"...1. แม้โทรทัศน์แบบดั้งเดิม (มีการออกอากาศและรับชมรายการตามผังเวลา) จะดูเหมือนเข้าสู่อัสดงเพราะจำนวนผู้ชมที่ลดลง แต่ margin และกำไรที่ได้ยังมีอัตราสูงกว่า streaming หรือโทรทัศน์แบบon demand ที่แม้จะมีการเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ทำกำไรได้ยากกว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของภูมิทัศน์ทีวีที่ปรับเปลี่ยน จึงสะท้อนภาพระหว่าง profit vs. growth ที่ยังหาจุดสมดุลไม่ได้..."
ผ่านไปสองสัปดาห์ ที่ยุ่งมากๆกับสารพัดสิ่ง เพิ่งมีเวลาเรียบเรียงมานำเป็นความรู้สู่กันค่ะ
เก็บตก 10 ข้อมูลและความรู้ที่น่าสนใจสำหรับวงการวีดิทัศน์ (ครอบคลุมทั้งโทรทัศน์ ภาพยนตร์ สตรีมมิ่ง และวีดิโอบนโซเชียลมีเดีย) จากเวที Asia Video Summit ที่ Hong Kong เมื่อ 20-21 มิถุนายนที่ผ่านมา
1. แม้โทรทัศน์แบบดั้งเดิม (มีการออกอากาศและรับชมรายการตามผังเวลา) จะดูเหมือนเข้าสู่อัสดงเพราะจำนวนผู้ชมที่ลดลง แต่ margin และกำไรที่ได้ยังมีอัตราสูงกว่า streaming หรือโทรทัศน์แบบon demand ที่แม้จะมีการเติบโตและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ทำกำไรได้ยากกว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของภูมิทัศน์ทีวีที่ปรับเปลี่ยน จึงสะท้อนภาพระหว่าง profit vs. growth ที่ยังหาจุดสมดุลไม่ได้
2. แพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Netflix พยายามสร้างกำไรให้เพิ่มขี้นด้วยการกำหนดนโยบายใหม่ว่า ผู้ใช้ Netflix ต้องอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน หากจะใช้นอกครัวเรือนจะต้องจ่ายเงินเพิ่ม $7.99 ต่อเดือนต่อบุคคลภายนอกครัวเรือน สืบเนื่องจากปัญหาคนใช้แอบแฝงเยอะ เลยทำให้รายได้ Netflix น้อยกว่าความเป็นจริง หากนำรายได้รวมของ Netflix หารจำนวนผู้ใช้จริงๆ แล้ว ถือว่า Netflix มีรายได้ (ARPU) ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก (ARPU คือ Average Revenue Per User คือ รายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการต่อลูกค้าหนึ่งคน) สำหรับ netflix ก็คือ ค่าบริการที่ผู้ใช้จ่ายให้ netflix ต่อเดือนต่อครัวเรือน ในเอเชีย Netflix มีรายได้จากหนึ่งครัวเรือนเพียง $8.5 ต่อเดือนต่อครัวเรือน ในปี 2022
Evolution of video
3. กลยุทธ์หลักเพื่อการอยู่รอดของบริการ streaming คือ คือการดึงดูด การรักษาไว้ และการสร้างความบันเทิงให้ผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง (attract, retain and entertain users) ในบริบทนี้ การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้ใช้ (user experience) ทั้งในแง่ประสบการณ์การรับชม อรรถรส และรสนิยม มีความสำคัญมาก จึงจำเป็นต้องพึ่งพิงระบบส่งข้อมูลที่มีความเสถียรสูง ตลอดจนการเก็บและการประมวลข้อมูลพฤติกรรมผู้ใช้บนแพลตฟอร์มโดยAI เพื่อสร้างการตอบสนองให้ดีที่สุด
4. จากการสำรวจในภูมิภาคเอเชียของผู้ใช้งานบริการ streaming หรือเว็บที่ให้บริการ video content ใดๆ พบว่า 26 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้มือถือจะตัดสินใจ leave เว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มที่ใช้เวลาโหลดนานกว่า 4 วินาที แพลตฟอร์มจึงจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานในการส่งข้อมูลที่รองรับ speed ในระดับนี้ได้
5. ช่วงความสนใจของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตปัจจุบันสั้นยิ่งกว่าปลาทอง ข้อมูลจากผลการวิจัยที่อ้างอิงในงานนี้พบว่า สมาธิของมนุษย์โดยเฉลี่ยลดลง 66% จาก 12 วินาทีเหลือ 8 วินาทีซึ่งนับว่าสั้นกว่าช่วงความสนใจเฉลี่ยของปลาทอง ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งของการลดลงของช่วงความสนใจคือการได้รับความบันเทิงอย่างต่อเนื่องจากบริการแบบstreamingที่โหลดได้เร็ว และตอบสนองต่อการมีปฏิสัมพันธ์อย่างทันที
6. ผู้ใช้งานบริการ streaming แบบบอกรับสมาชิกมีแนวโน้มจะเป็นผู้ใช้แบบ hit and run หรือ ชนแล้วหนี กล่าวคือ บอกรับสมาชิกบริการstreaming เพื่อดูรายการใดรายการหนึ่งแล้วก็บอกเลิกเมื่อดูรายการนั้นจบ งานวิจัยในภูมิภาคเอเชียพบว่า 62% ของผู้ใช้งานบริการ streaming สมัครสมาชิกเพื่อรับชมรายการใดรายการหนึ่งและยกเลิกทันทีที่ดูจบ
7. อีกกลยุทธสำคัญของบริการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งระดับสากล อย่าง Netflix หรือ iQIYI คือ แนวทางที่รู้จักกันดีของบรรษัทข้ามชาติคือ Think Global, Act Local ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำ subtitle เป็นภาษาท้องถิ่น หรือการพากย์เสียง (dubbing) เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคด้านภาษาในแต่ละตลาด ไปจนถึงการผลิตเนื้อหาร่วมกับสตูดิโอหรือ Production House ในประเทศนั้นๆ ในลักษณะที่จะเก็บเกี่ยวและใช้ประโยชน์จากพรสวรรค์ในแต่ละประเทศเพื่อสร้างสรรค์ content product ที่ขายได้ทั้งในระดับประเทศและสากล
8. AI มีความสำคัญมากในวงการวีดิทัศน์ ในส่วนของแพลตฟอร์มที่ให้บริการ streaming นอกจาก AI จะถูกใช้ในการแปลsubtitle ได้หลายภาษาแล้วยังสามารถใช้ผลิตเสียงพากย์จากเสียงเดียวให้เปลี่ยนเป็นได้หลายเสียงที่แตกต่างได้ ตลอดจนใช้ในการสร้าง immersive brand experience ผ่านเนื้อหา
นอกจากนี้ Studio ขนาดใหญ่ทั้งหลายยังใช้AI อย่างเข้มข้นในการสร้างภาพยนตร์ทั้งในแง่ visual effects และการสร้าง virtual humans ขึ้นมาแทนที่นักแสดงตัวเป็นๆ โดยเฉพาะในภาวะที่นักแสดงไม่สามารถมาถ่ายทำได้อย่างในช่วง Covid เป็นต้น
ตัวแทนจากบริษัท Digital Domain ซึ่งเป็นผู้นำด้านAIในภาพยนตร์ (บริษัทนี้ก่อตั้งโดย James Cameron ผู้กำกับชื่อดังจาก Titanic และ Avatars) บอกเลยว่าตัวละครบางตัวใน Avengers Endgame มาจากการสร้างสรรค์ของ AI ล้วนๆ
เปรียบเทียบสัดส่วนรายได้ของPay TV ในยุคนี้ของประเทศในภูมิภาคเอเชีย
9. เมื่อเปรียบเทียบกิจการโทรทัศน์ประเภทเสียเงินรับชม (Pay-TV) ในเอเชียสามประเภท พบว่า SVOD (วิดีทัศน์ตามคำขอแบบบอกรับสมาชิก) มีการเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ Pay TV (Cable และ Satellite) ก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน นอกจากนี้ Bundled Video (การที่บริการโทรคมนาคมเช่น อินเทอร์เน็ตบ้าน หรือ Mobile ให้บริการคอนเท้นท์ที่เป็นvideo ทั้งแบบ linear และ on-demand แบบขายพ่วง) ก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีสัดส่วนของรายได้โดยเฉพาะจากโฆษณาไม่มากนัก
10. การกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจยุคหลังโควิดไม่ได้เกิดขึ้นตามที่คาดในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคถูกบั่นทอนจากภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนที่สูงขึ้นในการดำรงชีพ ค่าใช้จ่ายแรกที่ถูกลดลงคือการใช้จ่ายด้านความบันเทิงซึ่งก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจวีดิทัศน์แบบเสียเงินรับชมในทุกประเภท ขณะนี้ แพลตฟอร์มVoDแบบบอกรับสมาชิกระดับโลกบางรายก็กำลังก้าวเข้ามาสู่การหารายได้จากการโฆษณาแล้ว บางรายก็เริ่มให้บริการเกมควบคู่ไปด้วยเพราะมีbusiness modelที่ใกล้เคียงกัน แถมยังสามารถอาศัยผู้เล่นเกมในชุมชนเสมือนทำ organic marketing ผ่านเนื้อหาในลักษณะ transmedia ได้ด้วย
อีกไม่กี่เดือน ทางกสทช.ก็จะร่วมกับ Asia Video Industry Association (AVIA) จัดงาน Thailand in View เพิ่อเป็นเวทีความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมวีดิทัศน์ของไทย จากมุมมองสากลและในประเทศ คอยติดตามกันนะคะ