ชำแหละข้อเสนอแนะ “กปปส. ปฏิรูปประเทศ” ผ่าน “แบบสอบถาม – เว็บไซต์ – SMS” ใช้หัวข้อหลัก “ปฏิรูปเลือกตั้ง – พรรคการเมือง – ตำรวจ – ผู้ว่าฯ – คอร์รัปชั่น”
เป็นที่สงสัยและถกเถียงกันมาตั้งแต่ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการคณะกรรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) พูดย้ำจุดยืนในการ “ปฏิรูปประเทศไทย” ว่ามีเนื้อหาและสาระอย่างไรบ้าง
แม้จะมีการแย้มเป็นนัย ๆ ว่ามีแผนการปฏิรูปทั้งหมดอยู่ 3 – 4 ข้อ อาทิ ปฏิรูปการเลือกตั้ง ปฏิรูปพรรคการเมือง ปฏิรูปตำรวจ และปฏิรูปผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น แต่ก็ไม่ทราบถึงเนื้อหาสาระในการปฏิรูปเท่าที่ควร
รวมถึงถูกบุคคลบางกลุ่มมองว่า ไม่ยอมเปิดพื้นที่ความคิดให้กับประชาชนเพื่อเสนอแนะการปฏิรูปอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2557 กลุ่มนักวิชาการของ กปปส. ได้จัดทำแบบสอบถามความเห็นเรื่องการปฏิรูปไปยังผู้ชุมนุมจำนวนกว่า 400 ชุด โดยใช้ชุดคำถาม เช่น ปัญหาหรือความทุกข์ร้อน อันดับแรกที่คิดว่าสำคัญ และเรื่องที่ต้องการเห็นการปฏิรูปมากที่สุด เป็นต้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลในเปิดเว็บไซต์ www.reformthai.com ของกลุ่ม กปปส. เพื่อใช้เป็นช่องทางในการเสนอแนะความคิดเห็นในการปฏิรูปประเทศอีกช่องทางหนึ่ง โดยให้ประชาชนสร้างบัญชีผู้ใช้ และรหัสผ่าน เพื่อล็อกอินเข้าไปเสนอแนะความเห็น
โดยแบ่ง “Content” ไว้ 6 หัวข้อ คือ “บ้านลุงกำนัน/กปปส.” หรือ “Homepage” หรือหน้าแรกของเว็บไซต์
“ห้องรับแขก” ไว้ลงทะเบียนข้อมูล โดยกรอกชื่อ นามสกุล อีเมล์ รหัสผ่าน เพื่อรอรับล็อกอินเข้าไปเสนอแนะความเห็น
“ห้องปฏิรูป” และ “why reformthai” อธิบายแนวทางการปฏิรูปของ กปปส. 5 วิธี คือ
1.”เลือกตั้งดี ได้คนดีมาทำงาน” ระบุว่า ออกกฎหมายเลือกตั้งให้ปลอดโกง เพิ่มโทษคนซื้อเสียงขายเสียง ให้ประชาชนที่เห็นการโกงเลือกตั้งมีอำนาจฟ้องได้ และออกกฎหมายพรรคการเมืองไม่ตกเป็นของนายทุน
2.”ปราบโกง ป้องกันโกง เข้มข้น ตลอดชีพ” ระบุว่า ออกกฎหมายให้คนโกงรับโทษหนัก และไม่มีวันหมดอายุ ให้ประชาชนฟ้องคนโกงได้เลย และให้คดีประชาชนฟ้องคนโกงเป็นคดี “ด่วนพิเศษ” ไม่ต้องรอนาน ตัดสินเร็ว เป็นต้น
3.”ประชาชนเป็นใหญ่ จังหวัดเจริญ” ระบุว่า ออกกฎหมายให้ประชาชนในแต่ละจังหวัดเลือกผู้ว่าของตัวได้ เป็นต้น
4.”ตำรวจรับใช้ประชาชนจริง ๆ” ระบุว่า ออกกฎหมายหยุดการรวบอำนาจตำรวจไว้ที่ส่วนกลาง และประชาชนสามารถประเมินผลการทำงานของตำรวจได้ เป็นต้น
และ 5.”กินดี อยู่ดี ทั่วถึง เท่าเทียม” ระบุว่า ทำให้เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องทำเท่าเทียมกันทั่วประเทศ คือ ที่อยู่อาศัย, การทำมาหากิน, การรักษาพยาบาล และการศึกษา เป็นต้น
“Admin ขอสงวนสิทธิ์ในการลบข้อความที่ไม่สุภาพออกจากหน้าจอ แต่ความคิดเห็นทุกชิ้นจะถูกรวบรวมและนำเสนอ กปปส. แน่นอน” ข้อความในเว็บไซต์ดังกล่าว ระบุ
“ที่มาปฏิรูป” อธิบายถึงปัญหาว่าทำไมต้องมีการปฏิรูปประเทศไทย โดยยกเอาข้อความในเทปเสียง “คลิปถั่งเช่า” มาประกอบ และยกเรื่องการที่รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่ง
และท้ายสุด “จดหมายลุงกำนัน” ซึ่งระบุข้อความจาก “กำนันสุเทพ” ถึงเหตุผลในการปฏิรูปประเทศ
นอกจากเสนอความเห็นผ่านเว็บไซต์แล้ว ยังสามารถเสนอความเห็นผ่านทาง SMS ได้อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ คือช่องทางในการให้ประชาชนเสนอแนะความเห็นเรื่องปฏิรูปประเทศไทย เพื่อให้ กปปส. รวบรวมเพื่อหารือกันอีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ดี น่าสังเกตว่า การเสนอแนะความเห็นผ่านช่องทางเหล่านั้นยังกระจุกอยู่แค่หัวข้อหลัก 5 ข้อเท่านั้น ไม่ได้มี “มิติ” ในการปฏิรูปเรื่องอื่นแต่อย่างใด
และที่น่าสนใจมากที่สุด คือ ข้อเสนอแนะปฏิรูปเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ หลังรัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จนหลายฝ่ายมองว่าอาจสุ่มเสี่ยงเกิดเหตุรุนแรงได้ทุกเมื่อ