"...ข้อมูลและพฤติการณ์ของข้าราชการและผู้บริหาร อบจ. ที่ถูกโยกย้ายครั้งนี้ ล้วนเป็นข้อมูลที่ปรากฎอยู่ในรายงานการตรวจสอบของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และบางเรื่องก็เคยมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนไปบ้างแล้ว.."
สร้างความฮือฮาให้กับสังคมไทยอีกครั้ง! เมื่อ "พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น ลอตสอง รวมจำนวน 71 ราย ในช่วงเย็นวันที่ 25 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับเหตุผล และ ที่มาของคำสั่งโยกย้ายครั้งล่าสุดนี้มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ตรวจสอบข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูง ใน คสช. พบว่า กลุ่มข้าราชการ และผู้บริหารองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นที่ ถูกออกโยกย้ายตำแหน่งครั้งนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากพฤติการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงกระบวนการตรวจรับงานโครงการที่ไม่เหมาะสม
อาทิ
นายขวัญชัย วงศ์นิติกร อธิบดีกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ถูกระบุว่ามีปัญหาในเรื่องการตรวจรับงานโครงการการติดตามและประเมินผลการฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่งโดยการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่น สมัยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ สมุทรปราการ
นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ถูกระบุว่ามีปัญหาเรื่องการใช้จ่ายยงบประมาณอุดหนุนวัดใน จ.สมุทรปราการ มูลค่าหลายร้อยล้านบาท นอกจากนายชนม์สวัสดิ์ พล.อ.ประยุทธ์ยังเชือด เจ้าหน้าที่ของ อบจ.ปากน้ำอีก 4 คน เรียกว่าล้างบางกันเลยทีเดียว
นายพรชัย โควสุรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการจัดซื้อหนังสือเรียน และก่อนหน้านี้มีข่าวเกี่ยวพันกับการจัดซื้อจัดจ้างหลายรายการ
(อ่านประกอบ : พบ บ.คนใกล้ชิด“พรชัย”นายก อบจ.อุบลฯ โอนหุ้นอุตลุด 5 รอบ ช่วงคว้า 114.9 ล. , นายกอบจ.อุบลฯ โต้ข่าวรับเหมางาน114.9ล.โยงเครือญาติชี้ไม่ควรตั้งศาลเตี้ย , สตง.สั่งสอบแล้ว!ปม บ.โยงเครือญาติ "พรชัย" ซิวงาน อบจ.อุบลฯ 114.9 ล. , เปิดครบขุมธุรกิจ 4 บริษัทเครือญาติ“พรชัย”นายก อบจ.อุบลฯ ก่อนคว้า 114.9 ล. , อบจ.อุบลฯเช่ารถขุดดิน“บ.ขายเครื่องเขียน”โยงเครือญาติ“พรชัย”-ยอดพุ่ง 118 ล.)
นายศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กระทรวงศึกษาธิการ มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการตรวจรับงานก่อสร้างอาคารเรียน และหลักประกันสัญญาของผู้รับเหมา
พันตำรวจเอก นิรันดร์ อดุลยาศักดิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธปืน
แหล่งข่าวรายนี้ ยังยืนยันว่า ข้อมูลและพฤติการณ์ของข้าราชการและผู้บริหาร อบจ. ที่ถูกโยกย้ายครั้งนี้ ล้วนเป็นข้อมูลที่ปรากฎอยู่ในรายงานการตรวจสอบของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และบางเรื่องก็เคยมีการเปิดเผยต่อสาธารณชนไปบ้างแล้ว
กรณีของนักการเมืองท้องถิ่นนั้นส่วนใหญ่มาจากปัญหาการจัดซื้อจัดจ้าง
ส่วนการโยกย้ายในส่วนของ นายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษสำนักนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมในคำสั่งใหม่ที่ออกมา นั้น
ไม่ได้เป็นเพราะถูกตรวจสอบปัญหาการบริหารงานโครงการเพิ่มเติมแต่อย่างใด
แต่เป็นเพราะทาง คสช. ต้องการที่จะเปิดทางให้บุคคลอื่นขึ้นมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงท่องเที่ยวฯ แทนได้
เนื่องจากการโยกย้ายครั้งแรก เป็นเพียงแค่ระงับการปฏิบัติราชการในตําแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว และไปปฏิบัติราชการในตําแหน่งประจําสํานักงานปลัดกระทรวงในกระทรวงที่สังกัด
โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิมและให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดมอบหมาย
การถูกออกคำสั่งครั้งนี้ จึงถือเป็นการลาขาดจากกระทรวงท่องเที่ยวฯ แบบถาวร
ทั้งหมด คือ เบื้องหน้าเบื้องหลังเกี่ยวกับการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และผู้บริหารองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น ลอตสอง รวมจำนวน 71 ราย ที่ปรากฎเป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้