สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (สทร.) จัดประกวดไอเดีย “รถไฟในฝัน” ระดับเยาวชน เตรียมสร้างคนรองรับอุตสาหกรรมใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ผอ.สทร.ลั่นไม่เกิน ปี 2570 ไทยจะผลิตขบวนรถไฟเอง 50 คันต่อปี วางเป้าหมายผลิตเพื่อส่งออกตลาดโลกสำหรับรางมาตรฐาน 1 เมตร ขึ้นชั้นฮับอาเซียน
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 ห้องบอลรูม B โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส ดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ภายใต้กระทรวงคมนาคม ได้แถลงเปิดตัวโครงการ “คิดใหญ่ไปให้สุดราง” (Think Beyond Track) ซึ่งเป็นการประกวดความคิดสร้างสรรค์ระดับเยาวชนในหัวข้อ “รถไฟในฝัน” พร้อมเปิดวิสัยทัศน์และพันธกิจของ สทร. ในการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ
ดร.จุลเทพ เปิดเผยว่า โครงการนี้ถือเป็นกิจกรรมนำร่องของ สทร. ซึ่งเป็นสถาบันหลักด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง และมีพันธกิจสำคัญด้านหนึ่งคือ การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการสร้างอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศ ภายหลังจากรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการสนับสนุนระบบรางของไทย โดยเตรียมจะออกกฎหมายซึ่งร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางรางพ.ศ. อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา
ดร.จุลเทพ เปิดเผยว่า ในระหว่างนี้ สทร.ได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อพร้อมรับดำเนินการทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยได้นำเสนอแผนงานการพัฒนาระบบรางให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่เพื่อการขับเคลื่อนประเทศต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2569 โดยจะมีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาภายในปี 2568 ตั้งเป้าว่าภายใน 3 ปี หรือประมาณปลายปี 2569-ปี 2570 ประเทศไทยจะเป็นผู้ผลิตขบวนรถไฟได้ 50 คัน (โบกี้ หรือตู้) ต่อปี จากที่เคยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เสียเงินงบประมาณราว 100-150 ล้านบาทต่อคัน คาดว่าหากทำได้ตามแผนจะช่วยประหยัดเงินงบประมาณได้ 20%
ดร.จุลเทพ กล่าว่า ส่วนหัวรถจักร ในเบื้องต้นยังจำเป็นต้องเรียนรู้โนฮาวของต่างประเทศ จึงมีแนวคิดจะดึงต่างประเทศมาร่วมลงทุนเพื่อให้เกิดการผ่องถ่ายเทคโนโลยี ที่จะเป็นเทคโนโลยีสะอาด อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นยังคงเป็นหัวรถจักรดีเซล จากนั้นจะเป็นระบบไฮบริด ระหว่างดีเซลและไฟฟ้า ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี “ผมหวังว่าอุตสาหกรรมระบบรางจะเป็นอุตสาหกรรม เอส-เคิร์ฟ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป้าหมายไม่ใช่ผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศที่ระบบรางมีระยะเวลาแค่ไม่กี่พันกิโลเมตร แต่หวังว่าเราจะอยู่ในระบบซัพพลายเชนของโลกที่มีหลายประเทศใช้รางมาตรฐาน 1 เมตร ซึ่งเรามีความสามารถ โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้ยังมีความต้องการใช้คิดเป็นประมาณ 70,000 กว่ากิโลเมตร” ดร.จุลเทพ
ดร.จุลเทพ กล่าวอีกว่า สำหรับการพัฒนาบุคลากร การจัดโครงการประกวดดังกล่าวเพื่อต้องการดึงเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะกลุ่มนี้จะกลายเป็นกำลังหลักในอนาคตที่จะผลักดันให้แผนงานดังกล่าวสำเร็จ แต่ในระยะใกล้นี้ ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่สทร.จะเร่งดำเนินการคือดึงผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศที่กำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากรถยนต์สันดาปมาสู่รถยนต์ไฟฟ้า ให้มาผลิตชิ้นส่วนรถไฟแทน โดยต้องมีการประเมินศักยภาพว่าจะสามารถทำได้หรือไม่
รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรรมการคณะกรรมการตัดสินโครงการ “คิดใหญ่ไปให้สุดราง” กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้กำหนดเกณฑ์การตัดสินหลักๆ 3 ส่วนในรอบแรก คือ1.ความคิดสร้างสรรค์ 2.ความสามารถในการนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง และ3. สามารถสื่อสารได้ถึงแนวคิดสร้างสรรค์ เพื่อคัดเลือกเหลือ 10 ทีม เข้าร่วมกิจกรรมทัศนศึกษาดูระบบรางไทย เพื่อนำไปใช้กับผลงานที่จะส่งเข้าประกวดตัดสินรอบสุดท้าย โดยมีเงินรางวัลรวม 420,000 บาท พร้อมโล่ห์และเกียรติบัตร
ดร.จุลเทพ กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับโครงการประกวดความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับการพัฒนาระบบรางในครั้งนี้ สทร.ได้พุ่งเป้าที่กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ในจังหวัดที่มีรถไฟสายหลักวิ่งผ่าน แบ่งการประกวดเป็น 2 รุ่น คือระดับมัยธมปลาย อายุ 16-18 ปี และระดับอุดมศึกษา อายุ 18-22 ปี สามารถส่งผลงานเข้าประกวดในรูปแบบกลุ่ม กลุ่มละไม่เกิน 5 คน เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 โดยจะปิดรับผลงานวันที่ 4 ธันวาคม 2567 นักเรียน นักศึกษาที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดการสมัครเข้าร่วมโครงการและส่งผลงานได้ทางเว็บไซต์ทางเว็บไซต์www.คิดใหญ่ไปให้สุดราง.net