ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ขณะที่ในกรุงเทพฯกำลังมี “สงครามคลิป” ระหว่างทหารกับกลุ่มคนเสื้อแดง ด้วยการนำภาพวิดีโอในคืนปะทะ 10 เมษายน มาเปิดเผยผ่านสื่อแขนงต่างๆ เพื่อปกป้องตนเองและกล่าวหาอีกฝ่ายว่าเป็นผู้ใช้ความรุนแรงก่อนนั้น ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มี “สงครามคลิป” เช่นกัน และมีมาก่อนที่กรุงเทพฯเสียอีก
คลิปหรือภาพอื้อฉาวที่กลายเป็นหัวข้อสนทนาของคนในพื้นที่ เอาเฉพาะในรอบปีมานี้ ถูกเผยแพร่มาแล้วอย่างน้อยๆ ก็ 5 คลิป ได้แก่
1. คลิปชายฉกรรจ์แต่งชุดทหารรุมทำร้ายร่างกายเด็กหนุ่มมุสลิม คลิปนี้ปรากฏออกมาเมื่อปีที่แล้ว และสร้างกระแสฮือฮาอย่างมาก กระทั่งภายหลังฝ่ายทหารออกมายอมรับว่าเป็นภาพเหตุการณ์จริงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่เกิดขึ้นเมื่อหลายปีก่อน และไม่ใช่กำลังพลชุดที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน (กลับหน่วยต้นสังกัดไปแล้ว) แต่ก็ได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดย้อนหลัง
2. ภาพพระสงฆ์เข้าไปร่วมละหมาดในมัสยิดพร้อมกับผู้นำศาสนาและชาวบ้านมุสลิม ภาพชุดนี้ส่งเป็นฟอร์เวิร์ดเมล์ (ส่งต่อๆ กันในรูปแบบจดหมายอิเล็กทรอนิกส์) พร้อมคำอธิบายทำนองว่ามีขบวนการให้มุสลิมปลอมเป็นพระสงฆ์ เพื่อหวังทำลายพระพุทธศาสนา
อย่างไรก็ดี แม้ฟอร์เวิร์ดเมล์ชุดนี้จะถูกส่งไปอย่างกว้างขวาง แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ตามมาพอสมควร บ้างก็ว่าดูจากภาพน่าจะเป็นกลุ่มพระสงฆ์ไปเยี่ยมชมกิจการของศาสนาอิสลาม ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งมากกว่า บ้างก็ว่าศาสนาไม่ใช่จะทำลายกันง่ายๆ เพียงแค่การปลอมตัว และที่สำคัญภาพชุดนี้ได้รับการยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ค่อนข้างแน่นอน
3. คลิปชายฉกรรจ์หน้าตาคล้ายคนมุสลิมกำลังรุมทำร้ายหญิงสาวคนหนึ่งท่ามกลางสายตาผู้คนจำนวนมาก คลิปนี้เพิ่งส่งต่อๆ กันในปีนี้เอง โดยผู้ส่งเขียนข้อความประกอบอ้างว่าเป็นภาพเหตุการณ์ขณะชาวบ้านกำลังกรุ้มรุมทำร้าย ครูจูหลิง ปงกันมูล ครูไทยพุทธซึ่งสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านกูจิงลือปะ ต.เฉลิม อ.ระแงะ จ.นราธิวาส จนเสียชีวิตอย่างโหดเหี้ยมเมื่อปี 2549
อย่างไรก็ดี คลิปนี้ได้รับการปฏิเสธจากผู้เชี่ยวชาญในเวลาต่อมาว่าไม่ใช่คลิปเหตุการณ์ทำร้ายครูจูหลิง ประกอบกับสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์กรุ้มรุมทำร้ายครูจูหลิงนั้น คือในห้องของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านกูจิงลือปะ ไม่ใช่กลางแจ้งดังที่ปรากฏในคลิป
4. คลิปชายมุสลิมกำลังสอนเด็กมุสลิมให้ยิงปืน คลิปนี้เพิ่งถูกเผยแพร่ผ่านสื่อกระแสหลัก โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์หัวสีหลายฉบับและรายการข่าวทางโทรทัศน์เมื่อสัปดาห์ก่อนสงกรานต์นี่เอง โดยตามข่าวอธิบายว่าพบคลิปนี้ในโทรศัพท์มือถือของผู้ต้องหาแนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบรายหนึ่งซึ่งเพิ่งถูกจับกุม และกลายเป็นหลักฐานว่ามีความพยายามฝึกเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้ร่วมปฏิบัติการความรุนแรง
5. คลิปชายฉกรรจ์ชุดดำอ้างว่าเป็นทหารพรานกำลังข่มขืนหญิงสาวคนหนึ่งที่ถูกอ้างว่าเป็นหญิงมุสลิม คลิปนี้กำลังเป็นที่ฮือฮาอยู่ในปัจจุบัน เพราะถูกส่งต่อๆ กันเยอะมาก โดยผู้ส่งระบุว่าเป็นการกระทำของกลุ่มทหารพรานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครยืนยันว่าเป็นภาพเหตุการณ์จริงดังที่กล่าวอ้างหรือไม่
ระบาดหนักเพราะส่งได้ทั้งอีเมล์-มือถือ
สถานการณ์การส่งต่อคลิปหรือภาพอื้อฉาว ชัดเจนว่าไม่ได้มีเฉพาะคลิปอธิบายเหตุการณ์ด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะจะเห็นว่าบางคลิปเป็นเหตุการณ์ที่มุ่งโจมตีทหารในฐานะตัวแทนรัฐไทยที่ปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่บางคลิปก็เป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลทำลายภาพพจน์ของพี่น้องมุสลิม หรือกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบเช่นกัน
แน่นอนว่าไม่ว่าคลิปแต่ละคลิป ภาพแต่ละภาพ ผู้ส่งจะมีเจตนามุ่งทำลายฝ่ายใดก็ตาม ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความเกลียดชังกันของคนในชาติ ทำให้มุสลิมเกลียดพุทธ ทำให้พุทธเกลียดมุสลิม หรือทำให้มุสลิมเกลียดทหาร ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความพยายามสถาปนาสันติสุขให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดี หรือกับประเทศไทยในภาพรวมก็ดี
นอกจากนั้น ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาอย่างเร่งด่วนก็คือ การแพร่กระจายของคลิปหรือภาพอื้อฉาวเหล่านี้ ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและกว้างขวางตามวิวัฒนาการของสื่อสมัยใหม่ (New media)
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่าการส่งต่อคลิปหรือภาพไม่ได้ส่งกันเฉพาะทางอีเมล์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะเปิดชมได้เฉพาะคนที่มีคอมพิวเตอร์เท่านั้น ทว่ามีการส่งภาพและคลิปผ่านระบบโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันแทบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือใช้ส่วนตัว โดยเฉพาะเด็กๆ และเยาวชน
“เพื่อนส่งมาให้ คลิปพวกนี้ผมได้รับตั้งนานแล้ว คนที่นี่เขาดูกันหมดแล้ว รู้สึกแย่ทุกครั้งเวลาได้รับคลิปพวกนี้ จะไม่เชื่อก็ไม่ได้เพราะมีภาพให้เห็นขนาดนี้แล้ว ส่วนความจริงจะเป็นอย่างไรผมไม่รู้ แต่ต้องเชื่อตามที่ตาเห็น”
เป็นคำตอบที่ได้รับจากเยาวชนมุสลิมในพื้นที่ จ.ปัตตานี ซึ่งเขายังโชว์คลิปในมือถือให้ดูด้วย ปรากฏว่าหนึ่งในหลายๆ คลิปคือคลิปชายฉกรรจ์ชุดดำกำลังข่มขืนผู้หญิง!
ไม่เพียงแค่เด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่จากการลงพื้นที่สอบถามผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นถึงวัยทำงาน ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ส่วนใหญ่ได้ดูคลิปที่ตกเป็นข่าวแล้วทั้งสิ้น
นี่ยังไม่นับการสื่อสารผ่านช่องทางใหม่ๆ ประเภท “โซเชียล มีเดีย” (Social Media) อาทิ ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค ซึ่งจะทำให้ข่าวบางข่าวแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น และมีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเจาะจงมากขึ้นในลักษณะ “เครือข่าย” หรือ “เน็ตเวิร์ค” (Network)
หากข่าวนั้นเป็นข่าวไม่จริง แต่ถูกทำให้เสมือนเป็นเรื่องจริง ย่อมกลายเป็น “ปฏิบัติการข่าวสาร” ประเภท “ข่าวลือ” ที่ส่งผลในแง่ความเกลียดชังให้เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย และน่าสะพรึงกลัวยิ่ง
กองทัพผวาคลิปฝึกอาวุธ-ข่มขืน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปรากฏคลิปอื้อฉาวถูกเผยแพร่ครั้งแล้วครั้งเล่า ได้สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่น้อยเลย
แหล่งข่าวระดับสูงจากกองบัญชาการผสมพลเรือนตำรวจทหาร (พตท.) ให้ข้อมูลว่า คลิปที่น่าหนักใจมากที่สุดในขณะนี้คือคลิปฝึกอาวุธให้เด็กมุสลิม กับคลิปข่มขืน
“คลิปฝึกอาวุธแม้จะไม่ได้ทำลายภาพลักษณ์ทหาร แต่การที่สื่อกระแสหลักนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางเป็นเรื่องอันตราย เพราะแสดงให้เห็นว่าในพื้นที่มีการฝึกเด็กไปเป็นนักรบ หรือมีการใช้ทหารเด็ก (ของฝ่ายก่อความไม่สงบ) ตรงนี้จะส่งผลกระทบในเวทีนานาชาติ เพราะการใช้ทหารเด็กเป็นเรื่องต้องห้ามและขัดกับหลักสากล”
“ส่วนคลิปข่มขืนนั้น แม้ขณะนี้ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่หลายคนที่ได้รับก็เชื่อไปแล้ว และประเด็นการข่มขืนเป็นเรื่องที่แรงมากในความรู้สึกของมุสลิม” แหล่งข่าว ระบุ
แจงคลิปข่มขืนมีเงื่อนงำ-แม่ทัพ 4 สั่งสอบด่วน
พ.อ.บรรพต พูลเพียร หัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นสงสัยว่าคลิปข่มขืนน่าจะเป็นการจัดฉาก เพราะพบข้อสังเกตที่ไม่น่าเป็นไปได้ถึง 6 จุด แต่เพื่อความเป็นธรรมก็ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
“ขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบว่าเป็นคลิปเหตุการณ์จริงหรือไม่ และเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนภาคใต้หรือเปล่า ล่าสุด พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ได้สั่งการมาว่า ให้ดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะกระทบกับความรู้สึกของพี่น้องในพื้นที่ หากตรวจสอบพบว่าเป็นภาพเหตุการณ์จริง ก็จะไม่ละเว้น ต้องลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนตามกฎหมาย” พ.อ.บรรพต ระบุ
ในส่วนของการป้องกันการเผยแพร่คลิปทั้งที่เป็นเรื่องจริงและไม่จริง แต่หวังให้เกิดความเข้าใจผิดในพื้นที่นั้น พ.อ.บรรพต กล่าวว่า ต้องขอความร่วมมือจากสื่อไม่ให้เผยแพร่จนกว้างขวางออกไป ขณะเดียวกันก็ต้องชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน เพราะทั้งหมดนี้ก็คือส่วนหนึ่งของสงครามแย่งชิงมวลชนที่กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหยิบมาใช้
ศอ.บต.เต้น-ยังไม่พบผู้เสียหายร้องเรียน
นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายเเดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) กล่าวว่า เรื่องที่เกิดขึ้นทุกฝ่ายไม่อาจนิ่งนอนใจได้ และต้องรีบหาทางออกโดยเร็วที่สุด เนื่องจากส่งผลกระทบในวงกว้าง
อย่างไรก็ดี ในเบื้องต้นได้สั่งการให้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านหรือผู้เสียหาย เพราะเข้าใจว่าหากเกิดกรณีทำร้ายร่างกายหรือละเมิดทางเพศ อาจจะมีการร้องเรียนหรือแจ้งความเอาไว้บ้าง แต่เมื่อตรวจสอบข้อมูลจากศูนย์คอลล์เซ็นเตอร์ หมายเลขโทรศัพท์ 1880 ยังไม่พบว่ามีใครร้องเรียนเข้ามา
“อยากจะขอประชาสัมพันธ์ไปยังผู้เสียหายและพี่น้องประชาชนว่า หากมีเรื่องใดที่ท่านถูกละเมิดสิทธิ์ สามารถแจ้งข้อมูลมาได้ที่ ศอ.บต. เราจะตรวจสอบและให้ความเป็นธรรมอย่างเต็มที่ รวมทั้งเก็บข้อมูลเป็นความลับเพื่อความปลอดภัย” นายภาณุ กล่าว
นักวิชาการชี้เป็น “สงครามจิตวิทยา”
ผศ.อับดุลเลาะ อับรู นักวิชาการชื่อดังจากวิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า คลิปที่ส่งต่อๆ กันไปทั่วนั้นคงมีทั้งจริงและไม่จริง โดยส่วนตัวก็เคยได้ยินได้เห็นหลายคลิปเหมือนกัน เช่น กรณีพระร่วมละหมาดในมัสยิดพร้อมผู้นำศาสนา เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน จ. สตูล หรือคลิปทหารพรานซ้อมทรมานชาวบ้าน ก็มีการเผยแพร่ไปทั่วโลก ถือเป็น "สงครามจิตวิทยา" แบบหนึ่ง
“ผลของมันอยู่ที่คนรับสาร คือผู้ที่ได้อ่าน ได้เห็นภาพเหล่านั้นจะรู้สึกเชื่อถือจริงจังขนาดไหน แต่เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของสงคราม อะไรที่เป็นประโยชน์เขาก็จะทำ”
ผศ.อับดุลเลาะ กล่าวต่อว่า สังคมมุสลิมจะคิดมากกับเรื่องการข่มขืนและซ้อมทรมาน เพราะเป็นบาปใหญ่ การส่งคลิปต่อๆ กันไม่เป็นผลดีกับรัฐแน่ และไม่มีประโยชน์อะไรเลยต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแต่ผลลบ ฉะนั้นต้องรีบแก้ไข
“ในพื้นที่มีปัญหามาตลอด แล้วมาเจอเรื่องแบบนี้อีก จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงยังไม่รู้ แต่เมื่อมีการส่งต่อๆ กันเยอะๆ ได้ดูซ้ำๆ อย่างที่รัฐบาลทำอยู่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 10 เมษายน (เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างทหารกับกลุ่มคนเสื้อแดง) ก็เป็นการตอกย้ำความรู้สึกให้กับประชาชน ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่ดี เช่นเดียวกับสงครามคลิปในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ผศ.อับดุลเลาะ กล่าว
องค์กรสิทธิแจงคลิปครูจูหลิง “ของเก๊”
สำหรับคลิปวิดีโอที่อ้างว่าเป็นคลิปเหตุการณ์กรุ้มรุมทำร้ายครูจูหลิง ปงกันมูล เมื่อปี 2549 ได้มีคำยืนยันจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่งที่ทำงานอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ภาพเหตุการณ์ในคลิปนี้น่าจะไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย และไม่ใช่ครูจูหลิง ปงกันมูล
“เกี่ยวเนื่องกับคลิปวิดีโอที่มีการเผยแพร่กันอย่างกว้างขวางในอินเตอร์เน็ต ที่มีชื่อว่า ‘คลิปครูจูหลิง สะเทือนใจมากกก’ นั้น เบื้องต้นมีความเห็นว่าไม่ใช่ครูจูหลิง เพราะทรงผมที่ยาว และผู้เสียหายในคลิปน่าจะเสียชีวิตภายหลังเหตุการณ์ทันที แต่จากการติดตามคดีครูจูหลิง เหตุเกิดในห้องแคบๆ มีตู้เตียงเกือบเต็มพื้นที่ ไม่ตรงกับภาพที่ปรากฏในคลิปดังกล่าว” แหล่งข่าวจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ระบุ
แหล่งข่าวคนเดียวกัน ยังแสดงความเป็นห่วงว่า การเผยแพร่คลิปในวงกว้างเช่นนี้ จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดและเป็นการสร้างความเกลียดชังระหว่างกันและกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตก
มีรายงานจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือด้วยว่า คลิปที่อ้างว่าเป็นครูจูหลิงนี้ แท้ที่จริงแล้วเป็นภาพเหตุการณ์จากประเทศหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง
ฉะนั้นก่อนกดปุ่มเปิดคลิป โปรดตั้งสติก่อนดู!