logo isranews

logo small 2

สนามรบเปลี่ยน! ผู้บริหารสื่อ เปิดตัวเลขยอดขายนสพ.ลดฮวบ 13 ปี หายไป 50%

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 24 พฤศจิกายน 2559 เวลา 20:14 น.
เขียนโดย
isranews

“ปฏิรูปสื่อ VS ความอยู่รอด” ผู้บริหารเครือมติชน ชี้ยอดขายนสพ.ลดฮวบหายไปกว่าครึ่ง ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ยันคนอ่านไม่ได้หาย แต่พฤติกรรมการอ่านเปลี่ยนไป ด้านผจก.กองทุนพัฒนาสื่อฯ  หวังสื่อมืออาชีพมีมาตรฐานสูง มีความถูกต้อง -แตกต่าง กว่าสื่อสังคมออนไลน์

dsf.jpg

วันที่ 24 พฤศจิกายน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศราฯ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดงานสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 12 ประจำปี 2559 หัวข้อ “ปฏิรูปสื่อ : ทางออกสังคมไทย?” ณ ห้อง JM 402 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

ช่วงเช้า มีเวทีการวิพากษ์ “ขบวนการปฏิรูปสื่อ” โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย รศ.มาลี บุญศิริพันธ์ นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน  นายภัทระ คำพิทักษ์ อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี  ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ  และนายจักร์กฤษ  เพิ่มพูล กรรมการควบคุมจริยธรรมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ  

รศ.มาลี  กล่าวถึงเรื่องการปฏิรูปว่า มีการพูดถึงเรื่องการปฏิรูปกันทุกปี และตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ปฏิรูปมาก็ไม่ได้ผล เพราะเรามัวแต่ไปคิดปฏิรูปเรื่องกลไกโครงสร้าง ไม่ได้ลงลึกไปที่ตัวบุคคล เช่น การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ การสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับหน้าที่สื่อว่ามีความสำคัญมากขนาดไหน ขณะที่มหาวิทยาลัยสอนภาคปฏิบัติในห้องเรียน แต่เมื่อออกไปข้างนอกก็พบว่า มีความแตกต่างกัน

"สื่อมีหน้าที่ต้องเสนอความจริงอย่างเที่ยงตรง ให้ข้อมูลเท็จจริงผ่านสื่อ แต่ที่ผ่านมาก็พบปัญหาควบคุมกันเองไม่ได้ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ใครไม่พอใจก็ลาออก กลายเป็นเสือกระดาษทำอะไรไม่ได้ ขณะที่สัดส่วนกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ยังพบว่า มีสัดส่วนของภาคประชาชนอยู่น้อยมาก หรือบางครั้งก็เป็นนักวิชาการเข้ามานั่งในสัดส่วนนี้แทนภาคประชาชน ทั้งนี้ ถ้าเราทำให้ภาคประชาชน ผู้บริโภคมีความเข้มแข็งมีพื้นที่ให้สามารถตรวจสอบสื่อได้ ก็เชื่อว่าจะช่วยตรวจสอบสื่อได้มากขึ้น เช่นเดียวกันโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ที่มีบทบาทเข้ามาช่วยตรวจสอบสื่อได้มาก อย่างไรก็ตาม เป็นห่วงเรื่องการเอากฎหมายเข้ามาใช้ เพราะกลัวว่าจะกลายเป็นการสร้างปัญหาในระยะยาว"

นายจักร์กฤษ กล่าวถึงการปฏิรูปสื่อว่า ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มีการพูดถึงเรื่องการปฏิรูป 11 ด้าน ซึ่งการปฏิรูปสื่อเป็นหนึ่งในนั้น ทั้งนี้ เพราะปรากฎการณ์ที่สร้างความรุนแรง ยิงชีปนาวุธความรุนแรงใส่กันตลอด 24 ชั่วโมงของสื่อ  แต่ก็มีคำถามว่า สื่อที่ทำให้เกิดปัญหาใช่สื่อกระแสหลักหรือไม่ ซึ่งความจริงคือ สื่อทีวีดาวเทียม สื่อกระแสรอง ไม่ใช่สื่ออาชีพ ซึ่งกรอบแนวความคิดตั้งต้นของรัฐคือต้องการจัดการกับสื่อเหล่านี้ แต่มาระบุรวมว่า ต้องการปฏิรูปสื่อทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม นายจักร์กฤษ กล่าวว่า ช่วงแรกการปฏิรูปสื่อโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งหลักดี  มีกรรมการที่เป็นสื่อมวลชน มีความรู้ด้านสื่อเข้าไปให้ความคิดความเห็น แต่เมื่อ สปช. หมดวาระ มีการตั้ง สปท.ขึ้นมาแทน ซึ่งคณะกรรมาธิการสื่อมวลชนของ สปท. ยอมรับว่าต่างจาก สปช.

"ต้องยอมรับว่า ในสปท. มีแนวคิดเรื่องใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งในโลกเสรีนี้ไม่มีใครเข้าทำหรือกำหนดให้มีใบอนุญาตฯ เช่นนี้  อีกกรณีคือพบว่า สปท. มีแนวคิดที่จะกำหนดให้มีตัวแทนภาครัฐ จำนวน 3 ตำแหน่ง เข้ามาดำรงตำแหน่งในสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งเรื่องนี้เป็นอันตรายมากสำหรับสื่อมวลชน นอกจากนี้ยังห่วงปัญหาเรื่องวิกฤตศรัทธา ทัศนคติที่มีต่อสื่อ จะทำให้เกิดการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จกับสื่อมวลชน โดยเฉพาะจะปรากฎออกมาผ่านมาตรา 44 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง จะต้องมีการต่อสู้กันเต็มที่"

นายภัทระ กล่าวว่า ทุกครั้งที่คุยเรื่องการปฏิรูปสื่อ ที่ผ่านมามักตั้งต้นจากการชี้นิ้วหาคนผิด โทษคนโน้นคนนี้ แต่สิ่งที่น่าจะเป็นข้อคิดและอาจต้องตั้งหลักดีๆ คือไม่จำเป็นต้องอาศัยกฎหมาย แต่เป็นนการตกลงกันเองของสื่อ

"สื่อมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เวลาเปลี่ยนภาษาเปลี่ยน ภาพความโกลาหล  ทุกคนแข่งขันกันทางธุรกิจ จนบางครั้งเรายังทำกันแทบไม่ทัน ดังนั้นจึงมองว่า การปฏิรูปสื่อมาถึงจุดกลายเป็นระบบที่มีชีวิตอยู่ในตัวเอง หมุนอยู่ในตัวเอง แต่พอเราไปคิดแบบเก่า ปฏิรูปสื่อมุ่งที่รัฐ เจ้าของกิจการ รวมถึงปฏิรูปตัวเราเอง ผมคิดว่าผิดหมด เพราะระบบมีชีวิตของมันเอง และถ้ารัฐคิดจะออกกฎหมายมาคุมสื่อ และยังคิดอย่างนี้ก็เรียกว่า โคตรเชย บรมเชย เพราะถ้าคุมก็คุมได้เฉพาะหนังสือพิมพ์ร้าง ทีวีร้างเท่านั้น"

นายภัทระ กล่าวถึงหลักใหญ่เกี่ยวกับเรื่องสื่อในรัฐธรรมนูญว่า เน้นการควบคุมกันเอง เพราะมองว่าระบบต่างๆ ที่มีชีวิตชีวากำลังทำหน้าที่เต็มที่ ทั้งนี้ปัญหาคือเราจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกธรรมชาติ หรือกดทับมัน

"อีกประเด็นที่คิดว่าสื่อสามารถทำได้คือสร้างระบบการจัดการกองบรรณาธิการที่ดีเพื่อสร้างเนื้อหาที่แตกต่างๆ เป็นกำแพงเหล็ก พูดคุยต่อรองกับเจ้าของกิจการ รักษาพื้นที่การทำงานของสื่อเอาไว้ ขณะที่ในแง่มหาวิทยาลัย ต้องมีการปรับตัวหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ ไม่ใช่ทุกวิชาใส่คำว่าดิจิทัลเพิ่มเข้าไปเพื่อให้ดูทันสมัย แต่ต้องสร้างหลักสูตรวิชาที่เหมาะสม นอกจากนี้การตรวจสอบจากภาคประชาชนก็มีส่วนสำคัญ"

ด้านนายชวรงค์ กล่าวถึงโจทย์ของการปฏิรูปสื่อของรัฐในยุคนี้ว่า คือต้องการปฏิรูปสื่อการเมือง ปัญหาเรื่องเทคโนโลยีการแข่งขันเป็นข้ออ้าง สับขาหลอก เพื่อออกกฎหมาย จัดการ แต่โดยส่วนตัวยืนยันมาตลอดและมีจุดยืนคือ ไม่เอากฎหมาย แต่เมื่อเข้ามาโดนกรอกหูตลอดว่า ต้องเอากฎหมาย ดังนั้นถ้าพอรับได้คือ ยอมรับร่างแรก สมัยสื่อร่วมร่างกับอาจารย์มีชัย ครั้งเป็นกฤษฎีกา เพื่อแก้ปัญหากรณีผู้ไม่เป็นสมาชิก หรือผู้ที่ลาออกไป จัดการไม่ได้ เพราะในร่างนี้จะมีคณะกรรมการทำหน้าที่ในการสอบสวนสื่อที่ไม่ได้เป็นสมาชิก ส่วนสื่อที่เป็นสมาชิกองค์กรทางวิชาชีพก็จะสอบสวนกันเอง

"การออกกฎหมายเกี่ยวกับสื่อ เป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองต้องการมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถทำได้ ขณะที่วันนี้ สปท. กำลังพยายามทำอยู่ เราจึงส่งสัญญาณไปยัง สปท.แล้วว่า ไม่เห็นด้วย ซึ่ง สปท.ก็ขอให้เราแก้ไขไปในประเด็นที่ไม่เห็นด้วย แต่พบว่า ผู้ร่างๆได้ดีมาก จนไม่มีทางแก้ไข เพราะวิธีคิดตั้งต้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากร่างของอาจารย์มีชัย ซึ่งมีฐานความคิดจากมุมมองที่ต้องการคุ้มครองส่งเสริมวิชาชีพ แต่ร่างของ สปท.ตั้งต้นที่ต้องการควบคุมกำกับดูแลสื่อ ฉะนั้นวันนี้เราจึงใช้วิธีแก้จากร่างอาจารย์มีชัย"

media241159

จากนั้นช่วงบ่ายมีการเสวนาเรื่อง “ปฏิรูปสื่อ VS ความอยู่รอด” นายฐากูร บุญปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาธุรกิจสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาธุรกิจหนังสือพิมพ์อยู่ในช่วงขาลงอย่างรุนแรง ในขณะที่สื่อออนไลน์เข้ามาแทนที่อย่างรวดเร็ว มีผลสำรวจของคณะนิเทศศาสตร์ จุฬลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อประมาณ 13 ปีที่แล้ว สำรวจจำนวนยอดขายรวมของหนังสือพิมพ์รายวันในประเทศทั้งหมดอยู่ที่ 2.2 ล้านฉบับต่อวัน แต่ตัวเลขล่าสุดเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 2559 จากการรวบรวมของเครือมติชนเอง หนังสือพิมพ์รายวันทั้งหมดในประเทศขายอยู่ที่ 1.2 ล้านฉบับ หายไปประมาณเกือบ 50 %

"ประเด็นคือคนอ่านไม่ได้หายไปกับยอดขายหนังสือพิมพ์ คนอ่านแค่เปลี่ยนที่อ่านเปลี่ยนเครื่องมือในการอ่าน ปัญหานี้ไม่ใช่เป็นปัญหาของธุรกิจหนังสือพิมพ์แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของธุรกิจหนังสือพิมพ์ทั่วโลก โดยทั้งโลกมีแค่ 2 ประเทศเท่านั้นที่มียอดขายหนังสือพิมพ์ที่มีอัตราเพิ่มขึ้น คือ จีนและอินเดีย ในประเทศสหรัฐอเมริกา อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ตำแหน่งงานลดลงร้อยละ 40 แต่คนไม่ได้อ่านข่าวน้อยลงแต่คนอ่านข่าวมากขึ้น เพียงแต่เปลี่ยนสื่อ"

นายฐากูร กล่าวอีกว่า ผู้อ่านข้อมูลในโทรศัพท์เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 เว็บไซต์ข่าวมีคนอ่านรวมกันวันละไม่ต่ำกว่า 4 ล้านครั้ง แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมคนอ่านที่เปลี่ยนไป สังคมไทยเป็นสังคมที่ชอบฟัง ชอบพูด ชอบคุย มากกว่าไปนั่งอ่านไปค้นคว้าหาข้อมูลเอง

"2-3 ปีที่ผ่านมาสนามรบเปลี่ยนไปแล้วเบอร์ 1 ของเมื่อวานอาจจะไม่ใช่เบอร์ 1 ของวันนี้ได้เปลี่ยนเร็วไปแบบนั้นจริงๆ"

ขณะที่นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง กล่าวว่า ปัจจุบันบริบทของการเปลี่ยนแปลงสื่อที่ผ่านมามีอยู่ 3 ประเด็นใหญ่ 1.เรื่องกฎหมายที่เปลี่ยนไป ทุกอย่างจึงเปลี่ยนไป ตัวพ.ร.บ.ที่เขียนขึ้นมาโดยส่วนตัวมองว่าผู้กำกับดูแลนโยบายกฎหมายไม่เข้าใจเรื่องของความเป็นอิสระของสื่อหรือเรื่องธุรกิจของสื่อ 2. พฤติกรรมของผู้ชมพฤติกรรมเปลี่ยน ไม่ใช่พฤติกรรมของผู้ชมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นพฤติกรรมของสื่อเองด้วย แต่สถาบันการศึกษายังสอนในรูปแบบเดิมๆ 3. เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก

สำหรับวิธีการบริหารสื่อทีวีในยุคสมัยใหม่ นายเขมทัตต์ กล่าวว่า อยู่ที่ 5 ปัจจัยคือ 1.นโยบายองค์กร 2. บุคคลากรในการทำงานที่มีคุณภาพในการทำงาน 3. เทคโนโลยีที่ทันสมัย 4. เนื้อหาที่แตกต่าง 5. เงินทุน หากทำได้ทั้ง 5 ข้อ ก็จะสามารถดำเนินธุรกิจทีวีได้ต่อไป

ด้านนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การปฎิรูปสื่อเพื่อความอยู่รอด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ สื่อต้องรู้ว่าบทบาทของสื่อคืออะไร บทบาทหลักของสื่อคือการให้ข้อมูลข่าวสาร ความบันเทิง เป็นตัวกลางในการทำหน้าที่ในการสื่อสารสังคม ในอดีตสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และวิทยุ มีบทบาทมีอิทธิพลสูง ถือว่า เป็นสื่อดั่งเดิมและเป็นสื่อหลัก ประชาชนโดยทั่วไปพึ่งพาในเรื่องข้อมูลข่าวสาร หากประชาชนอยากรู้ข่าวก็ต้องรออ่านหนังสือพิมพ์ แต่อาจต้องใช้เวลานานในการที่จะสามารถเสพสื่อได้

"แต่ในวันนี้ภูมิทัศน์สื่อนั้นเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทำให้กระบวนการสื่อสารของคนในสังคมนั้นเปลี่ยนไปเทคโนโลยีเปลี่ยน พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยน ในวันนี้สื่อใหม่ได้เข้ามาในชีวิตประจำวันเรียกได้ว่า เข้ามาเกือบทุกลมหายใจ เพราะสื่อสังคมออนไลน์ทรงพลังมากและรวดเร็วมาก ข่าวสารข้อมูลในทุกวันนี้มีปริมาณมหาศาล และไม่ใช่แค่สื่อมืออาชีพที่เป็นคนทำหน้าที่ เพราะใครๆก็สามารถเป็นสื่อได้  ทุกคนสามารถส่งข้อมูลข่าวสารได้ทุกช่องทางและในทุกวันนี้คนเสพสื่อบ่อยขึ้นแทบจะทุกเวลา"

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ความศักดิ์สิทธิ์ในเรื่องของการทำหน้าที่สื่อลดลง ทุกคนสามารถผลิตสื่อเองได้ แต่สื่อมืออาชีพก็ต้องมีมาตรฐานที่สูงกว่าทำให้คนเห็นว่า ถ้าความถูกต้องในข้อมูลต้องดูที่สื่อนี้ ต้องแตกต่างถ้าไม่แตกต่างคนก็จะหันไปรับข้อมูลข่าวสารอื่น

ส่วนดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งคำถาม สื่อเป็นเครื่องมือของรัฐบาล หรือเครื่องมือของคนที่มีเงิน หรือเป็นเครื่องมือของสังคม ถ้าเราตอบว่า สื่อเป็นเครื่องมือของสังคมต้องก็หาทางให้สื่อเป็นอิสระจากรัฐบาล จากกลุ่มนายทุน เราก็ต้องมีการประกันเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่ก็ต้องยอมรับหากมีเสรีภาพอย่างเดียวแต่ไม่มีกรอบอะไรเลย ก็จะมีคนจำนวนหนึ่งที่ใช้เสรีภาพมากจนเกินไปและไปทำร้ายคนอื่น ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมโดยรวม จึงจำเป้นต้องกรอบอะไรบางอย่าง ตรงนี้จะให้ใครมาคุม ถ้าให้รัฐบาลมาคุมก็จะกลับไปสู่แบบเดิม ถ้าเกิดว่า รัฐบาลมาคุมสื่อมวลชนได้ก็แปลว่า ประชาชนจะได้ฟังหรืออ่านอะไรเฉพาะ หรือได้เห็นอะไรเฉพาะในสิ่งที่รัฐบาลอยากให้เห็น และถ้ารัฐบาลไม่อยากให้เห็นก็จะไม่ได้เห็น สื่อจะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาล ไม่ได้เป็นเครื่องมือของสังคมอีกต่อไป

"ใครคุมอำนาจรัฐได้ก็จะคุมประชาชนได้หมด สภาพปัญหานี้ก็เคยเกิดมาแล้วในอดีตจะเป็นรัฐบาลเผด็จการหรือรัฐบาลที่มีเงินมากหรือเป็นนายทุนที่มาควบคุมสื่อก็กลายเป็นคุมประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลหรือนายทุนก็แย่ทั้งคู่ ถ้าเกิดนายทุนไปเป็นรัฐบาลก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก" ดร.ปริญญา กล่าว และถามว่า ใครจะคุมสื่อ อันที่หนึ่งต้องคุมกันเอง อันที่สองประชาชนต้องคุมสื่อ อันที่สองค่อนข้างยาก เพราะประชาชนเองก็เป็นผู้รับสื่อ แต่อย่างไรก็จะต้องไม่ใช่รัฐบาลที่ควบคุมสื่อ

พร้อมกันนี้ ดร.ปริญญา ยืนยันว่า สื่อมวลชนจะให้รัฐบาลเข้ามาควบคุมไม่ได้ และสื่อต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการทำหน้าที่ สื่อคือตัวกลางเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องจริงที่เกิดขึ้นสู่ประชาชนในสังคม