"...เสรีภาพ จึงเป็นพลังขับเคลื่อนมนุษยชาติให้ก้าวไปในทุกทิศทาง ความก้าวหน้าในการแสดงออก ความแตกต่างหลากหลายทางความคิดที่ไม่ถูกกีดกั้น ความเท่าเทียมกันในระบบยุติธรรมที่จะเข้าถึงได้ ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากเสรีภาพที่เป็นแกนกลางของพลังสร้างสรรค์ใน ทุกมิติ..."
เมื่อปล่อยนกจากกรงขัง นกโผบินเริงร่า
เมื่อปล่อยปลาลงน้ำ ปลาโลดแล่นสู่ห้วงธารา
อาหารนกในกรงจะวิเศษปานใด อาหารปลาในอ่างจะยอดเยี่ยมเพียงไหน ไม่เทียบเท่าเสรีภาพที่นกจะโบยบินสู่ฟากฟ้า ไม่เลอค่ากว่า อิสรภาพของปลาที่จะแหวกว่ายไปได้สุดสายน้ำ
พื้นที่แห่งแผ่นฟ้า พื้นน้ำแห่งท้องธาร คืออาณาจักรแห่งเสรีภาพอันพึงปรารถนาของนกและปลาฉันใด
พื้นที่แห่งเสรีภาพของมนุษย์ย่อมล้ำค่าสุดประมาณฉันนั้น
อย่าว่าแต่มนุษย์หรือสัตว์เลย บรรดาพืชพันธุ์ที่งอกงาม เมื่อไร้สิ่งกีดขวางใดๆ ปวงพืชต่างเติบโตเต็มศักยภาพของเขา แม้แต่ต้นเฟิร์น ต้นมอส หรือไลเคนพืชใบเล็กสุดๆ มีเพียงความชื้นและแดดรำไร ก็สามารถแทรกตัวหยัดตนยืนชีวิตตนเองได้สืบเนื่องนับร้อยนับพันปีอย่างน่าอัศจรรย์ ใครไม่เชื่อขอให้ไปเดินป่า “กิ่วแม่ปาน” ดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ จะประจักษ์ว่าเสรีภาพที่จะมีชีวิตอยู่ของพืชนั้นเองที่เลี้ยงดิน เลี้ยงน้ำ และสัตว์ป่า ดังที่ผู้เขียนได้เขียนปิดท้ายบทร้อยกรอง “กิ่วแม่ปาน” ไว้ว่า
“ผืนดินใช่เพียงดิน ให้ชีวินได้เหยียบยืน
เลี้ยงป่าทั้งแผ่นผืน บำรุงน้ำผ่องอำไพ
ผืนน้ำใช่เพียงน้ำ อันชุ่มฉ่ำ เย็นชื่นใจ
เลี้ยงดินและป่าใหญ่ รินไหลหลอมรวมสายชล
ผืนป่าใช่เพียงป่า สรรพพฤกษา อ่าอำพน
เลี้ยงโลก เลี้ยงผองชน บันดาลดล โลกสมดุล”
เมื่อปี 2512 มีหนังเรื่อง “ฆ่าแล้วเผา” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษสั้นๆ ว่า BURN เปิดฉายที่โรงหนังพาราเม้าท์ ใกล้ประตูน้ำ นำโดย มาร์ลอน แบรนโด แสดงเป็น เซอร์วิลเลียมมาร์คเกอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนของอังกฤษ มาควบคุมการลุกขึ้นสู้ของทาสอัฟริกันที่เกาะแห่งหนึ่ง
จำได้ดีว่ากลุ่มเคลื่อนไหวต่อสู้ใช้คำพูดปลุกใจประโยคหนึ่ง ที่มีพลังมากว่า
“เสรีภาพที่เขาให้ไม่เสรี
เสรีภาพจักสมปองต้องต่อสู้”
ปลายปี 2515 รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ออกประกาศคณะรัฐประหารฉบับที่ 299 เป็นกฎหมายให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้าแทรกแซงฝ่ายตุลาการ ทำให้นิสิตนักศึกษาจำนวนหลายพันคนออกมาชุมนุมต่อต้านที่หน้าศาลฎีกา สนามหลวง เรียกว่า “กฎหมายโบว์ดำ” ในที่สุดประกาศนั้นต้องยกเลิกไป
ในเวลานั้น บทกวีที่เชิดชูเสรีภาพถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเป็นของ รวี โดมพระจันทร์ (ยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ) เขียนไว้ว่า
“ตื่นเถิดเสรีชน อย่ายอมทนก้มหน้าฝืน
ดาบหอกกระบอกปืน หรือทนคลื่นกระแสเรา
แผ่นดินมีหินชาติ ดารดาษความโฉดเขลา
ปลิ้นปล้อนตะลอนเอา ประโยชน์เข้าเฉพาะตน
จงสู้จนสุดฤทธิ์ แม้ชีวิตจะดับพ้น
ศักดิ์ศรีมนุษยชน อย่ายอมทนเป็นทาสใคร”
ในยุคที่สยามยังมีระบบไพร่ทาสนั้น
ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงโปรดให้ออก “พระราชบัญญัติ เลิกทาส รศ. 124” เมื่อ 1 เมษายน 2448 ให้ลูกหลานทุกคนเป็นไท ส่วนทาสประเภทอื่นที่ไม่ใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวให้เดือนละ 4 บาท แล้วยังมีบทบัญญัติป้องกันไม่ให้คนที่เป็นไทแล้วกลับมาเป็นทาสอีก
ก่อนหน้านั้นพลเมืองไทยถึงหนึ่งในสามของประเทศเป็นไพร่ทาสประเภทต่างๆ ที่ต้องขึ้นต่อนายเงินอย่างไม่มีเงื่อนไข นายเงินจะจิกหัวใช้อย่างไรก็ได้ แม้ลูกที่เกิดจากทาสก็ต้องมีฐานะเป็นทาสต่อไป
กฎหมายเลิกทาส จึงทำให้คนไทยเป็นไทมาจนทุกวันนี้ สภาพที่พันจากความเป็นทาสคือการมีอิสระ มีเสรีภาพที่จะดำเนินชีวิตตามวิถีของตนเอง ไม่ได้ขึ้นกับนายเงินอีกต่อไป
เป็นพระราชกรณียกิจอันสูงส่งที่ทำให้คนชั้นสูงไม่อาจกดขี่แรงงานหรือถูกบังคับให้ส่งทรัพย์สินให้นายทาสโดยไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด
เสรีภาพจึงเป็นแรงปรารถนาของสรรพชีวิต สภาวะที่หลุดพ้นไปจากพันธนาการทั้งปวง ซึ่งเปิดทางให้แก่การสร้างสรรค์ในทุกมิติ
ลองนึกดูเถิดว่า หากคนเราไม่มีเสรีภาพในการพูด การแสดงออกทางความคิด ถ้าเราเลือกอาชีพไม่ได้ เพราะถูกกำหนดมา จะเดินทางไปไหนก็ถูกห้ามเดินทาง จะเลือกคู่ครองก็ทำไม่ได้ จะค้นคิดประดิษฐ์ สร้างอะไรก็ถูกห้ามไปทั้งหมด อยากรู้อยากเรียนอะไร ก็ไม่ได้เรียนรู้ อย่างนี้แล้ว เราจะมีความเป็นมนุษย์เหลือตรงไหน
เสรีภาพ จึงเป็นพลังขับเคลื่อนมนุษยชาติให้ก้าวไปในทุกทิศทาง ความก้าวหน้าในการแสดงออก ความแตกต่างหลากหลายทางความคิดที่ไม่ถูกกีดกั้น ความเท่าเทียมกันในระบบยุติธรรมที่จะเข้าถึงได้ ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากเสรีภาพที่เป็นแกนกลางของพลังสร้างสรรค์ใน ทุกมิติ
เรามีนวัตกรรมใหม่วันละนับร้อยนับพันชิ้น เพราะเสรีภาพ 50 ปีที่แล้ว ใครเลยจะคาดคิดว่าคนเราสามารถมีคอมพิวเตอร์ประจำตัวที่ใช้งานได้สารพัดอย่าง อย่างที่เห็นในทุกวันนี้ เสียงก็ ได้ยิน สีก็ปรากฏ ภาพก็ได้เห็น ภาพเคลื่อนไหวก็ดูได้ เหลือแต่กลิ่นและรสชาติเท่านั้นที่ยังไปกันไม่ถึง
อย่างไรก็ตาม เสรีภาพไม่อาจยืนอยู่โดดเดี่ยว โดยปราศจากความรับผิดชอบต่อผู้อื่นเพราะคนอื่นก็มีเสรีภาพในชีวิตและทรัพย์สินดุจเดียวกับเราและทุกคน เราจึงไม่อาจไปละเมิดเสรีภาพของใครอื่นได้
เสรีภาพที่ล้นเกินของสหรัฐอเมริกาที่วางตัวเป็นเจ้าโลก จึงเกะกะระรานสร้างกองกำลังและฐานทัพไปรุกรานประเทศอื่นมากมาย แม้ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมืองใหญ่หลายเมืองกลายเป็นเมืองบาป มีการตีชิง วิ่งราว มีคนไร้บ้าน มีคนอดอยากยากไร้มากมาย มีคนพร้อมจะใช้ปืนกราดยิงเด็กนักเรียนอย่างโหดเหี้ยม
เรารู้จัก แจ็ค หม่า อภิมหาเศรษฐี เจ้าของ Alibaba บริษัทเทคโนโลยีใหญ่สุดของจีน เมื่อปี 2020 ขณะที่เขากำลังขยายอาณาจักรเทคโนโลยี ANT GROUP ทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในที่สุด ทางการจีนต้องแตะเบรกความยิ่งใหญ่ของเขาไว้ เพราะจีนถือว่าทุนที่ยิ่งใหญ่จะเอาเปรียบและทำลายทุนย่อยให้พินาศไป เสรีภาพของแจ็ค หม่า จึงถูกจำกัด
เสรีภาพจึงเป็นแรงปรารถนาของสรรพชีวิต สภาวะที่หลุดพ้นไปจากพันธนาการทั้งปวง ซึ่งเปิดทางให้แก่การสร้างสรรค์ในทุกมิติ
และแน่นอน เสรีภาพไม่อาจยืนอยู่ โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครหรือต่อสรรพสิ่งอื่นๆ
สัตว์ที่มีสัญชาตญาณดุร้าย หากนำมาเลี้ยงก็ต้องถูกจำกัดขอบเขตในกรงขัง เช่นสุนัขพันธุ์ดุ เสือ หรืองู มิฉะนั้นมันอาจไปทำร้ายคนอื่นได้
ทุกคนมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น แต่จะไปพูดจาหยามหมิ่นคนอื่นให้เสียหายไม่ได้ กฎหมายอาญาว่าด้วยการหมิ่นประมาทจึงเข้ามากำกับ
คนมีเสรีภาพในการเดินทาง ในการใช้ชีวิตก็จริง แต่ก็ไม่อาจไปละเมิดคนอื่นด้วยการปล้นทรัพย์ หรือไปฆ่าใครตามอำเภอใจได้
อย่างไรก็ตาม เสรีภาพ เป็นแรงปรารถนาพื้นฐานของผู้คนทั่วโลก เป็นแรงผลักดันไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า สังคมที่ศิวิไลซ์กว่า มีสันติสุขมากกว่า มีความเป็นธรรมที่ยั่งยืนกว่า
ดังที่ อ.ประเวศ วะสี ชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คือ “การเกิด Big Bang แห่งจิตสำนึกของคนหนุ่มสาวอันหาได้ยาก เป็น “หัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์” การระเบิดตูมใหญ่แห่งหัวใจ เพื่อเพื่อนมนุษย์ได้แผ่รังสีกระจายไป เป็นปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมไทย การเคลื่อนไหวเพื่อคนจนและความยุติธรรมก็ดี เรื่องสิทธิมนุษยชนก็ดี เรื่องการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยก็ดี เรื่องศิลปะเพื่อชีวิตก็ดี เรื่องการแพทย์เพื่อประชาชนก็ดี แม้แต่การเกิดขึ้นของมูลนิธิเด็กก็ดี ล้วนมีเหตุปัจจัยมาจากการระเบิดจิตสำนึกใหม่ หัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ทั้งสิ้น เป็นความงดามที่เกิดบนแผ่นดินไทย ซึ่งควรเข้าไปสู่จิตใจของเด็กๆ”
จึงเห็นได้ว่า คุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของ 14 ตุลา คือ การเปิดเนื้อดินของพื้นที่สาธารณะที่ทำให้แมกไม้แห่งเสรีภาพนานาพรรณเติบโตและงอกงาม
อำนาจไม่อาจผูกขาดอยู่กับทหารหรือชนชั้นนำอย่างเบ็ดเสร็จจำนวนจำกัดได้อีกต่อไป แต่พลังแห่งเสรีภาพ ทำให้ปุถุชนมีพลังสร้างสรรค์ขึ้นมาในทุกมิติ สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกกำหนดและมีบทบัญญัติประกันไว้ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เกิดขึ้นตามมา