logo isranews

logo small 2

เผยโฉม! คำสั่ง หน.คณะปฏิรูปฯ ปี 2519 เทียบเคียงกรณี ‘ชลรัศมี’

เขียนวันที่
วันอังคาร ที่ 11 ตุลาคม 2559 เวลา 21:09 น.
เขียนโดย
isranews

ฉบับเต็ม!เปิดคำสั่ง หน.คณะปฏิรูปฯ ปี 2519 ห้าม ขรก.เป็น กก. บริษัท ยอมให้เอกชนอาศัยชื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยทางตรง-ทางอ้อม เทียบเคียงกรณี ‘ชลรัศมี’ เจ้าของ 2 บ. หลังโฆษก ทบ.ยันไม่มี ปย.ทับซ้อน

1110259 chonratsame 00

จากกรณีบริษัท งาทวีสุข จำกัด และบริษัท สื่อสายรุ้ง จำกัด ที่มี พ.ต.หญิง ชลรัศมี งาทวีสุข ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น เข้าไปรับงานประชาสัมพันธ์ และงานโฆษณาต่าง ๆ จากภาครัฐ ขณะที่ระเบียบกระทรวงกลาโหมเมื่อปี 2551 และคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อปี 2519 ระบุสาระสำคัญว่า ห้ามข้าราชการทหารมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ 38/2519  ห้ามข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหา เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปยอมรับให้บริษัทห้างร้านของเอกชนเหล่านั้นอาศัยชื่อของตนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทางตรงหรือทางอ้อม

ทว่า พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และโฆษกกองทัพบก ชี้แจง ว่า คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นการห้ามไม่ให้บรรดาเอกชนเอาชื่อข้าราชการทหารไปใส่เป็นกรรมการบริษัทแล้วนำไปอวดเบ่ง หรือแสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งในส่วนของ พ.ต.หญิง ชลรัศมี ที่มี บริษัท สื่อสายรุ้ง จำกัด และบริษัท งาทวีสุข จำกัด นั้น ไม่เข้าข่ายขัดคำสั่งดังกล่าว เพราะธุรกิจของ พ.ต.หญิง ชลรัศมี ได้เปิดดำเนินงานมานานแล้ว และไม่ใช่แค่รับงานในยุครัฐบาลชุดนี้ แต่รัฐบาลชุดก่อน ๆ ก็รับงานด้วยเช่นกัน (อ่านประกอบ ตกเป็นเหยื่อทางการเมือง! ทบ.แจง ‘ชลรัศมี’ รับงานรัฐ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน)

เพื่อให้เห็นสาระสำคัญในคำสั่งของ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ 38/2519 กรณีห้ามข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหา เป็นกรรมการบริษัท สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org  นำคำสั่งฉบับดังกล่าวมาเสนอ     

“คำสั่งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ 38/2519 เรื่อง การปฏิบัติตนของข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร    

เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้พิจารณาเห็นว่าปัจจุบันนี้ประเทศชาติกำลังเผชิญกับภัยที่คุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยโดยการกระทำที่เป็นการบ่อนทำลายสถาบันศาสนาสถาบันพระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในสถานการณ์เช่นนี้การปฏิบัติตนของข้าราชการฝ่ายพลเรือ ตำรวจ ทหาร ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการปฎิบัติหน้าที่เกี่ยวข้องกับประชาชนย่อมมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อถือศรัทธา และให้ความร่วมมือแก่รัฐบาลในการปกครอง และบริหารประเทศให้มีความสงบสุขและรอดพ้นจากภัยคุกคามดังกล่าว

ดังนั้น จึงให้ข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร ปฏิบัติตนดังต่อไปนี้

ข้อห้ามการปฏิบัติตนของข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร

1. ห้ามรับเลี้ยงจากพ่อค้าที่กระทำธุรกิจกับหน่วยราชการของตนหรือจากผู้ที่มาติดต่อขออนุญาต   หรือขอรับบริการจากทางราชการ หรือจากผู้ที่อาจได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ของตน

2. ห้ามแต่งเครื่องแบบหรือเครื่องแต่งกายที่แสดงให้เห็นได้ว่า เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร เข้าไปในไนท์คลับสถานอาบอบนวด สถานอบายมุข หรือสถานเริงรมย์ต่าง ๆ ยกเว้นเพื่อปฏิบัติหน้าที่ราชการ

3. ห้ามรับเชิญไปเป็นประธานหรือเจ้าภาพในพิธีเปิดบริษัทห้างร้านทางการค้าของเอกชน

4. ห้ามออกบัตรเชิญ หรือเจ้าภาพในพิธีเปิดบริษัทห้างร้านทางการค้าของเอกชน

5. ห้ามเป็นกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ หรือดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อื่นในบริษัทห้างร้านของเอกชน ซึ่งทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นการยอมให้บริษัทห้างร้านของเอกชนเหล่านั้นอาศัยชื่อของตนเพื่อแสวงหาผลประโยชน์โดยทางตรงหรือทางอ้อม

ในกรณีที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่แล้วในวันที่มีคำสั่งนี้ ให้ถอนตัวออกจากตำแหน่งดังกล่าวภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีคำสั่ง

ข้อพึงปฏิบัติของข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำรวจ ทหาร

6. ไม่ควรประพฤติตนเป็นคนฟุ่มเฟือย การจัดงานเลี้ยงหรืองานสังคมควรจัดเท่าที่จำเป็นและควรเชิญเฉพาะญาติกับผู้ใกล้ชิดเท่านั้น และควรดำรงชีพอย่างประหยัด เช่นทำสวนครัวเลี้ยงสัตว์ และใช้ของที่ผลิตในประเทศ เป็นต้น

7. ไม่พึงรับเงินของขวัญ หรือสิ่งตอบแทนราคาแพงจากผู้ใต้บังคับบัญชาหรือบุคคลที่มิใช่ญาติสนิท

8. ข้าราชการฝ่ายพลเรือ ตำรวจ ทหารชั้นผู้ใหญ่ ควรปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ข้าราชการและประชาชนทั่วไป

การปฏิบัติการตามคำสั่งนี้ ให้ปลัดกระทรวง  ปลัดทบวง  อธิบดี รวมทั้งผู้บังคับบัญชาที่ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตำแหน่งดังกล่าว  และผู้บังคับบัญชาฝ่ายทหารเป็นผู้รับผิดชอบ กับให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นคอยสอดส่องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา   และตักเตือนแนะนำผู้ใต้บังคับบัญชาอยู่เสมอ  การจงใจฝ่าฝืนข้อห้ามข้อ 1. - 5. เป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง และให้พิจารณาลงโทษอย่างเคร่งครัด

สั่ง ณ วันที่  21 ต.ค. 2519 พลเรือเอก สงัด    ชลออยู่   หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน”

นอกจากนี้ ยังมี ระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยประมวลจริยธรรม พ.ศ. 2551 ออกเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ห้ามข้าราชการกระทรวงกลาโหมมี ผลประโยชน์ทับซ้อน (ข้อ 5.5)

เมื่อเทียบเคียงกับกรณี ‘ชลรัศมี’ ก็ขอได้โปรดใช้วิจารณญาณกันเอาเอง!            

1110259 chonratsame 01

1110259 chonratsame 03     

อ่านประกอบ

ชัดๆ! เปิดระเบียบ ก.กลาโหม ห้าม ขรก.ทหาร มี'ผลประโยชน์ทับซ้อน'

ห้ามมี ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’! กฎเหล็ก ก.กลาโหม มีไว้ทำไม?