นโยบายเชิงประจักษ์ระดับมาสเตอร์พีซจับต้องได้จริงเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาทำคลอดโครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน" หรือ “ป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว” เพียง 17 วัน ยังอานิสงส์ถึงประชาชนร่วม 63 ล้านคนทั่วประเทศ
หลักการคือ ชาวไทยที่อยู่ในระบบสุขภาพ 3 ระบบ ได้แก่ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) 47.7 ล้านคน ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม 10 ล้านคน และผู้ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการอีก 5 ล้านคน สามารถรับการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ “ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ” ทั้งสังกัดรัฐและเอกชน รวม1,262 แห่ง
ที่สำคัญ ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย หรือสำรองจ่ายใดๆ
สัญญาณลดความเหลื่อมล้ำในระบบประกันสุขภาพของพรรคเพื่อไทย ถูกส่งออกมาครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ได้เดินทางไปมอบนโยบายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยให้แนวทางว่า จำเป็นต้องมีชุดสิทธิประโยชน์พื้นฐานสำหรับ 3 กองทุนสุขภาพ
เรื่อยไปจนถึงวันที่ 20 ม.ค. ยิ่งลักษณ์นั่งหัวโต๊ะเรียกประชุมผู้บริหาร 3 กองทุนสุขภาพร่วมกันเป็นครั้งแรก วันดังกล่าวมีการให้กรอบการทำงานเพื่อบูรณาการ 3 กองทุนกรณี "เจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียว" โดยให้การบ้านแก่ 3 กองทุนเพื่อจัดทำรายละเอียดกลับมานำเสนออีกครั้ง
กระทั่งเข้าสู่การประชุมร่วม 3 กองทุนสุขภาพนัดที่สอง วันที่ 2 มี.ค. หลักการจัดทำระบบเจ็บป่วยฉุกเฉินมาตรฐานเดียวชัดเจนขึ้น สาระสำคัญคือให้โรงพยาบาลทุกแห่งรักษาผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินอย่างเต็มความสามารถ โดยไม่ต้องถามสิทธิประกันสุขภาพว่าอยู่ในระบบใด เบื้องต้นที่ประชุมเห็นชอบหลักการ
ท้ายที่สุด 13 มี.ค. นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ประชุมร่วม 3 กองทุนสุขภาพนัดที่สาม โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งของรัฐและเอกชน
สำหรับภาระค่ารักษาพยาบาลให้ 3 กองทุนสุขภาพเป็นผู้รับผิดชอบภายหลัง โดยมอบหมายให้ สปสช.รับหน้าที่เป็นหน่วยงานกลาง (Clearing House) เริ่มบังคับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. เป็นต้นไป
นิยามชี้วัดระดับความฉุกเฉิน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จำแนกออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหันซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิตหากไม่ได้รับการรักษามีโอกาสเสียชีวิตสูงอาทิ ภาวะหัวใจหยุดเต้น ภาวะหยุดหายใจ ภาวะช็อกจากการเสียเลือดรุนแรง มีอาการชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว
2.ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) ได้แก่ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันมาก หากไม่ได้รับการรักษาอาการเหล่านั้นจะรุนแรงขึ้นจนส่งผลให้เสียชีวิตหรือพิการได้ อาทิ หายใจลำบากหรือเหนื่อยหอบชีพจรช้ากว่า40 หรือเร็วกว่า 150 ครั้ง/นาที ความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท หรือตัวล่างสูงกว่า 130 มิลลิเมตรปรอท อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 35 องศา หรือสูงกว่า 40 องศา
3.ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันไม่รุนแรง อาจรอรับปฏิบัติการแพทย์ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือเดินทางไปรับบริการสาธารณสุขด้วยตนเองได้
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการ สปสช. อธิบายหลักการการจ่ายเงินชดเชยว่า กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายของตัวเอง ให้เป็นไปตามระบบปกติของทั้งสามกองทุน แต่หากเข้ารับการรักษานอกเหนือจากนี้ "ผู้ป่วยนอก" จะจ่ายตาม กลุ่มอัตราที่เรียกเก็บของกรมบัญชีกลาง ส่วน "ผู้ป่วยใน" จ่ายตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมหรือ ดีอาร์จี โดยให้น้ำหนักระดับละ 1.05 หมื่นบาท
สำหรับวิธีการของโรงพยาบาลนอกเครือข่าย คือ ผู้ป่วยจะถูกนำส่งไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่สุด โรงพยาบาลนั้นต้องให้การรักษาทันที แล้วจึงลงทะเบียนเบื้องต้น บันทึกข้อมูลการให้บริการ ก่อนจะส่งมาที่หน่วยงาน เบิกจ่ายกลางของ สปสช. จากนั้น สปสช.จะประมวลผลและจ่ายชดเชยให้กับโรงพยาบาลไปก่อน แล้วจึงส่งใบแจ้งหนี้ให้แต่ละกองทุนเพื่อจ่ายเงินคืน
อย่างไรก็ดี นโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคน" ดำเนินการภายใต้การลงนามบันทึกความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างผู้บริหาร 3 กองทุนเท่านั้น นั่นหมายถึงรัฐบาลเพียงแค่ “ขอความร่วมมือ” แต่ไม่มีอำนาจบังคับ และหากหน่วยงานหรือสถานพยาบาลใดไม่ให้ความร่วมมือ ก็ไม่มีอำนาจทางกฎหมายใดๆ จะเอาผิดได้
นอกจากนี้ กรณีดังกล่าวถือเป็นการบูรณาการบริหารจัดการร่วม 3 กองทุนสุขภาพเป็นครั้งแรก เป็นเหตุให้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาและอุปสรรคที่ต้องแก้ไข
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สรุปบทเรียนการทำงานว่า หากมองในภาพรวมปัญหาและอุปสรรคยังเกิดขึ้นไม่มากนัก ตัวเลขผู้เข้าใช้บริการไม่ได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมจนมีนัยสำคัญ ที่สำคัญยังพบว่าผู้ป่วยในพื้นที่กทม.เลือกที่จะเดินทางไปยังโรงพยาบาลเองมากกว่าจะใช้บริการสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ดังนั้นจึงยังไม่สามารถประเมินผลการดำเนินการได้
"อยากเรียนว่าให้ผู้ป่วยโทรมายัง 1669 ก่อน เพื่อคัดกรอง เช่น คนไข้บอกปวดท้องจะตายแล้วทำไมไม่ให้เป็นฉุกเฉิน แต่ทางโรงพยาบาลบอกว่าคุณเป็นโรคกระเพาะเท่านั้น มันเถียงกันยังไงก็ไม่จบ ที่ประชุมจึงคุยกันว่าให้เริ่มต้นโทร.ไปยัง 1669 ให้ไปรับเขาก็จะคัดกรองให้ ตัดสินให้" นพ.ประจักษวิชให้คำแนะนำ
นพ.ประจักษวิช บอกว่า อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ที่เริ่มดำเนินนโยบาย เริ่มพบสัญญาณจาก “โรงพยาบาลเอกชน” ขนาดกลางมาบ้างแล้วว่าจะ “ไม่เข้าร่วม” โครงการนี้ ทราบมาว่าเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนจะนัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปในวันที่ 19 เม.ย.นี้
“คำว่าไม่เข้าร่วมของโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางนั้น หมายถึงจะไม่ใช้วิธีการเบิกจ่ายในอัตราที่กำหนด คือ 10,500 บาทต่อ 1 ระดับความรุนแรงของโรค และจะไม่ทำเรื่องเบิกจ่ายไปยังสปสช.ในฐานะศูนย์เบิกจ่ายกลาง อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลเอกชนเหล่านั้นยืนยันจะรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างเต็มที่ แต่อาจจะขอเก็บค่ารักษาพยาบาลเอง” นพ.ประจักษวิช ระบุ
คุณหมอประจักษวิช อธิบายว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นเฉพาะในโรงพยาบาลเอกชนขนาดกลาง ส่วนโรงพยาบาลขนาดใหญ่หรือระดับพรีเมี่ยมนั้นยังไม่มีสัญญาณใดๆ ตีรวน ทั้งหมดมีสาเหตุมาจากรัฐบาลใช้เพียงการขอความร่วมมือด้วยการลงนามในเอ็มโอยู แต่ไม่ได้ออกเป็นกฎหมายบังคับใช้
“ในวันที่ 19 เม.ย.นี้ โรงพยาบาลเอกชนจะประชุมกัน เข้าใจว่าหากเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินสีแดง แน่นอนว่าโรงพยาบาลทุกแห่งต้องให้การรักษาตามพ.ร.บ.สถานพยาบาลกำหนดไว้ โรงพยาบาลจะไม่มีสิทธิปฏิเสธการรักษาพยาบาล แต่ในส่วนของผู้ป่วยฉุกเฉินสีเหลือง ตรงนี้ทราบว่าโรงพยาบาลเอกชนเขาอยากจะเก็บค่ารักษากันเอง” คุณหมออธิบาย
รองเลขาธิการสพฉ. ยอมรับว่า ระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์ที่ดำเนินนโยบายมีปัญหาความทับซ้อนระหว่าง 1669 ของสพฉ. กับ 1646 ของศูนย์เอราวัณ สังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตรงนี้เกี่ยวข้องกับการเมืองระดับประเทศ โดยรัฐบาลพยายามโปรโมท 1669 เบอร์เดียว ในขณะที่กทม.ก็ผลักดันให้ประชาชนใช้ 1646 ท้ายที่สุดปัญหาเรื่องความสับสนก็จะเกิด
“มันต้องบูรณาการร่วมในหลายส่วน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น เมื่อประชาชนขับรถแล้วประสบอุบัติเหตุ เขาควรที่จะโทรไปเลขหมายเดียว จากนั้นเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ในการประสานงานกันเองว่า ต้องเรียกรถพยาบาล ต้องเรียกตำรวจ ต้องเรียกรถดับเพลิง มันไม่ใช่เรื่องของประชาชนที่ต้องมานั่งจำว่าเกิดเหตุลักษณะนี้ต้องโทรเบอร์นี้ เกิดเหตุในพื้นที่นี้ต้องโทรอีกเบอร์” นพ.ประจักษวิชระบุ
นอกจากนี้ รองเลขาธิการฯ ยังมองว่า การบริการในพื้นที่กทม.จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปเพื่อจัดระบบบริการใหม่ เนื่องจากมีปัจจัยเฉพาะซึ่งแตกต่างกับจังหวัดอื่นๆ อาทิ รถติด มีตอกซอกซอยมาก การกระจายตัวของโรงพยาบาลไม่ดี สำหรับสพฉ.เองก็มีข้อจำกัดเรื่องการแบ่งรถบริการกับพื้นที่บริการที่กว้างจนเกินไป
สำหรับการปฏิรูประบบ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1.การสื่อสารให้ประชาชนรับรู้เบอร์โทรศัพท์ที่ชัดเจนหมายเลขเดียว ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำไปแล้ว 2.ความเพียงพอของทีมในทุกๆ พื้นที่ เพื่อให้เข้าถึงจุดหมายในเวลาที่เหมาะสม โดยค่าเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 10 นาที ซึ่งนับว่ายังช้าเกินไปหากเทียบกับหลายประเทศที่ใช้เพียง 6-8 นาที
3.คุณภาพของทีม ในขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องขาดแคลนกำลังบุคลากร โดยธรรมชาติของคนเมืองหากเจ็บป่วยฉุกเฉินจะมีระดับความรุนแรงสูง อาทิ เส้นเลือดในสมองแตก ดังนั้นทีมเคลื่อนที่เร็วจะเป็นต้องมีความสามารถด้านดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินเฉพาะทาง
ปัจจุบันมีโครงการผลิตเวชกรฉุกเฉิน หลักสูตรคล้ายพยาบาล เรียน 4 ปี แต่เน้นหนักในการทำงานในภาวะฉุกเฉิน อย่างไรก็ตามนักศึกษารุ่นแรกยังไม่จบออกมา พร้อมกันนี้จำเป็นต้องพัฒนาเจ้าหน้าที่จากมูลนิธิต่างๆ ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้มาตรฐานมากขึ้น
4.ห้องฉุกเฉิน ต้องลดปัญหาความหนาแน่นของผู้ป่วยลง โดยปัจจุบันพบว่าการเข้ารับบริการให้ห้องฉุกเฉินมีทั้งผู้ป่วยที่ฉุกเฉินจริงและไม่ฉุกเฉิน ทั้งนี้ปัญหาจะได้รับการแก้ไขหรือไม่นั้นลำพังสพฉ.เองคงทำไม่สำเร็จ แน่นอนว่าต้องเป็นนโยบายจากรัฐบาลเท่านั้น
นพ.ประจักษวิช ระบุว่า สพฉ.เองจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนมากขึ้นกว่านี้ โดยเฉพาะความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เรื่องการกระจายของหน่วยบริการ หากเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ จะพบว่าในต่างประเทศจะให้น้ำหนักแก่ อปท.ในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินเป็นอย่างมาก
“ก่อนหน้านี้ไม่มีใครสนใจเรื่องการพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉิน แต่ถึงตอนนี้ก็มีการพูดถึงมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน แพทย์ และโรงพยาบาล ยอมรับว่าการออกมาเป็นแม่งานในครั้งนี้ทำให้สพฉ.กลายมาเป็นเป้า แต่ถามว่าหากรอให้ทุกอย่างพร้อม 100% แล้วค่อยเริ่มโครงการ แน่นอนว่าความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นน้อย แต่ก็ไม่รับประกันว่าโครงการจะมีวันกำเนิดหรือไม่ ที่สำคัญประเทศนี้มันแปลก ต้องปล่อยให้มีปัญหาก่อนถึงของบประมาณได้” คุณหมอรายนี้กล่าว
ด้าน นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เห็นว่า ควรรอให้ครบ 1 เดือน จึงจะเห็นภาพและประเมินการทำงานได้ อย่างไรก็ตามการจัดบริการด้านเจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นโดยตัวระบบเดินไปได้ดีแล้ว สิ่งที่กังวลคือความไม่เพียงพอของหน่วยบริการ จำนวนเตียง โดยปัจจุบันโรงพยาบาลมีเตียงรวมกัน 1.2 แสนเตียง หากจะให้เพียงพอจริงๆ ต้องเพิ่มอีกถึง 50%
แน่นอนว่านโยบายที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่ย่อมมีช่องโหว่ในรายละเอียด ตรงนี้จะพิสูจน์ได้ถึงความจริงใจของรัฐบาล หากระบบได้รับการพัฒนา-ช่องโหว่ได้รับการอุดรูรั่ว ในระยะยาวประชาชนชาวไทย 63 ล้านคนจะได้ประโยชน์
ในทางตรงกันข้าม หากทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงเพื่อสร้างคะแนนเสียงทางการเมือง รัฐบาลไม่ได้ให้น้ำหนักหรือสนับสนุนเท่าที่ควรจะเป็น แน่นอนว่าในระยะยาวทุกอย่างจะล่มสลาย เป้าหมายสุขภาพมาตรฐานเดียวที่สังคมคาดหวังคงต้องพังครืน