logo isranews

logo small 2

แอมเนสตี้ฯ จี้ไทยสอบคดี ‘บิลลี่-พอละจี’ ถูกบังคับสูญหายนาน 1 ปี

 แอมเนสตี้ฯ แถลงครบรอบ 1 ปี ‘บิลลี่’ ตกเป็นเหยื่อบังคับสูญหาย  จี้รัฐไทยดำเนินคดีเฉียบขาด ใช้มาตรการรอบด้านตัดวงจรลอยนวลพ้นผิด ปฏิบัติตามพันธกรณีสากล สอบสวนคดีมีประสิทธิภาพ จัดให้ครอบครัวรับเยียวยาเต็มที่

 natdanai17100458

เนื่องในวันที่ 17 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบการหายไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่หายตัวไปในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ร่วมกับนางอังคณา นีละไพจิตร และศุ บุญเลี้ยง ร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึก 1 ปี บิลลี่หายไป 11 ปี ทนายสมชาย ขึ้น

ในวาระดังกล่าวแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงออกใบแถลงข่าวหัวข้อ “ครอบครัวยังรอความยุติธรรมหลังครบหนึ่งปีการหายตัวไปของ ‘บิลลี่-พอละจี’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” เพื่อกระตุ้นให้ทางการดำเนินการอย่างเฉียบขาด และใช้มาตรการอย่างรอบด้าน เพื่อยุติวงจรการลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงในกรณีนี้และกรณีอื่นๆ ในประเทศไทย มีรายละเอียด ดังนี้

หนึ่งปีหลังจากที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ‘นายพอละจี รักจงเจริญ’ หรือ บิลลี่ ซึ่งเชื่อว่าตกเป็นเหยื่อการบังคับให้สูญหายในอุทยานแห่งชาติที่ใหญ่สุดของไทย ความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมและที่อยู่ของเขายังไม่เป็นที่ปรากฏ

ในโอกาสครบรอบปีที่บิลลี่ถูกบังคับให้สูญหาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยดำเนินการอย่างเฉียบขาดเพื่อดำเนินคดีกรณีบิลลี่และใช้มาตรการอย่างรอบด้านเพื่อยุติวงจรการลอยนวลพ้นผิดในประเทศไทย เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในกรณีนี้และอื่น ๆ

เป็นที่น่ากลัวว่า ‘บิลลี่’ นักกิจกรรมเพื่อสิทธิชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อายุ 30 ปี และผู้เป็นพ่อของลูกทั้งห้าคน ได้ตกเป็นเหยื่อของการบังคับบุคคลให้สูญหายเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เนื่องจากความพยายามของเขาที่จะดำเนินคดีต่อทางการในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ

มีรายงานว่า การสอบสวนทางอาญาของตำรวจต่อกรณีการหายตัวไปของเขาเต็มไปด้วยความล่าช้า ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการแทรกแซงของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น

poster 17 April 2014 1

ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องดำเนินคดีเพียงคดีเดียวเกี่ยวกับการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ได้แก่ กรณีที่เกิดขึ้นกับทนายสมชาย นีละไพจิตร เมื่อปี 2547 แต่กระบวนการยุติธรรมหยุดชะงักไปเนื่องจากขาดพยานหลักฐาน และหนึ่งในพยานสำคัญได้สูญหายไป

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้ทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีที่จะต้องสอบสวนการบังคับบุคคลให้สูญหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับบิลลี่อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องจัดให้ครอบครัวของเขาเข้าถึงการเยียวยาอย่างเต็มที่ และให้ดำเนินคดีต่อผู้ต้องสงสัยใด ๆ ที่ต้องรับผิดชอบกับการสูญหายครั้งนี้

ทั้งนี้ ในลำดับแรกต้องให้การประกันว่าเจ้าหน้าที่สอบสวนต้องดำเนินการค้นหาบิลลี่อย่างครอบคลุม เพื่อให้ทราบถึงชะตากรรมและสถานที่อยู่ของเขาโดยตำรวจ พนักงานอัยการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องได้รับข้อมูลและความร่วมมือที่จำเป็นจากหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาคและส่วนกลาง รวมทั้งจัดการคุ้มครองแก่พยานและครอบครัวของบิลลี่ทางการควรมอบหมายให้หน่วยงานเช่นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าไปสอบสวนกรณีนี้อย่างเป็นอิสระ

ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (UN Convention Against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ประเทศไทยมีพันธกรณีต้องให้การประกันว่าจะมีการสอบสวนอย่างฉับพลันเป็นอิสระ โดยปราศจากความลำเอียงและรอบด้าน เมื่อเกิดเหตุสงสัยว่าเกิดการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้าย หรืออาจมีการสูญเสียชีวิตโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่

ทางการไทยยังควรดำเนินการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และประกันว่ากฎหมายไทยจะมีข้อบัญญัติที่ชัดเจนเพื่อเอาผิดต่อความผิดในกรณีนี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังเรียกร้องให้ทางการไทยคุ้มครองและยอมรับอย่างเป็นทางการต่อสิทธิของ นักเคลื่อนไหวในการจัดกิจกรรมอย่างสงบเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองสิทธิชุมชนของตนเอง โดยไม่ต้อง เกรงกลัวว่าจะถูกตอบโต้

ที่ผ่านมานักกิจกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมในไทยถูกคุกคามและทำร้ายมาเป็นเวลาหลายปี โดยในระหว่างปี 2557-2558 มีผู้ถูกสังหารไปแล้วสี่คน .