logo isranews

logo small 2

คำถามจากสังคมถึงหน้าที่สนช.หลังใช้สิทธิ์ปกปิดสมบัติอ้างกลัวขโมยขึ้นบ้าน?

เขียนวันที่
วันเสาร์ ที่ 04 ตุลาคม 2557 เวลา 12:49 น.
เขียนโดย
ศุภเดช ศักดิ์ดวง
หมวดหมู่

“…สิ่งที่น่าสนใจคือ ไฉนในยุคที่ยังมี ส.ส. และ ส.ว. ทำหน้าที่อยู่ พวกเขาเหล่านั้นกลับ “ยินยอม” เปิดเผย “โชว์” ทรัพย์สินให้สาธารณชนได้ยลโฉม … แต่ในยุคที่บรรดา “ขุนศึก-นักรบ” เข้ามาเป็นกำลังหลักในการบริหารประเทศ กลับกังวลใจในการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ด้วยเหตุผลเพราะกลัวถูกขโมยขึ้นบ้าน ?...”

PIC-sornorchor-4-10-57 1

ในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทั้ง 195 คน จาก 197 คน (นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ไม่ได้ยื่น) ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมานั้น

นอกเหนือไปจากบรรดาทรัพย์สินที่มหาศาลของ สนช. บางคน ที่สูงถึง 5 พันล้านบาท ขณะที่อีกหลายก็คนก็รวยอู้ฟู่กว่าหลายร้อยล้านบาทแล้วนั้น

(อ่านประกอบ : สมบัติสนช.57“อิสระ”อู้ฟู่ 5.2 พันล.- “น้องบิ๊กตู่” 79ล .“พัชรวาท” 137 ล.)

สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ สนช. จำนวนไม่น้อย ใช้วิธีการ “เบลอ” หรือ “ถมดำ” ทรัพย์สินในส่วนที่ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น ทรัพย์สินจำพวก เครื่องประดับ พระเครื่อง ของสะสม เป็นต้น หรือบางส่วนก็ระบุว่า ไม่ประสงค์จะประเมินมูลค่าทรัพย์สิน (ทั้งที่ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นบ้านจัดสรรขนาดใหญ่ ?)

แม้แต่ ประธาน สนช. ก็อ้างว่า เพื่อป้องกันโจร-ขโมย ที่ไม่หวังดีต่อทรัพย์สินเหล่านั้น กลัวจะเกิดอันตรายขึ้นกับที่บ้าน ?

(อ่านประกอบ : “พรเพชร”อ้างกลัวโจรขึ้นบ้าน ขอไม่โชว์รูปมรดก-เครื่องเพชรเมียต่อ ป.ป.ช. )

PIC-บทความ-สนช.-1

นับว่าแตกต่างกับในช่วงก่อนหน้านี้ สมัยที่ ส.ส. และ ส.ว. ยังยื่นกันอื้อซ่า มีน้อยคนจนแทบนับหัวได้เลยว่าจะใช้วิธีการปกปิดบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินดังกล่าว เนื่องจากเอาหัวเป็นประกันได้เลยว่าหากบรรดา “นักการเมือง” ทำเช่นนั้น ย่อมถูกประชาชนตั้งข้อครหาในความโปร่งใสอย่างแน่นอน

สิ่งที่สังคมพุ่งเป้าไปทันทีก็คือ วิธีการปกปิดทรัพย์สินดังกล่าว สามารถกระทำได้หรือไม่ ?

ผู้สันทัดกรณีจากสำนักงาน ป.ป.ช. ผู้คร่ำหวอดกับการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองมาแล้วหลายยุค อธิบายว่า การกระทำดังกล่าวสามารถทำได้ เนื่องจากในประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. และเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ.2554 ข้อ 4 ระบุไว้ว่า

ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. เห็นว่า การเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ และเอกสารประกอบ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือความปลอดภัยในทรัพย์สินของบุคคลหนึ่งบุคลใด หรือจะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลเกินสมควร ให้ผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เป็นผู้ปกปิดข้อมูลในรายการดังต่อไปนี้ โดยวิธีลบ ตัดทอน หรือกระทำโดยประการอื่นใด ในสำเนาคู่ฉบับของบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ และเอกสารประกอบ

1.เลขบัตรประจำตัวประชาชน 2.เลขที่บัญชีธนาคารหรือสถาบันการเงิน 3.เลขที่บัตรเครดิต 4.ภาพถ่ายทรัพย์สินอื่น อย่างไรก็ดีปกปิดข้อมูลดังกล่าวเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะพิจารณาอนุมัติ

"วิธีนี้คือให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขออนุญาตกรรมการ ป.ป.ช. แล้วเสร็จจึงส่งเอกสารมาสองชุด ชุดแรกจะเปิดเผยทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ส่วนอีกชุดคือสำเนาที่จะเปิดเผยต่อสาธารณชน ซึ่งทางเจ้าตัวสามารถเซ็นเซอร์ไว้ได้ หากกลัวด้านความปลอดภัย" ผู้สันทัดกรณีรายนี้ ระบุ

กล่าวโดยสรุปคือ สนช. ซึ่งทำหน้าที่เหมือน ส.ส. และ ส.ว. (ตามการตีความของ ป.ป.ช. ที่มีมติให้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ) สามารถ “ปกปิด” ข้อความหรือทรัพย์สินบางส่วนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับชีวิต หรือบุคคลอื่น รวมถึงการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลจนเกินไป โดยต้องขออนุญาตคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียก่อน

กรณีนี้ผู้เขียนเห็นด้วยหากมีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเกินควร หรืออาจก่อให้เกิดอันตราย ก็ควรปกปิดไว้ เช่น การปกปิดรหัสบัตรประชาชน รหัสบัตรเครดิต หรือรหัสเลขที่บัญชี แต่สำหรับบรรดาทรัพย์สินอื่น ที่ส่วนใหญ่เป็นของสะสมนั้น ไม่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ มากนัก มิฉะนั้นบ้านบรรดานักการเมืองคงโดนขโมยขโจรขึ้นกันเป็นรายวันแล้ว เนื่องจากแต่ละคนก็มีทรัพย์สินหลายสิบล้าน ถึงหลักหลายร้อยล้าน

ประการสำคัญคือ ในเมื่อมีการ เบลอ หรือ ถมดำ ภาพเช่นนี้แล้ว สังคมจะสามารถตรวจสอบได้อย่างไรว่า มูลค่าทรัพย์สินที่แจ้งไว้นั้นตรงกับราคาจริง ?

สิ่งที่น่าสนใจคือ ไฉนในยุคที่ยังมี ส.ส. และ ส.ว. ทำหน้าที่อยู่ พวกเขาเหล่านั้นกลับ “ยินยอม” เปิดเผย “โชว์” ทรัพย์สินให้สาธารณชนได้ยลโฉม ไม่ว่าใครจะมีทรัพย์สินกี่ร้อยล้านบาท หรือไม่ถึงแสนบาท ต่างได้เห็นเกือบทุกซอกทุกมุมหมดจด มีน้อยคนนักที่จะใช้วิธีการดังกล่าว (เช่น นักการเมืองซีกสีแดง อดีตอาจารย์ และคอลัมนิสต์ชื่อดัง คนหนึ่งก็ใช้วิธีนี้ โดยอ้างว่า กลัวถูกขโมยขึ้นบ้านเช่นเดียวกัน)

แต่ในยุคที่บรรดา “ขุนศึก-นักรบ” เข้ามาเป็นกำลังหลักในการบริหารประเทศ กล่าวง่าย ๆ แค่ สนช. ก็มี “ท็อปบู้ต” ปาไปกว่าค่อนสภา กลับกังวลใจในการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ด้วยเหตุผลเพราะกลัวถูกขโมยขึ้นบ้าน ?

(ภาพทรัพย์สินหนึ่งใน สนช. ที่ทำเบลอไว้)
PIC-บทความ-สนช-2

นี่ยังไม่นับกรณีก่อนหน้านี้ที่ 28 สนช. พาเหรดยื่นฟ้อง ป.ป.ช. ต่อศาลปกครอง อ้างว่า มติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ต้องการให้ สนช. เปิดเผยทรัพย์สินไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยซ้ำ ก่อนจะถูกศาลปกครอง “สั่งสอน” หน้าที่การทำงาน โดยยืนยันว่า สนช. เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องยื่นทรัพย์สิน และมีมติไม่รับคำฟ้องดังกล่าว

(อ่านประกอบ : ศาลไม่รับคำฟ้อง28 สนช.ปมยื่นทรัพย์สิน"งดอ่านคำสั่งเหตุไร้เงา"โจทก์-ทนาย" )

สาเหตุที่ต้องเขียนประการนี้ เนื่องจาก “หน้าที่” การยื่นทรัพย์สิน เป็นส่วนหนึ่งของการโชว์ “ความโปร่งใส” ในการทำหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้คัดเลือก สนช. มากับมือ พูดย้ำแล้วย้ำอีกอยู่เสมอ

ดังนั้นสิ่งต้องตั้งคำถามกลับไปคือ การกระทำดังกล่าว สามารถเป็นตัวบ่งชี้การทำหน้าที่ของ สนช. และเป็นมาตรวัดมาตรฐานความโปร่งใสการทำงานได้ใช่หรือไม่ ?

สักแค่พูดว่าใครจะใจอย่างไร หรือโปร่งใสเท่าไหร่ ไม่สลักสำคัญเท่ากับการเปิดเผยให้เห็นกัน “ชัดชัด” เท่านั้นเอง !

อ่านประกอบ : เจาะสมบัติ 28 สนช.เกรียน! ฟ้องป.ป.ช.ปมยื่นทรัพย์สิน อู้ฟู่ 4.5 พันล.