logo isranews

logo small 2

รวมข่าวเด่นสืบสวนอิศรา'59 'ขุดคลอง อผศ.-ระบายจีทูจี-อาหารดิบเรือนจำ-คืนภาษีฯ’

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 29 ธันวาคม 2559 เวลา 20:00 น.
เขียนโดย
isranews

รวม 6 ข่าวเด่นสืบสวน ‘สำนักข่าวอิศรา’ ประจำปี 2559 เกาะติดปมขุดคลอง อผศ. ตามต่อนโยบายรัฐต่อรัฐ พลิกปัญหา อาหารดิบ ก.ราชทัณฑ์ ตรวจสอบโครงการไฟ กทม. 39.5 ล. จัดเต็ม! ฟอกเงิน ส.คลองจั่น-วัดพระธรรมกาย ตลอดจน ข้อมูลเอกชนขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม กลุ่ม 2 พันล.

291259 invest

ในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ทำหน้าที่ปกป้องรักษาผลประโยชน์สาธารณะในฐานะสื่อมวลชน ผ่านการทำข่าวเชิงสืบสวนเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหลายโครงการ ทั้งที่ ตรวจสอบพบข้อมูลเอง และนำรายงานการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐมาขยายผลเจาะลึกข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง

นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือ 'ข่าวเด่นสืบสวน' ประจำปี 2559 ของ สำนักข่าวอิศรา ที่ได้รวบรวมนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันอีกครั้ง

1.กรณีร้องเรียนองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) ปล่อยให้เอกชนเข้ามารับจ้างช่วงขุดลอกคูคลองทั่วประเทศ โดยอ้างว่าเช่าเครื่องจักรจากเอกชนเพื่อเข้าไปทำงานขุดคลองในพื้นที่ต่าง ๆ ทว่า อผศ. ไม่ทำ แต่ให้เอกชนเข้าไปรับช่วงทำงานเอง ทั้งยังมีการหักหัวคิว และกินส่วนต่าง รวมถึง การจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้ได้งานในบางสัญญาด้วย กรณีนี้สืบเนื่องจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง กรณีสำนักอุทยานแห่งชาติ ได้ดำเนินการโครงการจัดซื้อเครื่องแบบปฏิบัติการตรวจพิทักษ์ป่า (ชุดลายพราง) A2 พร้อมอุปกรณ์สำหรับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ ประจำปี 2559 จำนวน 4 รายการ รวมจำนวน 8 พันชุด วงเงิน 49,800,000 บาท โดยใช้เงินรายได้เพื่อบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ ซึ่งปรากฏรายชื่อองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นผู้รับจ้างผลิต หลังตรวจสอบปัญหาความไม่ชอบมาพากลจำนวนมาก ส่งผลทำให้สำนักข่าวอิศรานำข้อมูลเปิดเผยอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ดี พล.อ.รณชัย มัญชุสุนทรกุล ผอ.อผศ. เคยให้สัมภาษณ์ว่า สัญญาในการขุดคลองทั่วประเทศรวมทั้งหมดมีประมาณ 1,300 สัญญา วงเงินประมาณ 4,800 ล้านบาท และหน่วยงานรัฐที่ว่าจ้างมากที่สุดคือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้วมี พล.ท.สวัสดิ์ ทัศนา รอง ผอ.อผศ. เป็นประธานฯ

(อ่านประกอบ : 'อผศ.' ผูกรับงานตั้งแต่ปี 56!กรมอุทยานฯ สั่งสอบซื้อชุดลายพรางร้อยล้าน)

2.การซื้อขายมันสำปะหลัง (มันเส้น) ในรูปแบบสัญญาซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ล่าสุดพบว่า หนึ่งในผู้สั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คให้กรมการค้าต่างประเทศ เพื่อนำมันสำปะหลังออกมาเวียนขายให้กับเอกชนภายในประเทศ มีชื่อว่า พ.ต.ท.ธนิต กรปรีชา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสารวัตรกองกำกับการ 4 กองบังคับการการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

โดยกรณีนี้สืบเนื่องจาก สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว โดยรับฟังได้ว่า ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีการทำสัญญาซื้อขายมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จำนวนรวม 7 สัญญา ปริมาณรวม 4,790,000 ตัน จำนวนเงินรวม 30,642,500,000 บาท ทั้งนี้ ป.ป.ช. เห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจไม่ได้ทำจีทูจีจริง แต่เป็นการนำมันสำปะหลังมาเวียนขายให้กับเอกชนภายในประเทศ โดยสำนวนการไต่สวนเบื้องต้นของคณะอนุกรรมการฯ ระบุว่า นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร (เสี่ยเปี๋ยง) และเครือข่ายบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ร่วมด้วย พ.ต.นพ.วีระวุฒิ และ พ.ต.ท.ธนิต รวมถึง บริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท พี เอส ซี สตาร์ซโปรดักส์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการของทั้ง 2 บริษัทดังกล่าว ได้นำมันสำปะหลังไปขายต่อบุคคลต่าง ๆ หรือกระทำการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในฐานะเป็นผู้สั่งการ ผู้ชี้ช่องและชี้นำ ผู้ติดต่อกับสถาบันการเงินให้ดำเนินการสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็ค ผู้ซื้อแคชเชียร์เช็ค เจ้าของบัญชีผู้เป็นเจ้าของเงินที่นำไปซื้อแคชเชียร์เช็ค มีเจตนาต้องการให้มีการสั่งจ่ายแคชเชียร์เช็คด้วยการระบุให้สั่งจ่ายกรมการค้าต่างประเทศ แล้วนำไปชำระตามสัญญาซื้อขายแบบจีทูจีที่ทำขึ้น เพื่อจะได้มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ ซึ่งอยู่ในความครอบครองขององค์การคลังสินค้าไปเป็นกรรมสิทธิ์

(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมซื้อมันเส้นจีทูจียุค“ปู”-“บุญทรง-วีระวุฒิ-มนัส”เอี่ยวด้วย, เปิดตัว‘สารวัตร’พันคดีมันจีทูจีเก๊ เคยช่วยราชการ‘วีระวุฒิ’-อ้างแค่คนขับรถ?)

3.การจัดซื้ออาหารดิบด้วยวิธีพิเศษสำหรับผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ กรณีนี้กลุ่มผู้ค้าอาหารดิบรายย่อยได้ร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า กรมราชทัณฑ์ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการประมูลซื้ออาหารดิบ (เป็นรายสิ่งพร้อมเครื่องปรุง) สำหรับใช้เลี้ยงผู้ต้องขัง จากเดิมใช้วิธีแบบปกติเปลี่ยนเป็นจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ โดยในหลายพื้นที่ส่อพฤติการณ์ฮั้วประมูลงาน และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาการลักลอบนำยาเสพติด และสิ่งของต้องห้ามเข้าสู่เรือนจำ ทั้งนี้ ยังตรวจสอบพบด้วยว่า เอกชนที่ได้เข้ามาเช่าช่วงบางแห่ง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับข้าราชการระดับสูงในกรมราชทัณฑ์ หรือข้าราชการในเรือนจำประจำจังหวัดนั้น ๆ ด้วย

อย่างไรก็ดี อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมถึงอดีตรองปลัดกระทรวงยุติธรรม เคยให้สัมภาษณ์ว่า การจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษดังกล่าว เพื่อความมั่นคงทางอาหารของผู้ต้องขัง เพราะหากใช้วิธีประมูลปกติ กว่าจะได้เอกชนรับงานก็เกิดความล่าช้า แต่ว่าผู้ต้องขังไม่สามารถอดอาหารรอได้ ขณะที่ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เริ่มดำเนินการตรวจสอบในกรณีดังกล่าวแล้ว หลังจากมีการร้องเรียนเรื่องดังกล่าวมานานนับปี

(อ่านประกอบ : ป.ป.ท.ขยับแล้ว!สอบปมฮั้วจัดซื้ออาหารดิบ 11 เรือนจำ-ซัด 2 อธิบดีพันวิธีกรณีพิเศษ)

4.โครงการประดับไฟกรุงเทพมหานคร (กทม.) 39.5 ล้านบาท กรณีนี้ สตง. ตรวจสอบพบว่า มีการดำเนินการฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ มีการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนผู้รับงานตั้งแต่ขั้นตอนการยื่นประกวดราคา และไม่ปฏิบัติตามแบบแผนราชการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ส่งผลเสียหายต่อการเงินการคลังของแผ่นดิน พร้อมส่งรายชื่อผู้เกี่ยวข้องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบตามขั้นตอนกฎหมาย ปรากฏชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. รวมอยู่ด้วย

ขณะที่ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 50/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม (ครั้งที่ 6) ให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ใน กทม. เป็นการชั่วคราว โดยยังไม่พ้นจากตำแหน่ง จนกว่ามีการเปลี่ยนแปลงคำสั่ง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนในระหว่างนี้ ซึ่งเป็นล็อตเดียวกันกับ นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น

(อ่านประกอบ : ‘บิ๊กตู่’ใช้ ม.44 ปลด‘สุขุมพันธุ์-ทีมรองผู้ว่าฯ กทม.ยกชุด’ ให้‘พล.ต.อ.อัศวิน’ เป็นแทน)

5.กรณี นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานยักยอกทรัพย์สินในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และพระเทพญาณมหามุนี (พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย) สมคบกันฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร โดยคดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มแรก นายศุภชัย ศรีศุภอักษร ,น.ส.ศรัณยา มานหมัด ,นางทองพิน กันล้อม อดีตเหรัญญิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ,พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และนางศศิธร โชคประสิทธิ์

กลุ่มที่ 2 คือ วัดพระธรรมกาย ,มูลนิธิรัตนคีรี ,วัดบ้านขุน ,วัดพระพุทธบาท ,วัดแม่สะนาม ,วัดสามพระยา ,สมาคมพุทธศาสตร์ล้านนา และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี

โดยท กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่า มีเส้นทางการเงินไปยังกลุ่มบุคคลเหล่านี้ และมีปลายทางถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนหลายกลุ่ม ซึ่งกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเงินปลายทาง นั้น เป็นผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้โอน หรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อซุกซ่อน หรือปกปิดแหล่งที่มาของทรัพย์สิน อาจเข้าข่ายกระทำความผิดฐานฟอกเงินได้ โดยพบความเสียหายเบื้องต้นรวมกันคือ 2,993,141,973 บาท

(อ่านประกอบ : อัยการสั่งฟ้อง‘ธัมมชโย-พวก’คดีฟอกเงิน-รับของโจร เสียหายเบื้องต้น 2.9 พันล.)

6.กลุ่มเอกชนขอเรียกคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม วงเงิน 2 พันล้านบาท กรณีนี้สืบเนื่องจาก กลุ่มเอกชนอ้างว่า ได้ส่งออกคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เชื่อมต่อเน็ทเวิร์คทุกชนิด และนำมาขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกับ กรมสรรพากร วงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท สำนักข่าวอิศราเปิดเผยข้อมูลก่อนหน้านี้แล้วว่า กลุ่มเอกชนดังกล่าวแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก มีเครือข่ายอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร จำนวน 39 บริษัท และอีกกลุ่ม อยู่ในพื้นที่เขตลาดกระบัง จำนวน 12 บริษัท (เท่าที่ตรวจสอบพบ) โดยจากการตรวจสอบพบว่า เอกชนทั้งสองกลุ่มมีความเชื่อมโยงถึงกัน โดยเรื่องดังกล่าว กรมสรรพากรได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันยังไม่มีการออกหมายจับผู้ต้องหา รวมถึง เจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าว แต่อย่างใด

ทั้งนี้ มีการนำเสนอข้อมูลแล้วว่า เครือข่ายภาษีมูลค่าเพิ่มกลุ่มนี้ มีเอกชนจำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 39 บริษัท ได้แก่ เครือข่ายบริษัท ริช เทค เทคโนโลยี จำกัด ที่มี นายฐาณุพงศ์ แสงวรพิพัฒน์ ,นายธนันท์ชัย วีริยาวัลย์ ,นายเชาวลิต ศรีวงศ์ ,นายสมชาติ อุตราช ,นายรัชเขต โรจนวิภาต ,นายสันติ รัตคาม และ น.ส.ภูริตา แซ่เตียว เป็นตัวละครหลัก โดยมี น.ส.เยาวภา กิ่งนอก ,นายไพศาล เชชเอม ,น.ส.สุพรรณิกา โปธากาศ ,น.ส.อัญชลี พรมมา ,นายฐิติวัฒน์ กังแฮ ,น.ส.รุ่งรัตน์ กาญจนประดิษฐ์ ,นายเจน ลิ้วทอง และ นายสมชาย แซ่จึงสอง เป็นพยาน และมีนางอำไพนรี ศรีดารณพ ,นายสวัสดิ์ พึ่งแก้ว ,น.ส.ศศวรรณ วราห์สิน และ น.ส.เยาวเรศ แสนไชย์ เป็นผู้สอบบัญชี

โดยผู้เกี่ยวข้องบางคนในกลุ่มข้างต้นนี้ มีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม 12 บริษัทของ น.ส.คัมภีรดา เพชรม่วง ที่ถูกกรมสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้ จำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท พลัสทู อิมพอร์ท เอ็กซ์พอร์ต จำกัด ,บริษัท ไอ ที พาร์ท จำกัด ,บริษัท ไอที ออล โซลูชั่น จำกัด ,บริษัท อาริฟอร์ม จำกัด ,บริษัท เอ็ม. วาย. ไอ. อี จำกัด ,บริษัท อินเตอร์ ดรีม ดอท คอม จำกัด ,บริษัท พาร์ตเนอร์ อิมพอร์ต เอ็กซ์พอร์ต จำกัด ,บริษัท มัลติลิ้งค์ คอนซัลท์ แอนด์ เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท พี.วาย แครี่ เซอร์วิส (2008) จำกัด อีกด้วย

อย่างไรก็ดี เบื้องต้น กรมสรรพากร ได้ระงับการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีนิติบุคคลอีกนับสิบแห่ง ในจำนวนนี้จดทะเบียนใน จ.มุกดาหาร หนองคาย และอุบลราชธานี

(อ่านประกอบ : ดีเอสไอ สาวลึกเส้นทางเงินธนาคารมัดคดีคืนภาษี2พันล.ชี้ทำผิดยาวนานหลายปี)

ทั้งหมดคือ 6 ข่าวเด่นสืบสวนที่สุดแห่งปี 2559 ที่ สำนักข่าวอิศรา รวบรวมข้อมูลมาให้ท่านผู้อ่าน ซึ่งบางกรณีก็มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไปแล้ว บางกรณีก็ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบขององค์กรอิสระ อาทิ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ต้องจับตาดูต่อไปว่า ในปี พ.ศ. 2560 นั้น จะมีข่าวชิ้นใหม่อะไรบ้างที่รอให้สำนักข่าว อิศราติดตามตรวจสอบต่อไป