึงต้องใช้วิธีการคัดเลือก ทำไมบริษัทฟอ-รัมและบริษัทไมนฮาร์ท ที่ใช้เวลาแค่ 1 เดือนในการเสนอแบบจึงถูกเลือก คิดว่ามีอะไรเด่นจึงถูกเลือก
3.สตง.บอกว่าเคยส่งเรื่องไปให้กรมโยธาธิการออกแบบตึกให้โดยมีเวลา 180 วัน กรมโยธาธิการบอกว่าออกแบบไม่ทัน แต่ของบริษัทฯ เสนอแบบได้ภายใน 1 เดือน บริษัทฯ ทำไมถึงทำได้เร็วกว่ากว่ากรมโยธาธิการ
4.ทราบมาว่ามีการแก้แบบ 9 ครั้ง ถ้ามีการแก้แบบจะต้องมีกระบวนการใดบ้างถึงจะแก้แบบได้
5.สตง.บอกว่ามีการแก้แบบ 9 ครั้ง และเกี่ยวกับโครงสร้างทั้งหมด 4 ครั้ง ที่บอกว่าข้อขัดข้องระหว่างก่อสร้างกับการแก้แบบ มีจุดต่างกันอย่างไร ทั้ง 2 บริษัทยืนยันหรือไม่ว่าไม่มีการแก้แบบ
6.ระหว่างการตกแต่งกับโครงสร้างส่วนไหนมีความสำคัญกว่ากันที่จะทำให้อาคารปลอดภัย เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะการตกแต่งนั้นทำให้สวยงาม ส่วนโครงสร้างทำให้ตึกแข็งแรง กรณีการเอาการตกแต่งมาลดโครงสร้างแล้วมาลดจริงมีการเปลี่ยนขนาดเหล็กจริง อันไหนสำคัญกว่ากัน
7.ปรับเหล็กขนาดเท่าใด มีรายละเอียดหรือไม่
8.สถาปนิกได้ไปปรับแก้ตามที่ไมนฮาร์ทเสนอความเห็นหรือไม่
9.ในบริษัทก่อสร้างและผู้ควบคุมงานถ้าไม่มีการยืนยันจะกล้าทำหรือไม่ สตง.มีส่วนรับรู้ขั้นตอนตรงไหนบ้างที่มีการปรับ การที่มีการปรับแล้วบอกว่าเป็นความเห็นเฉย ๆ แล้วปล่อยไปโดยที่ไม่คนรับผิดชอบจะเป็นเช่นนี้ไม่ได้ การส่งคอมเมนต์ให้บริษัทก่อสร้างโดยที่บอกว่ามีการแก้แบบแล้วบอกไม่แก้แต่เป็นการแก้สัญญาแล้วปรับกันเอง มีการบันทึกอะไรหรือไม่ แล้วสตง.อยู่ส่วนไหนที่อนุมัติการควบคุมงานแล้วบริษัทก่อสร้างเข้าไปทำอย่างไร
10.หนังสือขอคำปรึกษาแก้กำแพงลิฟต์มาจากใคร ขอให้ส่งหนังสือมาด้วย
11.ทราบหรือไม่ว่าอำนาจในการตัดสินใจให้แก้แบบตามที่บริษัทฯให้คำแนะนำไป
12.สตง.บอกว่าแก้แบบ 9 ครั้ง โดยแก้โครงสร้างมี 4 ครั้ง ส่วนแรกคือแก้กำแพงลิฟต์ อีก 3 ส่วนที่เหลือคือส่วนไหน
13.การปรับความสูงฝ้ามีผลต่อการรับน้ำหนักหรือไม่
14.ขอเอกสารการแก้ไขสัญญาทั้ง 9 ครั้ง
15.ผู้ออกแบบและให้คำปรึกษาระหว่างก่อสร้างมีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด หรือแค่ให้คำปรึกษาแล้วไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ
16.ที่มีข่าวออกมานายพิมล ไม่ได้ออกแบบก่อสร้างมานานแล้ว แต่ถูกปลอมลายเซ็นในแบบ มีข้อเท็จจริงอย่างไร
17.นายพิมล เป็นผู้ออกแบบหรือไม่หรือเซ็นชื่ออย่างเดียว
18.นายพิมล มีส่วนรู้เห็นในการออกแบบหรือไม่ หรือเซ็นชื่ออย่างเดียว
19.นายพิมลรับรู้หรือไม่ว่ามีการแก้และปรับแบบกำแพงลิฟต์
ตัวแทนบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ที่บอกว่ามีการแก้แบบ 9 ครั้งนั้น เป็นการแก้ไขสัญญา 9 ครั้ง ซึ่งไม่เกี่ยวกับผู้ออกแบบ เป็นการแก้ไขสัญญาการก่อสร้างระหว่าง สตง.กับผู้รับจ้างก่อสร้าง โดยแบบอาจจะมีข้อขัดแย้งที่สำคัญ คือ การแก้ไขกำแพงผนังลิฟต์ที่เป็นโครงสร้างหลักในการรับแรงด้านข้าง ประเด็นนี้มีคำถามถึงวิศวกรโครงสร้างของไมนฮาร์ทว่า เมื่อตกแต่งแล้วทำให้ความกว้างของกำแพงไม่ถึง 1.5 เมตร จะแก้ไขอย่างไรบ้างเพื่อจะให้ทางเดินกลับไปกว้าง 1.5 เมตร ทางไมนฮาร์ทส่งคำแนะนำให้ ฟอ-รัม โดยให้คำแนะนำไปว่า ให้ลดความหนาของผนังภายในบางส่วนลดลงไป 5 ซม. แล้วก็มีการปรับแก้เหล็กในกำแพงบ้าง ในทางเดินบ้างเพื่อให้สอดคล้องกับการลดความหนาของผนัง ไม่ใช่การแก้แบบ แต่คอมเมนต์แล้วส่งไปให้ทางสถาปนิก ที่บอกว่าลดความหนาผนัง 5 ซม. แล้วปรับเหล็กให้สอดคล้องไม่ได้ลดเหล็ก พอเราลดความหนาของผนังเราก็ต้องไปวิเคราะห์โครงสร้างว่าผลของการลดความหนามีผลต่ออะไรบ้าง ก็พบว่ามีผลต่อหน่วยแรงต่าง ๆ ในอาคาร ก็ต้องปรับให้รับหน่วยแรงได้ มีการปรับคานและส่วนอื่น ๆ อีกนิดหน่อยให้สอดคล้องกับความหนาของผนัง ซึ่งเป็นการให้ความเห็นไม่ใช่การแก้แบบ ส่วนการปรับเหล็กมีรายการที่ต้องปรับเยอะพอสมควร ต้องดูในเอกสารแบบที่ส่งให้กมธ.
ส่วนคำถามข้อ 9 นั้น ขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่า ฐานะของผู้ออกแบบ คือ การออกแบบ หลังจากส่งงวดงานจบแล้ว หน้าที่ระหว่างการก่อสร้าง คือ เราให้คำปรึกษาเพื่อให้โครงการเดินต่อไปได้ ไม่ใช่อยู่ดี ๆ มีคนถามมาเราก็ต้องแก้แบบกลับไปให้ คนที่จะสั่งให้เราแก้แบบได้ คือ สตง.ที่แจ้งมาเป็นทางการแบบว่าขอให้ปรับแบบ คนอื่นจะมาสั่งให้ไมนฮาร์ทมาปรับแบบไม่ได้ เพราะผิดเงื่อนไขสัญญาโดยตรง ถ้าให้คำปรึกษาสามารถให้คำปรึกษาได้ ส่วนประเด็นอำนาจในการตัดสินใจให้แก้แบบตามที่บริษัทฯให้คำแนะนำไปนั้น บริษัทฯไม่ทราบ ส่วนประเด็นที่สตง.บอกว่าแก้แบบ 9 ครั้ง โดยแก้โครงสร้างมี 4 ครั้ง ส่วนแรกคือแก้กำแพงลิฟต์ อีก 3 ส่วนที่เหลือคือส่วนไหนนั้น บริษัทฯเข้าใจว่าแก้สัญญา 9 ครั้ง มี 2 ครั้งที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง คือ ครั้งที่ 4 แก้ผนังลิฟต์ กับครั้งที่ 6 ปรับโครงสร้างต่าง ๆ เกี่ยวกับผนังลิฟต์ เช่น ความสูงของฝ้า เป็นต้น
"การปรับความสูงฝ้ามีผลต่อการรับน้ำหนักหรือไม่นั้น เวลาให้คำแนะนำไปต้องตรวจสอบก่อนว่ามีผลหรือไม่และผลเป็นอย่างไร โดยการปรับสัญญาทั้ง 9 ครั้ง เราไม่รู้ว่าปรับอะไรบ้าง มารู้ทีหลังจากตึกถล่ม เวลาให้ความเห็นไปแล้วเราไม่รู้ว่าเขาจะทำตามหรือไม่ ส่วนประเด็นผู้ออกแบบและให้คำปรึกษาระหว่างก่อสร้างมีความรับผิดชอบมากน้อยเพียงใด หรือแค่ให้คำปรึกษาแล้วไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ นั้น เรารู้ว่าในกระบวนการดำเนินการมีการเอาคำแนะนำไปใช้ ถ้าดูในเอกสารที่ส่งให้จะเห็นว่ามีกระบวนการให้เราตรวจสอบดูว่าแบบที่ปรับโดยผู้รับจ้างสอดคล้องกับแบบที่เราให้ไปหรือไม่ ผู้รับจ้างปรับแบบมาแล้วถามว่าแบบสอดคล้องกับความต้องการเราหรือไม่ โดยเอกสารที่เราได้รับระบุว่าเพื่อใช้ในการขออนุมัติปรับแก้สัญญา นี่เป็นเอกสารที่เราได้รับครั้งสุดท้ายก่อนที่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น พอเราดูแล้วก็ตอบกลับไปว่าไม่มีข้อโต้แย้ง โดยคำถามข้างต้นมาจากผู้รับเหมาก่อสร้าง" ตัวแทนบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
ตัวแทนบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด กล่าวว่า ในกรณีการทำสัญญานั้นมีการจดเอกสารสัญญาทำงานร่วมกันของ 2 บริษัทโดยแจ้งต่อเจ้าของโครงการ ส่วนเรื่องที่ถูกเลือกนั้นเพราะคิดว่าบริษัทของเราทำงานเต็มที่ เอกสารที่นำเสนอหนามาก ประเด็นเรื่องการส่งแบบในเวลา 1 เดือนนั้น บริษัทฯไม่สามารถตอบในส่วนของกรมโยธาธิการได้ แต่ในส่วนของบริษัทฟอ-รัม นั้นภายในเวลา 1 เดือนที่ทำแนวความคิด แต่ไม่ได้ทำแค่ทีมเดียวแต่มี 8 ทีม ที่ออกแบบส่วนต่าง ๆ เช่น งานโครงสร้าง งานระบบ ตกแต่งภายใน เป็นต้น ซึ่งต้องรวมคนมาช่วยกันทำร่วมร้อยคน โดยการทำงานแค่แนวความคิด โดยที่มีคนจำนวนมากสามารถทำได้ภายใน 1 เดือน พอแนวความคิดได้รับการคัดเลือกแล้ว TOR กำหนดไว้ 4 เดือน โดยที่ไม่รวมเวลาการอนุมัติจากคณะตรวจรับ ซึ่งกว่าบริษัทจะส่งงานได้สำเร็จใช้เวลาประมาณ 11 เดือน เนื่องจากใช้เวลาตรวจรับพอสมควร ส่วนเรื่องการแก้แบบ หลังจากที่ส่งแบบตามสัญญาแล้วไม่มีการแก้แบบ ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาระหว่างการก่อสร้าง ที่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง การอนุมัติวัสดุ และมีแบบที่มีข้อขัดแย้ง ซึ่งไม่ใช่การแก้แบบหลัก ประเด็นที่สถาปนิกทำตามคำแนะนำของไมนฮาร์ทหรือไม่นั้น ทางเลือกที่ไมนฮาร์มเสนอมา คือ ถ้าจะลดผนังบางส่วนสิ่งที่ตามมาคือจะต้องเพิ่มเหล็ก ปรับคานและส่วนอื่น ๆ ทางฟอ-รัมก็ส่งไปที่หน้างานว่าเป็นทางเลือกหนึ่ง
ส่วนหนังสือที่มาขอคำปรึกษาในการแก้กำแพงลิฟต์ คือ หัวกระดาษทางด้านซ้าย เป็นกิจการร่วมค้าไอทีดี – ซีอาร์อีซี (ประกอบไปด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ด้านขวาเป็นผู้บริหารงานก่อสร้าง คือ KPW (PKW:(ประกอบไปด้วย บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด , บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด) ทำเป็นหลายช่อง ได้แก่ 1.ช่องคำถามผู้รับเหมา 2.ช่องคำถามผู้บริหารงานถามมาที่ผู้ออกแบบ แล้วผู้ออกแบบจะตอบกลับเพื่อให้ผู้บริหารงานก่อสร้างนำไปพิจารณาแล้วส่งต่อให้ผู้รับเหมา
ส่วนมาตรฐานของฝ้านั้น ในแง่สถาปัตยกรรมอาคารที่มีระบบปรับอากาศต้องสูงไม่น้อยกว่า 2.40 เมตร แต่เราอยากให้อาคารนี้สูงโปร่งจึงกำหนดไว้ 2.80-3.00 เมตร แล้วแต่บริเวณ ที่ทางไมนฮาร์ทพูดถึง คือ บริเวณช่องทางเดินโถงลิฟต์ โดยใน TOR ค่อนข้างรัดกุมต้องเสนอผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 3 ยี่ห้อ ฉะนั้นเรื่องนี้มีระบบแอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะแอร์แต่ละยี่ห้อมีขนาดการทำงานไม่เท่ากัน จึงเป็นที่มาของช่องท่อที่มีขนาดไม่เท่ากัน จึงเป็นที่มาของการลดโครงสร้างเพื่อให้ช่องทางเดินหน้าห้องน้ำที่ไม่สำคัญและลิฟต์บางชั้นมีขนาดลดลง โดยระดับฝ้าที่ต่ำที่สุดหลังปรับแล้วคือ 2.60-2.65 เมตร
นายพิมล กล่าวว่า ตนเองยอมรับลายเซ็นตนเองในแบบ แต่ผ่านมา 7 ปีจำไม่ได้แล้ว ตนเองไม่ได้เป็นผู้ออกแบบแต่เป็นที่ปรึกษาออกแบบ โดยเซ็นชื่อในฐานะที่ปรึกษาออกแบบ ตนเองดูทุกขั้นตอนการออกแบบและตรวจดูคนสุดท้ายแล้วจึงเซ็นชื่อ ตนเองเซ็นชื่อแค่แบบหลักแล้วเงียบหายไป ตนเองไม่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญา 9 ครั้ง ที่เป็นข่าวนั้นตนเองไม่เคยพูดว่าถูกปลอมลายเซ็น แค่พูดว่าจำไม่ได้
อ่านประกอบ:
- เคียงข่าว :พลิกข้อมูลอาคาร 2 พันล. สตง.ถล่ม หลังเหตุแผ่นดินไหว เพิ่งตรวจรับงาน 20 กว่า%
- สตง.นัดประชุมด่วนอาคาร 2 พันล.ถล่ม เทคนิคสร้างตึกสมัยใหม่ต้นต่อปัญหาจริงหรือไม่
- รอผลสอบคณะทำงานชุดนายกฯ 5 วันก่อน! สตง.งดแถลงข่าวปมอาคาร 2 พันล.ถล่ม ทำเอกสารแจงแทน
- ข้อสังเกตเบื้องต้นการพังทลายของโครงสร้างอาคาร สตง. แห่งใหม่จากแผ่นดินไหว
- เคียงข่าว :พลิกข้อมูลอาคาร 2 พันล. สตง.ถล่ม หลังเหตุแผ่นดินไหว เพิ่งตรวจรับงาน 20 กว่า%
- ทักท้วงมาตลอด! ACT พบข้อผิดสังเกตอาคาร สตง. ถล่ม ก่อสร้างล่าช้า หยุดงานเป็นช่วงๆ
- เปิดคำชี้แจง สตง.ตึก 2 พันล.ไม่มีแก้ไขแบบโครงสร้าง พัสดุผ่านทดสอบ-ร่วม ACT ป้องกันทุจริต
อ่านประกอบ: ไขความจริงตึกถล่ม
- ไขความจริงตึกถล่ม (1) เผยโฉมแปลนสร้างอาคาร สตง. 2 พันล้าน ก่อนเหตุแผ่นดินไหว
- ไขความจริงตึกถล่ม (2) เปิดแบบเก้าอี้โต๊ะอาคารสตง. 2 พันล. ของผู้บริหารหุ้มหนังอิตาลีจริง
- ไขความจริงตึกถล่ม (3) เปิดชัดๆ ข้อมูลงานฐานราก เสาเข็ม พื้นคอนกรีต อาคาร สตง. ก่อนถล่ม
- ไขความจริงตึกถล่ม (4) ข้อมูล 7 บริษัท 'ออกแบบ-ก่อสร้าง-คุมงาน' ตึกสตง. 2 พันล. ก่อนถล่ม