เวทีผู้บริโภค จี้รัฐต้องมีความรับผิดชอบและจริงจังในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเหตุรถบัสนักเรียนไฟไหม้ ตร.ชี้ชัดรถบัสที่เกิดเหตุถูกดัดแปลงและติดตั้งถังแก๊สเกิน นักวิชาการแนะปรับเปลี่ยนมาตรฐาน-จุดวางถังแก๊ส ขณะที่ตัวแทนหน่วยงาน ‘กรมขนส่งฯ’ เผยเร่งตรวจมาตรฐานรถบัส เหลืออีกหมื่นกว่าคัน ชี้รถที่ไม่ได้มาตรฐานถูกห้ามวิ่งแล้ว ด้าน ‘ศึกษาฯ’ เตรียมปรับแก้มาตรฐานการฝึกอบรมกรณีเหตุฉุกเฉินใหม่
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 สภาผู้บริโภคจัดเวทีประชุมแลกเปลี่ยน “ครบรอบ 1 เดือนรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ มาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารอยู่ที่ไหน” โดยมี ผู้แทนจากสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พรรคการเมือง นักวิชาการด้านพลังงาน รวมถึงอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม และคณะทำงานด้านการศึกษา ของสภาผู้บริโภคร่วมแลกเปลี่ยน
@จี้รัฐรับผิดชอบจริงจัง
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สังคมไม่ควรลืมเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 รวมถึงเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นและทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ขณะที่หน่วยงานต่าง ๆ และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันหาทางป้องกันปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของรถสาธารณะ การมองว่าเป็นอุบัติเหตุเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ทางออก ทั้งนี้ เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำซาก เพราะความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นหน้าที่ของทุกองค์กรที่ต้องร่วมกันป้องกัน
“สิ่งที่เราไม่อยากเห็นเลยคือการพัฒนามาตรฐานที่ต้องแลกด้วยชีวิต เพราะควรจะมีมาตรฐาน มีการป้องกันก่อนเกิดเหตุ เราต้องไม่ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอุบัติเหตุ แต่ถือเป็นความจงใจให้เกิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะคุณรู้อยู่แล้วว่าถ้าละเว้นหรือปล่อยปละละเลยในเรื่องนี้ อาจเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้นในอนาคต แต่ก็ยังปล่อยแล้วก็หวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่ามันไม่น่าจะเกิด และพอเกิดก็ค่อยมาถามหาความรับผิดชอบกัน และถึงแม้จะมีคนรับผิดชอบแต่เราก็ เอาชีวิตใครคืนกลับมาไม่ได้” ประธานสภาผู้บริโภค กล่าว
@ตร.ชี้แก้ไขได้ อย่าปล่อยเป็นระเบิดเวลา
ด้านพ.ต.อ. อุดมศักดิ์ พาลี เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐาน แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถป้องกันได้และไม่ควรเกิดขึ้น และหากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ช่วยกันแก้ไขปัญหา รถโดยสารที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ก็จะเป็นเหมือน “ระเบิดเวลา” เกิดที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้ และไม่รู้ว่าบนท้องถนนยังมีรถบัสอีกที่ไม่ได้มาตรฐานอีกมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทุกหน่วยมีมาตรฐานในการทํางาน แต่ปัญหาหลักคือจะควบคุมระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานได้อย่างไร มาตรฐานในที่นี้หมายถึงทั้งมาตรฐานของบุคลากรในองค์กรและมาตรฐานของระบบการทำงาน การตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยของรถยนต์ ซึ่งหมายความรวมระบบเครื่องยนต์ทั้งหมด เช่น เรื่องการติดตั้งและความปลอดภัยถังแก๊ส การกำหนดระยะเวลาใช้งานโครงสร้างรถ ทั้งนี้เชื่อว่า “คนดีระบบก็จะดี” เพราะหากมีการควบคุม ประเมินสมรรถนะ การควบคุมมาตรฐาน และการตรวจสอบภายในที่ดี ระบบการทำงานก็จะมีประสิทธิภาพ
"รถโดยสารจะประจําทางหรือไม่ประจําทาง นิยามของมันคือมีผู้โดยสารจํานวนมาก เพราะฉะนั้นมันต้องมีมาตรฐานมากกว่ารถส่วนบุคคล และมาตรฐานต้องไม่ดูแค่เอกสาร ต้องกลับไปดูระบบการตรวจสอบ ว่าได้มาตรฐานไหม ล้าสมัยเกินไปไหม ผมพูดในฐานะของผู้ตรวจและประชาชนคนหนึ่ง เพราะผมก็มีลูกเหมือนกัน ทุกคนต้องการความปลอดภัย ยกตัวอย่างเรื่องอายุการใช้งานของโครงสร้างรถยนต์ หากไม่มีการระบุถ้าผมเป็นผู้ประกอบการไม่มีคุณธรรมก็คงใช้จนกว่าจะพัง เพราะฉะนั้นอะไรที่ ‘ต้องทำ’ ก็ต้องระบุให้ชัดเจนว่า ‘ต้องทำ’ ไม่ใช่ ‘ควรทำ’” พ.ต.อ. อุดมศักดิ์ ระบุ
@ชี้ชัดรถถูกดัดแปลง-ติดตั้งถังแก๊สเกิน
พ.ต.อ. อุดมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าของคดีนี้ว่า ปัญหาที่พบคือรถบัสมีการดัดแปลงโครงสร้าง ติดตั้งถังแก๊สเกินที่ระบุและบางส่วนหมดอายุ เพลาหัก และยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ซึ่งเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานได้เก็บวัตถุพยานบางส่วนและส่งให้พนักงานสอบสวนไปตรวจเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริงต่อไป ซึ่งตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรวบรวมทําสํานวนของพนักงานสอบสวน
@ข้องใจการติดตั้งแก๊ส ไร้มาตรฐาน
ขณะที่นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวถึงข้อมูลที่ได้รวบรวมจากสื่อต่าง ๆ โดยระบุว่า รถบัสคันที่เกิดเหตุจดทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2513 หรือใช้งานมาแล้วประมาณ 54 ปี ส่วนต้นตอของอุบัติเหตุคือเพลาหัก พบการหักครูดบนถนนพื้นถนน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของประกายไฟหรือไม่ ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่พบคือ มีการติดตั้งถังแก๊สกระจายไปทั่วทุกจุดของตัวรถ ทำให้ระบบของท่อมีความซับซ้อนซึ่งอาจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ท่อก๊าซหลุด ซึ่ง ขบ.ก็ยอมรับว่าสาเหตุที่ทําให้ก๊าซรั่วออกคือท่อหลุด นำไปสู่คำถามว่าการติดตั้งถังแก๊สและวางท่อของรถคันดังกล่าวได้รับการรับรองจากวิศวกรหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ว่าด้วยความแข็งแรงของโครงตัวถังรถ โดยในทางปฎิบัติตามมติคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง 3/2558 วันที่ 11 มีนาคม 2558 ระบุว่า โดยสารประจำทางที่มี ระยะทางไม่เกิน 300 กม. กำหนดให้มีอายุการใช้งานของแชสซีรถไม่เกิน 40 ปี รถโดยสารประจำทางที่มีระยะทางไม่เกิน 300 - 500 กม. จะกำหนดอายุแชสซี ไม่เกิน 35 ปี รถโดยสารประจำทางที่มีระยะทางเกิน 500 กม. จะกำหนดอายุแชสซี ไม่เกิน 30 ปี ส่วนรถหมวด 1 ที่วิ่งในเมืองอายุแชสซีไม่เกิน 50 ปี มีอายุการใช้งาน 10 ปี ขณะที่รถโดยสารไม่ประจำทางไม่มีการกำหนดอายุการใช้งานของแชสซี จึงเป็นโจทย์ที่ต้องหารือและทบทวนต่อไปว่าจะแก้ช่องโหว่ดังกล่าวอย่างไร และควรใช้เกณฑ์ใดในการกำหนดอายุการใช้งานรถโดยสารไม่ประจำทาง
@กรมขนส่งฯ ตรวจรถบัสเหลืออีกหมื่นคัน
ขณะที่ ผู้แทนจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) อธิบายว่า กรมการขนส่งทางบก มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรถที่ใช้แก๊สธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตั้งแต่เริ่มแรกเลยการที่จะติดตั้งถังแก๊สที่เป็นเชื้อเพลิงที่จะนํามาใช้กับรถ ตั้งแต่ขั้นตอนของการติดตั้งที่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขรวมทั้งต้องผ่านการตรวจสอบจากผู้ตรวจที่ได้รับการเห็นชอบหรือได้รับการอนุญาตจาก ขบ. นอกจากนี้การติดตั้งถังแก๊สเพิ่มเติมก็ต้องถูกตรวจสอบโดยผู้ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ขบ. ก่อน และเมื่อติดตั้งไปแล้วจะต้องมีการตรวจสอบถังทุกปีก่อนที่จะมีการชําระภาษีประจําปี
ทั้งนี้ ปัจจุบัน ขบ. เร่งนํารถโดยสารที่ติดตั้งก๊าซซีเอ็นจี (CNG) เข้าตรวจสภาพ มีจำนวนทั้งหมด 13,426 คัน โดยเริ่มตรวจตั้งแต่วันตั้ง 4 - 28 ตุลาคม มีรถเข้าตรวจแล้ว 3,356 คัน คงเหลือ 10,070 คัน โดยเป็นรถที่เป็นเช่าเหมา 956 คัน รถประจําทาง 2,400 คัน ในจำนวนสามพันกว่าคันมีรถที่ไม่ผ่าน และพ้นห้ามใช้จํานวน 210 คัน และมีการแก้ไขแล้วนํารถเข้าตรวจใหม่จํานวนทั้งสิ้น 141 คันคงเหลือพ่นห้ามใช้จํานวนทั้งสิ้น 69 คัน
ส่วนลักษณะของรถที่ถูกพ่นห้ามใช้ เช่น พบถังแก๊สหมดอายุ จํานวนถังแก๊สไม่ถูกต้อง เครื่องอุปกรณ์และส่วนควบชํารุด เกิดแก๊สรั่วซึม น้ำหนักเกินที่จดทะเบียน (เนื่องจากถ้าเป็นการติดตั้งถังแก๊สเพิ่มน้ำหนักของรถก็จะเกินจากที่ขอรับการจดทะเบียนไว้) หรือประตูขึ้นลงฉุกเฉินไม่สามารถใช้การได้ นอกจากนี้ ขบ. ยังกำหนดไม่ให้นำรถบัสโดยสารที่ติดตั้งแก๊สไปใช้ในการรับส่งเด็กหรือนักเรียน ในช่วงนี้ถึง 30 พฤศจิกายน 2567
@แนะปรับกฎติดตั้งถังแก๊สใหม่
ทางด้าน มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการด้านพลังงาน ชี้ให้เห็นถึงปัญหามาตรฐานความปลอดภัยของประเทศไทย โดยระบุว่า ปัจจุบันมาตรฐานของประกาศของกรมการขนส่งทางบกสำหรับรถที่ติดตั้งแก๊สให้เลือกได้ 3 มาตรฐาน คือ 1) EU Regulation-10 2) ISO-15501 และ 3) มอก. 2333 แต่มาตรฐานที่มีปัญหาคือ มอก. 2333 ที่ระบุให้มีวาล์วอัตโนมัติหรือวาล์วมืออย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ขณะที่มาตรฐานต่างประเทศที่กำหนดให้ติดตั้งวาล์วหัวถังอัตโนมัติในทุกรถเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องจุดที่ติดตั้งถังแก๊ส โดยในต่างประเทศมักจะติดตั้งถังแก๊ส CNG ไว้บนหลังคาเนื่องจากเป็นก๊าซที่เบากว่ามวลอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหลจะลอยขึ้นด้านบนทำให้ช่วยลดโอกาสในการเกิดไฟไหม้รถได้ สำหรับในประเทศไทยอาจติดปัญหาเรื่องโครงสร้างของรถที่ถูกออกแบบให้ติดตั้งถังแก๊สไว้ในตัวรถหรือด้านล่าง ซึ่งได้ผิดกฎหมายแต่ปัญหาคือโครงสร้างของรถที่ใช้ในปัจจุบันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “เรือนกักแก๊ส” เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงทำให้แก๊สสามารถลอยขึ้นสู่ห้องโดยสารและทำให้เกิดไฟไหม้ได้
“หลายคนอาจะเคยได้รับข้อมูลมาว่าแก๊ส CNG ปลอดภัยติดไฟยาก แต่ความจริงคือทางทฤษฎีถ้าไม่มีประกายไฟจะต้องให้ความร้อนสูงถึง 650 องศาจึงจะวาบไฟเอง แต่ในความเป็นจริงอุบัติเหตุมีประกายไฟแน่นอน ดังนั้น หากมีเรือนกักแก๊ส เมื่อเกิดอุบัติเหตุแก๊สที่รั่วออกมาถูกผลักออกด้านล่างไปด้านข้างของตัวรถ ในทางกลับกันรถที่ไม่มีเรื่องกักแก๊สก็มีโอกาสเกิดไฟไหม้ตัวรถได้มากกว่า”
ทั้งนี้ มล.กรกสิวัฒน์ เน้นย้ำถึงข้อเสนอ 3 ข้อต่อกรมการขนส่งทางบก คือ
1) ควรยกเลิกมาตรฐาน มอก.-2333 และกลับไปใช้มาตรฐานต่างประเทศคือ EU Regulation-10 หรือ ISO-15501 ซึ่งแนวทางการดำเนินการต้องให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนติดตั้งถังแก๊สที่มีวาล์วอัตโนมัติและวาล์มือ แต่ไม่ใช่การยกเลิกรถโดยสารติดตั้งแก๊ส
2) การเข้าไปควบคุมและกำกับดูแลเรื่องจุดจิดตั้งถังแก๊สที่เหามะสม รวมถึงการติดตั้งเรื่องกักแก๊สในตัวถังของรถยนต์ด้วย
และ 3) การออกแบบระบบหรือกำหนดให้คนขับหรือพนักงานขับรถต้องเปิดประตูและประตูฉุกเฉินได้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากหากใช้ระบบอัตโนมัติเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ไม่สามารถใช้งานได้เมื่อเกิดไฟไหม้
ยกระดับมาตรการเข้มงวดเพื่อความปลอดภัยนักเรียน
@ศธ.ล้อมคอก ปรับปรุงมาตรฐานฝึกอบรมเหตุฉุกเฉิน
ด้านนายเดชา ปาณะสี รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงความสำคัญของการป้องกันและจัดการเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากการสูญเสียครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการสูญเสียบุคคลากรเท่านั้น แต่ยังเป็นการสูญเสียทุนมนุษย์ที่มีคุณค่าสำหรับการพัฒนาประเทศ
ทั้งนี้ สพฐ. และกระทรวงศึกษาธิการมีการวางแผนการเผชิญเหตุและการจัดการภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยโรงเรียนทุกแห่งมีการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในแต่ละปี เช่น โรงเรียนที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือพื้นที่เสี่ยงภัย เช่น สึนามิ จะมีการจัดทำแผนเผชิญเหตุและซักซ้อมอย่างจริงจัง ทั้งในรูปแบบการซ้อมแห้งและการซ้อมจริงเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่มีค่า แม้จะมีความเจ็บปวด แต่เราจะใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้น” เดชากล่าว พร้อมกับยืนยันว่าทาง สพฐ. ได้ปรับปรุงมาตรการความปลอดภัยในการทัศนศึกษาอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการประกาศแนวทางการดำเนินการเพื่อป้องกันเหตุการณ์ซ้ำซาก เช่น การเลือกสถานที่ที่ใกล้โรงเรียนสำหรับนักเรียนในระดับอนุบาล พร้อมมีผู้ปกครองร่วมเดินทางไปด้วย นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงการตรวจสอบความปลอดภัยของรถยนต์โดยสารอย่างเข้มงวด และต้องมีการตรวจสอบสภาพรถไม่เกิน 30 วันก่อนออกเดินทาง
นอกจากนี้จะมีการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยบนท้องถนน และสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียนเรื่องอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงมาตรการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการเดินทางของนักเรียน
“หากเราทำให้ทุกฝ่ายมีความตระหนักรู้และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ก็จะสามารถลดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักเรียนได้ ทั้งนี้ หวังว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในระบบการศึกษาต่อไป” นายเดชากล่าวทิ้งท้าย