หนึ่งในข้อถกเถียงสำคัญต่อ “รายงาน คอป.ฉบับสมบูรณ์” หนา 276 หน้า (ไม่รวมภาคผนวก) นอกจากยอมรับการมีอยู่จริงของ “ชายชุดดำ” ที่มีความเชื่อมโยงกับ “เสธ.แดง” พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล (กระทั่งบุตรสาว น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย บุตรสาวของ เสธ.แดง ต้องตอบโต้ด้วยถ้อยคำแรงๆ ว่า “คอป.นั่งเทียน..เขียนด้วยเท้า!”)
ก็ได้แก่ กรณี "การเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลดฺ์" ซึ่งอยู่ติดสี่แยกราชประสงค์ สถานที่ชุมนุมสุดท้ายของ นปช.ก่อนยุติการชุมนุม ในวันที่ 19 พ.ค.2553
เพราะผู้ชุมนุม นปช.บางส่วนรวมถึงแนวร่วม ต่างเชื่อฝังหัวว่า ห้างหรูดังกล่าวถูกทหารเผาเพื่อโยนความผิดให้กับผู้ชุมนุม หวังเพิ่มความชอบธรรมในการสลายการชุมนุม
อย่างไรก็ตาม ในรายงานของ คอป.หัวข้อ “2.3.13 การเผาสถานที่ในกรุงเทพมหานคร” ที่สรุปว่า ระหว่าง นปช.ชุมนุม 12 มี.ค.-19 พ.ค.2553 มีอาคารต่างๆ ในกทม.ได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ 37 แห่ง แบ่งเป็นสถานีราชการหรือรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง และสถานประกอบธุรกิจเอกชนที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ 19 แห่ง
(อ่าน รายงานคอป. ฉบับสมบูรณ์ (กรกฎาคม ๒๕๕๓ – กรกฎาคม ๒๕๕๕)จากสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org)
ได้เขียนถึงการมอดไหม้ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ไว้ดังนี้
“2.3.13.3 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้นหลังเวลา 14.00 น. [1] โดยก่อนเกิดเหตุเวลาประมาณ 13.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดา คลุมศีรษะ ประมาณ 20 คน บุกเข้าไปในอาคารด้านประตูห้างสรรพสินค้าเซ็นด้านถนนพระรามที่ 1 [2] พร้อมกับถังดับเพลิง โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้ามไม่ให้เข้า ผู้ชุมนุมจึงถอยออกไป และกลับเข้ามาอีกครั้งเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. โดยผู้ชุมนุมประมาณ 20 คน พร้อมหนังสติ๊ก ระเบิดขวดและระเบิดปิงปอง เริ่มจุดไฟเผาและโยนถังแก๊สเข้าไปประมาณ 10 ถัง [3] จากนั้นเกิดเสียงดังคล้ายระเบิดหลายครั้งเมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. เจ้าหน้าที่ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์จำนวน 8 คนได้รับบาดเจ็บจากระเบิดซึ่งเกิดจากระเบิดขว้างสังหารซึ่งเป็นอาวุธสงคราม โดยเจ้าหน้าที่รายหนึ่งกล่าวว่าคนขว้างสวมใส่เสื้อผ้าสีดำและสวมหมวกไหมพรมปิดหน้า [4] หลังจากนั้นไฟจึงลุกไหม้อย่างต่อเนื่องมาจากด้านห้างสรรพสินค้าเซ็น และลามมาที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ จนเมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าไปควบคุมเพลิงไว้ได้
หลังห้างเซ็นทรัลเวิลด์ถูกเผาได้ 2วัน เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจก็เข้าไปตรวจสอบอาคาร ก่อนพบผู้เสียชีวิต 1 ราย คือ นายกิตติพงษ์ สมสุข อยู่ในร้านโทรศัพท์มือถือโซนี่ อีริคสัน ชั้น 4 โซนซี ของอาคาร สาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากสาลักควันและขาดอากาศหายใจ
รายงานของ คอป.ได้ลำดับเหตุการณ์ต่อไปว่า
2.3.13.5 ปรากฏภาพบุคคลจำนวนหนึ่งอยู่ภายในอาคาร โดยเชื่อว่าเป็นผู้ชุมนุม บางคนได้รับบาดเจ็บ และในภาพชุดเดียวกันปรากฏภาพพนักงานและพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างอยู่ด้วย โดยเชื่อว่าเป็นภาพที่ถ่ายในช่วงบ่ายถึงเย็นของวันที่ 19 พฤษภาคม
2.3.13.6 เจ้าหน้าหน้าที่ทหารได้รับคำสั่งให้คุ้มครองหน่วยดับเพลิงเมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. แต่ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้เนื่องจากต้องผ่านบริเวณที่ยังมีการปะทะกันและมีสิ่งกีดขวางบนถนน
1) กรณีเพลิงไหม้ที่โรงหนังสยาม หน่วยดับเพลิงเข้ามาถึงสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สยาม แต่ไม่สามารถเข้าไปในจุดที่เพลิงลุกไหม้ เนื่องจากมีการต่อต้านด้วยปืนสงครามจากคนชุดดำ จึงถอนกำลังกลับไปที่สนามกีฬาแห่งชาติ และสามารถเข้าไปควบคุมเพลิงได้ในช่วงเย็นแต่เพลิงได้ลุกไหม้ไปมากแล้ว
2) กรณีเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หน่วยดับเพลิงไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้เนื่องจากความไม่ปลอดภัยและมีสิ่งกีดขวาง เมื่อได้ประสานไปทางผู้บริหารระดับสูงของกรุงเทพมหานคร จึงได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจซึ่งได้แนะนำให้เข้าไปทางด้านหลังห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน จึงสามารถเข้าไปได้เมื่อเวลาประมาณ 21.10 น.
3) หน่วยดับเพลิงซึ่งอยู่บริเวณเพลินจิตและในสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่สามารถเข้าไปควบคุมเพลิงได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่รายงานว่าพื้นที่ยังไม่มีความปลอดภัยและในเวลา 21.10 น. เจ้าหน้าที่จึงสามารถเข้าไปได้
4) ช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. รถดับเพลิงจำนวน 16 คันเข้าควบคุมเพลิงที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สามารถควบคุมเพลิงได้ในเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม
ทั้งนี้มีการอ้างอิงปราศรัยของ “แกนนำ นปช.” บางคน
2.3.13.7 พบว่าทั้งช่วงก่อนและระหว่างการชุมนุมมีการปราศรัยจากแกนนำ นปช. บางคน ปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมทำการเผาอาคารสถานที่หลายครั้ง เช่น
- “ถ้าพวกคุณยึดอำนาจ พวกผมเผาทั่วประเทศ เผาไปเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง แล้วใครจะจับใครจะอะไรมาเอากับผม ถ้าคุณยึดอำนาจ เผา” และ “ใครอยู่ใกล้ตรงไหนก็ตกใจตรงนั้น เช่นอยู่ใกล้เซ็นทรัลเวิลก็ตกใจเซ็นทรัลเวิล ใกล้เกษรก็ตกใจเกษร ใกล้พารากอนก็ตกใจพารากอน ถ้าทหารหลายหมื่นคนเข้ามา คนหลายหมื่นคนเป็นแสนต่างคนต่างวิ่ง ต่างคนต่างตกใจ ชนข้าวของในห้างเขาระเนระนาดไปหมด...แล้วคนเสื้อแดงตกใจวิ่งชนของแพงเท่านั้นนะครับ” [5]
- “พี่น้องนัดกันคราวหน้า ถ้ารู้ว่า เขาจะปราบปราม ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก มาด้วยกัน ขวดแก้วคนละใบ มาเติมน้ำมันเอาข้างหน้า บรรจุให้ได้ 75 ซีซี ถึง 1 ลิตร ถ้าเรามาหนึ่งล้านคนในกรุงเทพมหานคร มีน้ามันหนึ่งล้านลิตร รับรองว่า กทม.เป็นทะเลเพลิงอย่างแน่นอน" [6]
- “นึกว่ายุทธวิธีแบบนี้จะทาให้พี่น้องแตกฉานซ่านเซ็นกลับบ้าน ไอ้เรื่องแตกกลับบ้าน เป็นไปได้ แต่จะบอกให้รู้ไว้ว่า ไฟจะลุกท่วมทั่วตารางนิ้วของประเทศไทย” [7]
- “ขอให้เสื้อแดงซึ่งอยู่ต่างจังหวัด ฟังภารกิจดังต่อไปนี้ ให้ไปรวมตัวกันอยู่ที่ศาลากลาง รอเวลาให้มีการปราบเมื่อไหร่ ตัดสินใจได้ทันที ทุกจังหวัดให้ไปศาลากลาง ฟังสัญญาณจากที่นี่ จอมืดเมื่อไหร่แสดงว่ามีการปราบแล้ว พี่น้องมีดุลพินิจจัดการได้ทันที ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ก็เช่นเดียวกัน ไม่ต้องไปกลัวอะไรกับประชาชนเลย เพราะประชาชนที่เขามาชุมนุม ถ้าเขาคิดไม่ดีกับห้างพวกคุณนี่ คุณปิดห้างคุณก็ฉิบหาย ถ้าคนคิดจะทำชั่วกับพวกคุณ แต่เรามาดี ไม่มีปัญหาอะไรเลย” [8]
คอป.ประมวลข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับมา ก่อนออกมาเป็น “5 ข้อสังเกต” ต่อการเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์รวมถึงสถานที่ต่างๆ
1) ต่อข้อสังเกตที่ว่าเจ้าหน้าที่ทหารเผาหรือไม่นั้น ไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ทหารเป็นผู้กระทำหรือเกี่ยวข้อง โดยพบว่ามีการพยายามวางเพลิงและไฟเริ่มไหม้อาคารเซ็นทรัลเวิลด์ช่วงเวลาหลัง 14.00 น. ไม่นานหลังแกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุม ซึ่งยังมีผู้ชุมนุมอยู่ในบริเวณแยกราชประสงค์ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยไม่มีการห้ามปรามหรือขัดขวางจากกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด โดยเกิดขึ้นก่อนที่เจ้าหน้าที่ทหารหน่วยแรกจะสามารถเคลื่อนจากแยกเพลินจิตเข้าไปถึงแยกราชประสงค์ได้ในเวลาประมาณ 15.00 น. แต่ได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังกลับทันทีเนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้ในเวลาหลัง 21.00 น.
2) ต่อข้อสังเกตที่ว่าการเผาสถานที่ต่างๆ เป็นการวางแผนโดย นปช. หรือไม่ พบว่าผู้เกี่ยวข้องบางส่วนมีการเตรียมอุปกรณ์วางเพลิงและมีการวางเพลิงอย่างมีการจัดตั้ง เช่น การเผาศาลากลางขอนแก่นมีกลุ่มบุคคลคลุมหน้าเข้าไปเผาศาลากลาง แต่ไม่พบหลักฐานว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับแกนนำ นปช. การวางเพลิงบริเวณปากซอยงามดูพลี น่าจะเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการของคนชุดดำ การวางเพลิงศาลากลางและสถานที่ในต่างจังหวัดเช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี มุกดาหาร และเชียงใหม่ น่าจะเกิดจากการยุยงโดยสถานีวิทยุชุมชนบางแห่ง
3) ต่อข้อสังเกตที่ว่าการเผาสถานที่ต่างๆ เกิดจากภาวะจลาจลอันเป็นผลจากการปลุกเร้าในการปราศรัยระหว่างการชุมนุมอันยาวนานและความไม่พอใจที่แกนนายุติการชุมนุมหรือไม่นั้น พบว่าสภาพการปลุกเร้าดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนพร้อมที่จะก่อความรุนแรง ด้วยการเข้าไปเผาหรือร่วมเผาอาคารสถานที่ต่างๆ ดังนั้นเมื่อมีผู้ชุมนุมหรือบางคนพยายามวางเพลิงจะโดยเตรียมการมาหรือไม่ก็ตาม จึงมีผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นเข้าร่วมปฏิบัติการด้วย เชื่อว่าสภาพดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานการณ์การวางเพลิงลุกลามและรุนแรงยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามพบว่า ในจุดเกิดเหตุบางแห่ง มีผู้ชุมนุมหรือชาวชุมชนบางส่วนเช่น บริเวณบ่อนไก่ได้พยายามห้ามปรามและช่วยกันดับเพลิง แต่ถูกขัดขวางโดยผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งและบางกรณีมีการขัดขวางโดยคนชุดดำที่ยิงปืนเข้าใส่ชาวชุมชนที่พยายามดับเพลิงเช่นกรณีเพลิงไหม้ที่ปากซอยงามดูพลี ตรงข้ามชุมชนบ่อนไก่ เป็นต้น
4) พบศพผู้เสียชีวิตในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ 1 ราย เสียชีวิตจากการสำลักควัน 1 รายที่จังหวัดขอนแก่น เสียชีวิตจากการถูกยิงขณะที่พยายามบุกเข้าไปในบ้านของอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายหนึ่งซึ่งน่าจะถูกหน่วยรักษาความปลอดภัยยิง และ 2 รายที่จังหวัดอุดรธานี เสียชีวิตจากถูกยิงในบริเวณศาลากลางซึ่งกำลังเกิดเพลิงไหม้ โดยมีทิศทางการยิงมาจากบริเวณที่มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการอยู่ [9]
5) พบว่ามีผู้ถือโอกาสเข้าไปฉกฉวยทรัพย์สินในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์และอาคารร้านค้าอื่นๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ และห้างเซ็นเตอร์วัน เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่มักเกิดขึ้นเมื่อมีภาวะจลาจล
-เชิงอรรถ
[1] ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล เจ้าหน้าที่จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2554
[2] เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและผู้แทนห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เข้าให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2554
[3] หน่วยรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เข้าให้ข้อมูลเมื่อวันที่เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554
[4] เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารเซ็นทรัลเวิลด์ สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555
[5] ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 27 มกราคม และ 8 เมษายน 2553
[6] อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง 29 มกราคม 2553
[7] วีระ มุสิกพงษ์ 21 มีนาคม 2553
[8] จตุพร พรหมพันธุ์ 3 เมษายน 2553
[9] รายงานคณะอนุกรรมการเพื่อดาเนินการตรวจสอบคณะที่ 5 เหตุการณ์ในจังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี หน้า 26