ไทยคว้าอันดับที่ 8 ในการจัดลำดับ ‘ประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมที่สุดในโลก 2024’ และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน-เอเชีย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับรายงานว่าเว็บไซต์ U.S. News & World Report ได้ประกาศรายชื่อการจัดอันดับ “ประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก” ประจำปี 2567 ซึ่งประเทศไทยติดอันดับที่ 8 ในการจัดอันดับ “ประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมที่สุดในโลก 2567” หรือ Thailand Ranked 8 th in 2024 Best Countries Heritage จากทั้งหมด 89 ประเทศ ซึ่งทราบว่าประเด็นการพิจารณาจัดอันดับประเทศที่ร่ำรวยรมรดกทางวัฒนธรรมจะมีหลักเกณฑ์พิจารณาค่าเฉลี่ยจากคุณลักษณะของประเทศ 5 ประการ ได้แก่ 1.มีวัฒนธรรมที่เข้าถึงได้ 2.มีประวัติศาสตร์อันรุ่งเรือง 3.มีอาหารที่ยอดเยี่ยม 4.มีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมากมาย และ 5.มีสถานที่ท่องเที่ยวทางภูมิศาสตร์เป็นจำนวนมาก
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า สำหรับ 10 อันดับแรก ประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลกประจำปี 2567 ได้แก่ 1.กรีซ 2.อิตาลี 3.สเปน 4.ฝรั่งเศส 5.ตุรกี 6.เม็กซิโก 7.อียิปต์ 8.ไทย 9.โปรตุเกส และ10. อินเดีย ทั้งนี้จากรายละเอียดการจัดอันดับระบุว่า ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพและเป็นดินแดนแห่งรอยยิ้ม และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากที่สุดในโลก ผสมผสานระหว่างศิลปะวัฒนธรรมดั้งเดิมกับบ้านเมืองที่ทันสมัย มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และทางธรรมชาติ หาดทรายและวัดวาอารามที่งดงาม และมีชื่อเสียงด้านการนวดแผนไทยและอาหารที่มีรสชาติยอดเยี่ยม
“ในฐานะที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมของชาติ รู้สึกยินดีที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก ซึ่งทราบว่าการจัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 8 เพราะมีมรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่า เป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีอาหารเลิศรส มีสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมจำนวนมาก ซึ่งการจัดอันดับมรดกทางวัฒนธรรมครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกสนใจที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวและสัมผัสมรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไทย” นางสาวสุดาวรรณ ระบุ
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายในการขับเคลื่อน Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก ซึ่ง วธ.ได้ประกาศยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ โดยปี 2568 มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ตามนโยบาย 4 ข้อ ขับเคลื่อนใน 3 แนวทาง และ 2 รูปแบบ ไปสู่ 1 เป้าหมาย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยในเชิงมิติวัฒนธรรม ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีอิทธิพลด้าน Soft Power ในมิติวัฒนธรรม และให้บรรลุเป้าหมายคือผลักดันให้เศรษฐกิจวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างรายได้สู่ประเทศ
ทั้งนี้การขับเคลื่อน Soft Power ได้รัฐบาลให้ความสำคัญโดยจัดเทศกาล Thailand Winter Festivals ส่งมอบประสบการณ์ความสุขช่วงปลายปี ภายใต้แนวคิด “7 Wonders of Thailand” เชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมสัมผัสความมหัศจรรย์ของกิจกรรม 7 หมวดหมู่ ได้แก่ 1.เทศกาลลอยกระทง 2.เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือ Countdown 3.กิจกรรมเชิงกีฬา 4.กิจกรรมด้านวัฒนธรรม เช่น มหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ งานประเพณีแห่ดาวคริสต์มาส จ.สกลนคร 5.เทศกาลอาหาร มหกรรมอาหาร 6.เทศกาลดนตรี 7.เทศกาลแสงสี
นางสาวสุดาวรรณ กล่าวถึงในส่วนการยกระดับเทศกาลประเพณีของ วธ. ในปี 2568 ว่า ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ จะมีเทศกาลลอยกระทง ภายใต้แนวคิด “ลอยกระทง วิถีไทยปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” มีไฮไลต์การจัดกิจกรรมใน 5 เมืองที่มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ในการจัดงานวันลอยกระทง ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ (ยี่เป็ง) สุโขทัย (เผาเทียน เล่นไฟ) ตาก (กระทงสาย) สมุทรสงคราม (กระทงกาบกล้วย) ร้อยเอ็ด (สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป) และพื้นที่ 8 เมืองน่าเที่ยวได้แก่ กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ลำปาง นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ภูเก็ต และส่งเสริมการจัดประเพณีลอยกระทงทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสืบสานคุณค่าสาระของประเพณีลอยกระทง การรณรงค์ให้แต่ละท้องถิ่นรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เน้นเผยแพร่คุณค่าสาระของวัฒนธรรมอันดีงาม ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม ใช้วัสดุทางธรรมชาติ ใช้กระทงน้อยที่สุด 1 ครอบครัว 1 กระทง ที่สำคัญการยกระดับเทศกาลลอยกระทง เพื่อให้สอดคล้องต่อการที่ประเทศไทยเตรียมเสนอประเพณีลอยกระทง เป็นรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโกเนื่องจากประเพณีลอยกระทงเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนไทยมายาวนาน สะท้อนวิถีชีวิตของคนไทยที่มีความผูกพันกับน้ำอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ อยากเชิญชวนคนไทยร่วมสืบสานและชมความงดงามของ “โขน” ซึ่งได้รับการยกย่องจากองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (UNESCO) เมื่อ 2561 ว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของไทยรายการแรกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนซึ่งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดการแสดงโขน เรื่องรามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร” สืบสานศิลปะการเเสดงโขน ถ่ายทอดความวิจิตรงดงามและสานต่อศิลปะโขนมรดกของชาติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 ซึ่งทรงส่งเสริมและสนับสนุนการแสดงโขน เพื่อสืบทอด ธำรงนาฏศิลป์อันทรงคุณค่าของชาติให้คงอยู่คู่สังคมไทย และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน - 8 ธันวาคม 2567 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยผู้ที่จะเข้าชมความวิจิตรของการแสดงโขนและการแสดงที่ยิ่งใหญ่ตระการตา สามารถสำรองที่นั่งได้ที่ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ ทุกสาขา โทร. 0-2262-3456 หรือที่ www.thaiticketmajor.com